การเตรียมความพร้อมเพื่อ เลี้ยงกระต่ายในบ้าน

กระต่ายเป็นสัตว์เลี้ยงทางเลือกที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันผู้เพาะพันธุ์กระต่ายก็ได้พัฒนาสายพันธุ์กระต่ายให้หลากหลายมากขึ้น ความน่ารักของสัตว์เลี้ยงหูยาวชนิดนี้ จึงทำให้หลาย ๆ ท่านอยาก เลี้ยงกระต่ายในบ้าน

วันนี้ บ้านและสวน Pets ขอแนะนำขั้นตอนการเตรียมตัวเพื่อ เลี้ยงกระต่ายในบ้าน ค่ะ

เลี้ยงกระต่ายในบ้านต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

1. เลือกพื้นที่ที่เหมาะสม

พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับกระต่าย ควรเป็นพื้นที่ที่เงียบสงบภายในบ้าน และมีสภาพแวดล้อมโดยรอบที่ดูสงบ ไม่มีคนเดินผ่านพลุกพล่าน และไม่มีเสียงดังรบกวนจากถนน หรือสัตว์เลี้ยงนอกบ้าน และเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยจากสัตว์ผู้ล่า เช่น สุนัข แมว และตัวเงินตัวทอง

การเลี้ยงกระต่ายในบ้าน ต้องคำนึงถึงอุณหภูมิที่เหมาะสมด้วยค่ะ โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับกระต่ายอยู่ระหว่าง 18 ถึง 25 องศาเซลเซียส หรือไม่เกิน 29 องศาเซลเซียส กระต่ายเป็นสัตว์ไวต่อความร้อนค่ะ ถ้ามีความร้อนสะสมบริเวณรอบ ๆ กรงเป็นเวลานาน อาจะทำใหกระต่ายเกิดภาวะช็อกได้ค่ะ

เนื่องจากเมืองไทยเป็นประเทศที่มีอุณหภูมิค่อนข้างสูงตลอดปี การเลี้ยงกระต่ายในบ้านจึงต้องวางกรงกระต่ายให้ห่างจากแสงแดด หรือหลีกเลี่ยงแสงแดดส่องกระทบที่กรงโดยตรง และกรงควรอยู่ในพื้นที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อช่วยเรื่องการระบายความร้อนค่ะ

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่ได้หมายความว่าเป็นที่ที่เป็นทางผ่านของลมโดยตรงนะคะ เนื่องจาก ถ้าน้องกระต่ายอยู่ในจุดที่ลมพัดผ่านเป็นประจำ อาจทำให้กระต่ายเกิดปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจได้ค่ะ

2. เลือกกรงให้เหมาะสม

กรงกระต่ายที่เหมาะสมสามารถพิจารณาได้จากขนาดตัวของกระต่าย โดยกรงที่เหมาะสมต้องมีขนาดความสูงให้กระต่ายสามารถยืนด้วยสองขาหลังได้โดยที่หัวไม่ชนกับซี่กรงด้านบน และมีขนาดความกว้างและยาวให้กระต่ายสามารถกระโดด หรือเดินกลับตัวได้อย่างสะดวก

กรงกระต่ายควรผลิตจากโลหะที่มีความทนต่อการกัด และไม่เคลือบสี เพื่อป้องกันกระต่ายแทะทำลายกรง ภายในกรงควรมีอาหาร และกระบอกน้ำ รวมถึงไปวัสดุปูรองที่ไม่มีฝุ่น และพื้นกรงควรมีลักษณะราบเรียบ ไม่เป็นซี่กรง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บบริเวณอุ้งเท้าของกระต่าย นอกจากนี้ ภายในกรงควรมีพื้นที่สำหรับการซ่อนตัวของกระต่ายด้วย และมีผ้านุ่ม ๆ สำหรับเป็นพื้นที่พักผ่อนนอนหลับ

โดยอุปกรณ์ทั้งหมดที่อยู่ในกรงกระต่าย ควรเป็นอุปกรณ์ที่ทนต่อการกัดของกระต่าย หรือไม่เป็นอันตรายเมื่อกระต่ายกัดกินเข้าไป เช่น ชามโหละไม่เคลือบสี หรือบ้านกระต่ายที่ทำมากจาหญ้าแห้ง หรือพืชที่เป็นมิตรต่อกระต่าย

เลี้ยงกระต่ายในบ้าน, การเลี้ยงกระต่าย

3. สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

การเลี้ยงกระต่ายไม่จำเป็นต้องขังกรงตลอดเวลา พวกเขาต้องการพื้นที่ที่เพื่อวิ่งเล่นนอกกรงวันละประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง ดังนั้น เจ้าของควรจัดเวลาสำหรับเรื่องการเปิดกรงให้กระต่ายได้ออกมาวิ่งเล่นนอกกรงด้วยนะคะ

โดยช่วงเวลาที่น้องกระต่ายอยู่นอกกรง เจ้าของควรเฝ้าสังเกตพวกเขาตลอดเวลา เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้กระต่ายไปกัดแทะข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน ที่อาจนำไปสู่ความเสียหาย และเกิดอันตรายกับกระต่ายได้ รวมไปถึงป้องกันไม่ให้กระต่ายกระโดดหนีออกไปนอกบ้านด้วยค่ะ

เจ้าของควรจัดหาของเล่นที่ปลอดภัยสำหรับกระต่าย เพื่อกระตุ้นความสนุกเพลิดเพลินของกระต่าย รวมไปถึงของเล่นที่ช่วยเรื่องการสึกกร่อนของฟัน เช่น ของเล่นที่ทำมาจากไม้ ตะกร้าหวายที่ไม่เคลือบสีและสารเคมี นอกจากนี้ กระต่ายยังชอบสิ่งของที่เคลื่อนไหวได้ อย่างลูกบอลหญ้าแห้ง เป็นต้น

เลี้ยงกระต่ายในบ้าน, การเลี้ยงกระต่าย

4. ฝึกให้กระต่ายขับถ่ายในที่ที่เหมาะสม

กระต่ายสามารถใช้กระบะทรายได้ โดยวัสดุที่ใช้สำหรับกระบะขับถ่ายไม่ใช่วัสดุชนิดเดียวกับทรายแมว แต่ควรเป็นวัสดุที่ทำจากธรรมชาติ และไม่จับตัวเป็นก้อนเมื่อสัมผัสกับน้ำ เช่น ฟาง หญ้าแห้ง หรือขี้เลื่อยอัดแท่ง

โดยเจ้าของสามารถนำมูลของกระต่ายใส่ในกระบะขับถ่าย เพื่อให้กระต่ายเรียนรู้ว่า จุดนี้คือพื้นที่ขับถ่าย และไม่ขับถ่ายในบริเวณอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม กระต่ายเป็นสัตว์ที่มักจะขับถ่ายขณะกินอาหาร ดังนั้น อาจมีบ้างที่กระต่ายจะขับถ่ายนอกพื้นที่ที่เรากำหนด และเป็นความรับผิดชอบของเจ้าของ ที่จะต้องเปลี่ยนวัสดุปูรอง และทำความสะอาดกรงกระต่ายให้สะอาดอยู่เสมอ

เลี้ยงกระต่ายในบ้าน, การเลี้ยงกระต่าย

5. เตรียมอาหารที่เหมาะสม

อาหารหลักของกระต่าย คือ หญ้าแห้ง เช่น หญ้าอัลฟาฟา และหญ้าธิโมที ซึ่งเป็นอาหารที่ต้องมีติดกรงไว้ตลอดเวลา ส่วนอาหารเม็ดควรให้กระต่ายในปริมาณที่เหมาะสมกับน้ำหนักตัวเพียงวันละครั้ง

กระต่ายสามารถกินผลไม้ และผักสดบางชนิดได้ แต่ไม่ควรให้เป็นอาหารหลัก หรือให้ในปริมาณที่มากเกินไป ควรให้เป็นอาหารว่าง หรือของกินเล่นสำหรับกระต่ายเท่านั้น และทุกครั้งก่อนจะให้กระต่ายกินผลไม้และผักสด ควรล้างให้สะอาดทุกครั้ง

กระต่ายต้องการน้ำดื่มที่สะอาดตลอดเวลา เจ้าของจึงควรเตรียมกระบอกสะอาดติดกรงไว้เสมอ และคอยตรวจสอบกระบอกน้ำไม่ให้ชำรุดเสียหาย ไม่มีน้ำรั่วจากกระบอกน้ำเข้าไปในกรง เนื่องจาก ถ้าภายในกรงมีความชื้นมากเกินไป อาจส่งผลให้กระต่ายไม่สบายได้

เลี้ยงกระต่ายในบ้าน, การเลี้ยงกระต่าย

6. ไปพบสัตวแพทย์อย่างเหมาะสม

เมื่อรับน้องกระต่ายมาวันแรก ก่อนเข้าบ้าน ควรนัดหมายสัตวแพทย์เฉพาะทางสำหรับสัตว์เลี้ยงทางเลือก เพื่อตรวจสุขภาพของกระต่าย เพื่อรับคำแนะนำเรื่องการดูแลกระต่ายอย่างถูกต้อง

โดยสัตวแพทย์จะแนะนำเรื่องปริมาณอาหารที่เหมาะสมกับน้ำหนักตัว การให้วิตามินเสริม หรือการให้ยากำจัดปรสิต ในกรณีที่จำเป็น รวมถึงประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรค ที่เจ้าของอาจไม่ทันได้สังเกต และเมื่อรับกระต่ายมาเลี้ยงแล้ว ควรพาพวกเขาไปพบสัตวแพทย์เป็นประจำทุกปี

ท่าทางการอุ้มกระต่ายที่ถูกต้องตามคำแนะนำของสัตวแพทย์

ขั้นตอนทั้งหมดที่แนะนำมาข้างต้น เป็นข้อมูลสำหรับการนำไปประเมินความพร้อมก่อนรับกระต่ายเข้ามาเลี้ยงในบ้าน ทั้งหมดก็เพื่อสวัสดิภาพที่ดีของกระต่าย และเป็นการทำความเข้าใจธรรมชาติของพวกเขา เพื่อให้เราได้ดูแลเขาอย่างถูกต้อง และกระต่ายน้อยก็จะแข็งแรง อยู่เป็นความสุขของเราอย่างยาวนานตามอายุขัยของพวกเขาค่ะ

ข้อมูลอ้างอิง

House Rabbit Society – Rabbit’s New Home

Vet Care Pet Hospital – Beginner’s Guide to Pet Rabbit Care

PDSA – Keeping indoor rabbits


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – กระต่ายกินผักอะไรได้บ้าง และไม่ควรกินอะไร