เจ้าของสัตว์หลาย ๆ ท่านอาจเคยมีประสบการณ์สัตว์เลี้ยงมีค่าเลือดที่แสดงค่าการทำงานของไตสูงกว่าปกติ หรือ แม้แต่มีสัตว์เลี้ยงป่วยเป็นโรคไต จะพอทราบว่าสัตว์ป่วยโรคไตจะมีค่าครีเอตินิน (creatinine) จากการตรวจเลือดสูงกว่าค่าปกติ คือ มากกว่า 1.4 ในสุนัข และ มากกว่า1.6 ในแมว (อ้างอิงจากโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน) แต่ทราบหรือไม่ครับว่าแท้จริงแล้วเราสามารถรู้ได้ว่าไตเริ่มมีการทำงานผิดปกติได้จาก การตรวจปัสสาวะ ก่อนที่ค่าเลือดที่แสดงถึงการทำงานของไตจะสูงขึ้นเสียอีก
เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น บ้านและสวน Pets ขออธิบายดังนี้ครับ สัตว์เลี้ยงที่มีสุขภาพแข็งแรงเปรียบได้กับมีระดับการทำงานของไต 100% หากไตเกิดความเสื่อมและเหลือการทำงานเพียง 33% เราจะสามารถพบความผิดปกติได้จาก การตรวจปัสสาวะ โดยสัตวแพทย์มักเรียกภาวะดังกล่าวนี้ว่า “ภาวะไตทำงานบกพร่อง” ซึ่งถือเป็นความผิดปกติระยะเริ่มต้นของภาวะไตวาย และหากไตเหลือการทำงานน้อยกว่า 25% เราถึงสามารถพบความผิดปกติได้จากการตรวจเลือดและเรียกภาวะดังกล่าวนี้ว่า “ภาวะไตวาย” ครับ เห็นไหมครับว่ากรณีที่ต้องการตรวจคัดกรองภาวะโรคไตในสัตว์เลี้ยงนั้น เราสามารถตรวจพบความผิดปกติจากปัสสาวะได้ก่อน เมื่อการตรวจปัสสาวะสำคัญขนาดนี้แล้ว เรามาทำความรู้จักกับการตรวจปัสสาวะในสัตว์เลี้ยงกันเถอะครับ
น้ำปัสสาวะเกิดขึ้นได้อย่างไร และน้ำปัสสาวะปกติควรมีลักษณะอย่างไร
ระบบขับถ่ายปัสสาวะ ประกอบด้วยไตและกระเพาะปัสสาวะ ไตทั้งสองข้างจะทำหน้าที่ร่วมกันในการกรองของเสียออกจากเลือด การผลิตปัสสาวะเริ่มจากน้ำเลือดในระบบไหลเวียนโลหิตไหลผ่านไตและถูกกรองผ่านหน่วยไตเป็นน้ำปัสสาวะ โดยมีการดูดซับน้ำ ไอออน และสารอื่นๆ ที่ยังมีประโยชน์ต่อร่างกายกลับเข้าสู่กระแสเลือด ส่วนสารและไอออนต่างๆที่มีปริมาณมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการจะถูกขับออกนอกร่างกายในรูปของปัสสาวะเพื่อช่วยปรับสมดุลความเป็นกรด-ด่างของร่างกายใน 1 วัน ร่างกายของสัตว์เลี้ยงจะผลิตปัสสาวะประมาณ 24-48 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กก. คิดง่ายๆแบบนี้ครับ สุนัขที่มีน้ำหนัก 10 กก.ในหนึ่งวันจะมีปัสสาวะปริมาณ 240-480 มิลลิลิตร. ซึ่งหากเราวัดปริมาณปัสสาวะได้มากกว่าปริมาณปกติเกือบ 2 เท่า หรือปัสสาวะมากผิดปกติ ก็อาจเป็นอาการบ่งชี้ได้ถึงหลายโรคเลยทีเดียว การตรวจปัสสาวะจึงถือเป็นการตรวจพื้นฐานทางห้องปฏิบัติการที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการตรวจเลือด อีกทั้งขั้นตอนการตรวจยังสามารถทำได้ง่ายอีกด้วยครับ
การเก็บปัสสาวะเพื่อส่งตรวจ
วิธีการเก็บปัสสาวะที่ดี จะต้องสอดคล้องกับความต้องการในการวิเคราะห์ปัสสาวะ ผลการวิเคราะห์ปัสสาวะจึงจะมีความถูกต้องและน่าเชื่อถือ ปัจจัยที่ส่งผลให้ผลตรวจปัสสาวะไม่แม่นยำมีหลายปัจจัย เช่น การดื่มน้ำปริมาณมากก่อนเก็บปัสสาวะ การทานยาบางประเภท เช่น ยาลดอักเสบกลุ่มสเตียรอยด์ (glucocorticoid) ยาขับปัสสาวะ (diuretic) เป็นต้น โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดของการเก็บปัสสาวะทั้งในสุนัขและแมวมาตรวจนั้นขึ้นอยู่กับโรคที่ต้องการวินิจฉัย เช่น หากสงสัยว่าสัตว์เลี้ยงมีภาวะโรคไตหรือไม่ ควรเก็บปัสสาวะช่วงเช้า หรือตอนที่สัตว์ยังไม่ได้ดื่มน้ำเพื่อวิเคราะห์ว่า หากสัตว์เลี้ยงของเราไม่ได้ดื่มน้ำตลอดทั้งคืนและอยู่ในภาวะที่ร่างกายขาดน้ำ (dehydration) สัตว์เลี้ยงของเราจะมีปัสสาวะที่เข้มข้นหรือไม่ หรือให้ลองนึกภาพตามแบบนี้ครับว่า ถ้าตัวเราไม่ได้ดื่มน้ำเลยตลอดทั้งวันและเมื่อเราปัสสาวะในตอนเย็น น้ำปัสสาวะของเราจะมีปริมาณน้อย ดูเข้มข้นรวมถึงมีสีเข้มกว่าปกติ ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกในเบื้องต้นว่าการทำงานของไตมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่หากเรามีภาวะไตทำงานบกพร่อง น้ำปัสสาวะของเราจะสีใสและดูเจือจางครับ ส่วนในสัตว์เลี้ยงนั้นการเก็บปัสสาวะสามารถทำได้ทั้งหมด 3 วิธีครับ ได้แก่
1.การรองเก็บปัสสาวะ (midstream voided sample) การเก็บปัสสาวะด้วยวิธีนี้สามารถทำได้ทั้งเจ้าของสัตว์และสัตวแพทย์ โดยการใช้ภาชนะที่สะอาดรองเก็บน้ำปัสสาวะโดยตรง ซึ่งมักเป็นกระปุกเก็บปัสสาวะที่ได้รับมาครับ การเก็บปัสสาวะวิธีนี้จะว่าง่ายก็ง่ายจะว่ายากก็ยากครับ เพราะสัตว์เลี้ยงหลายๆตัวมักไม่ยอมปัสสาวะหรือปัสสาวะด้วยท่าทางที่แปลกไปเมื่อมีใครมายืนใกล้ๆครับ สำหรับสัตว์เลี้ยงที่ไม่เขินอายเราสามารถนำกระปุกเก็บปัสสาวะรองเก็บในขณะที่กำลังปัสสาวะได้ทันที โดยแนะนำให้เก็บน้ำปัสสาวะในช่วงกลางของการปัสสาวะมากกว่าน้ำปัสสาวะในช่วงต้น เพื่อลดการได้น้ำปัสสาวะที่มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียและเซลล์ต่างๆที่ลอกหลุดจากผิวอวัยวะเพศ และผิวหนังโดยรอบ ซึ่งจะทำให้การวิเคราะห์ผลมีความแม่นยำมากขึ้นครับ หากกรณีที่สัตว์เลี้ยงไม่ชอบให้เรามายืนใกล้ๆหรือเดินหนีขณะที่เราจะเข้าไปรองเก็บปัสสาวะ ลองใช้ไม้ยาวต่อกับช้อนหรือกระบวยที่สะอาดยื่นเข้าไปรองเก็บน้ำปัสสาวะก็อาจทำให้เราได้ตัวอย่างปัสสาวะง่ายขึ้นครับ
2.การสวนเก็บปัสสาวะ (catheterization) เป็นวิธีเก็บปัสสาวะที่ลดการปนเปื้อนได้ดีกว่าวิธีรองเก็บ แต่เนื่องจากวิธีการนี้ต้องใช้อุปกรณ์หลายชนิดรวมถึงความชำนาญและการทำให้ปลอดเชื้อในขณะสวนเก็บปัสสาวะ จึงเป็นวิธีที่ต้องดำเนินการโดยสัตวแพทย์ในสถานพยาบาลสัตว์ครับ
3.การเจาะเก็บปัสสาวะผ่านทางหน้าท้อง (cystocentesis) วิธีการนี้ทำได้โดยใช้เข็มฉีดยาเจาะเก็บปัสสาวะจากกระเพาะปัสสาวะผ่านหน้าท้องครับ ชื่อและวิธีการอาจฟังดูน่ากลัว แต่การเก็บปัสสาวะโดยวิธีนี้ถือว่าเป็นวิธีการที่ได้มาตรฐาน อีกทั้งยังใช้เวลาทำหัตถการต่อตัวสัตว์เลี้ยงไม่นาน ทำให้สัตวแพทย์มักใช้วิธีการเจาะเก็บปัสสาวะผ่านหน้าท้องเพื่อตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะครับ ซึ่งปัสสาวะที่ได้จากการเจาะเก็บนั้นจะต้องใส่ในภาชนะปลอดเชื้อ แล้วทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการณ์ภายใน 60 นาที
การตรวจปัสสาวะนั้นจะแสดงผล 3 ส่วน
ได้แก่ คุณสมบัติทางกายภาพ (physical properties) คุณสมบัติทางเคมี (chemical properties) และส่วนของตะกอนปัสสาวะ (urine sediment) ซึ่งในบทความนี้ผมจะพูดเฉพาะส่วนคุณสมบัติทางกายภาพเพียงอย่างเดียวครับ เนื่องจากเป็นความผิดปกติที่เราสามารถสังเกตได้นั่นเอง เมื่อพูดถึงลักษณะทางกายภาพที่เรารู้จักกันดี จะได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส แต่ในกรณีนี้เราคงไม่ถึงกับต้องรู้รสชาติของปัสสาวะนะครับ และตัวผมเองก็ยังไม่มีประสบการณ์ด้านนี้ครับ ดังนั้นเราจะตัดเรื่องรสชาติไปและมาดูในส่วนที่เราสามารถสังเกตได้กันครับ
1.สีของปัสสาวะ ปัสสาวะปกติจะไม่มีสีจนถึงมีสีเหลืองอำพัน (amber) โดยขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของเม็ดสี (urochrom และ urobilin) ในน้ำปัสสาวะ ปัสสาวะของสัตว์ป่วยที่มีภาวะโรคไตมักจะไม่มีสีแม้สัตว์ป่วยจะดื่มน้ำน้อยหรืออยู่ในภาวะขาดน้ำก็ตาม ซึ่งจะแตกต่างกับสัตว์เลี้ยงปกติที่จะมีปัสสาวะสีเหลืองเข้ม นอกจากนี้ปัสสาวะที่มีสีแดง (red) แดงน้ำตาล (red-brown) อาจเกิดจากภาวะการมีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ โดยมักมีสาเหตุมาจากโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคนิ่ว เป็นต้น ส่วนปัสสาวะสีน้ำตาล (brown) อาจเกิดจากมีสารฮีโมโกลบินในปัสสาวะ ขณะที่ปัสสาวะสีน้ำนม (milky white) อาจเกิดได้จากการมีเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะ ซึ่งมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ
2.ความขุ่นของปัสสาวะ ปัสสาวะปกติของสุนัขและแมวจะใส (clear) ปัสสาวะขุ่นอาจเป็นผลจากการเกิดตะกอนในปัสสาวะ การมีผลึกคริสตัล การมีเม็ดเลือดขาวหรือปัสสาวะเป็นหนอง เป็นต้น ซึ่งความขุ่นจะแสดงความผิดปกติแบบไม่จำเพาะต่อโรคครับ
3.กลิ่น ปัสสาวะปกติมักมีกลิ่นคล้ายแอมโมเนียอ่อนๆ หากเจ้าของสัตว์เลี้ยงได้กลิ่นผิดปกติจากปัสสาวะ เช่น กลิ่นของ acetone หรือกลิ่นของแอมโมเนียที่ฉุนมากแบบที่สามารถจะปลุกเราให้รู้สึกตัวจากการเป็นลม อาจหมายถึงการติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะนะครับ
4.ความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะ (urine specific gravity; USG) เป็นการเทียบน้ำหนักของสารละลายต่อน้ำหนัก ของน้ำกลั่น ในสุนัขปกตินั้นควรมีค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะระหว่าง 1.001-1.075 โดยควรมีค่ามากกว่า 1.030 ขึ้นไป ขณะที่ปัสสาวะของแมวปกตินั้นสามารถมีค่าความถ่วงจำเพาะได้ระหว่าง 1.001-1.085 และควรมีค่ามากกว่า 1.035 ขึ้นไป การวิเคราะห์หน้าที่ของไตโดยใช้การตรวจปัสสาวะนั้นควรเข้าใจพื้นฐานว่า ไตของสุนัขและแมวปกติมีความสามารถในการทำให้ปัสสาวะเข้มข้นมากขึ้นหรือทำให้ปัสสาวะเจือจางลงได้ และควรแปลผลควบคู่กับผลการตรวจร่างกายและค่าชีวเคมีจากการตรวจเลือด
ในสุนัขและแมวที่ไตทำงานผิดปกติทั้งจากสาเหตุที่จำนวนหน่วยไต (nephron) เหลือน้อยกว่า 33% หรือมีปัจจัยที่ขัดขวางการทำงานของไต เช่น การได้รับยาขับปัสสาวะ รวมถึงภาวะที่สัตว์ป่วยเป็นโรคเบาหวานซึ่งจะพบน้ำตาลในปัสสาวะ (glucosuria) เป็นต้น พบว่าสัตว์ป่วยเหล่านี้จะมีค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะต่างไปจากค่าปกติ สัตว์กลุ่มนี้เมื่อมีภาวะขาดน้ำ จะมีปัสสาวะจางแบบไม่เหมาะสม (inappropriately dilute urine) โดยพบค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะน้อยกว่า 1.030 ในสุนัขหรือน้อยกว่า 1.035 ในแมวครับ
ข้อดีของการตรวจปัสสาวะ
1.ขั้นตอนการเก็บสามารถทำได้ง่ายและค่าใช้จ่ายถูก ย้ำอีกครั้งนะครับว่า ถูก ไม่มีผลข้างเคียง ไม่เจ็บตัวหรือเจ็บตัวน้อยมากอีกด้วย
2.การตรวจปัสสาวะไม่ใช่เพียงแค่ประเมินความผิดปกติในระบบทางเดินปัสสาวะเท่านั้น แต่ผลยังสามารถใช้ประเมินความผิดปกติของโรคอื่นๆ ได้ด้วย เช่น โรคเบาหวาน (diabetic mellitus) โรคตับ (Liver disease) เป็นต้น
3.สามารถนำผลการตรวจปัสสาวะที่มีการตรวจเป็นซีรี่ย์ (ไม่ใช่ซีรี่ย์เกาหลีนะครับ แต่เป็นการตรวจปัสสาวะหลายครั้งตามช่วงเวลา) เช่น ทุกๆ 1 เดือนหรือทุก 2 เดือน มาใช้ประเมินการดำเนินไปของโรคหรือการลุกลามของโรคที่เราเฝ้าติดตามได้ และในทางกลับกันก็สามารถประเมินผลการรักษา อาการที่ตอบสนองต่อการรักษาหรือการหายของโรคได้เช่นกัน
4.บ่อยครั้งที่เราสามารถพบความผิดปกติของโรคที่สงสัยจากการผลการตรวจปัสสาวะก่อนที่ผลการตรวจเลือดจะแสดงความเปลี่ยนแปลงให้เห็น
5.การตรวจปัสสาวะพร้อมกับการตรวจเลือด สามารถใช้วินิจฉัยโรคอื่นๆ นอกเหนือจากโรคไตได้แม่นยำมากขึ้น เช่น โรคเบาหวาน โรคภูมิคุ้มกันทำลายเม็ดเลือดแดง (immune mediated hemolytic anemia) เป็นต้น
ท้ายที่สุดนี้ผมขอฝากถึงเจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกท่านที่มีโอกาสได้อ่านบทความนี้ว่า เจ้าของสัตว์เลี้ยงสามารถช่วยดูแลและมอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับสัตว์เลี้ยงของเราได้ โดยหมั่นสังเกตความผิดปกติของปัสสาวะที่สัตว์เลี้ยงของท่านขับถ่ายในทุกๆวัน ไม่ว่าจะเป็น ปัสสาวะมีเลือดปน ปัสสาวะมีกลิ่นฉุนมากกว่าปกติ ปัสสาวะขุ่น ปัสสาวะขัดและปริมาณน้อย ปริมาณมากผิดปกติหรือแม้แต่ปัสสาวะบ่อยครั้ง หากพบความผิดปกติดังกล่าวตั้งแต่ระยะเริ่มต้นและได้รับการตรวจวินิจฉัยเสียแต่เนิ่นๆ จะสามารถเพิ่มโอกาสการหายจากความผิดปกติหรือชะลอการลุกลามของโรคได้ครับ และอย่าลืมว่าการตรวจปัสสาวะนั้นมีประโยชน์มากเพียงไร ดังนั้นขอฝากการตรวจปัสสาวะควบคู่กับการตรวจเลือดเช็คสุขภาพประจำปีของสัตว์เลี้ยงของเราด้วยนะครับ
บทความโดย
น.สพ.โอสธี เดชกัลยา อว.สพ. อายุรศาสตร์
Osathee Detkalaya, DVM, DTBVM
หน่วยโรคไตและทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
Nephrology and Urology Clinic, Kasetsart Veterinary Teaching Hospital, Bangkhen