จริงหรือไม่? เลือกกระบะทรายแมวไม่ดี น้องเหมียวจะเกิดความเครียด ส่งผลให้เป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้เลย
“เรื่องของการขับถ่ายนับเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งสำหรับน้องแมว น้องแมวเป็นสัตว์รักสะอาด ไม่ชอบใช้อะไรร่วมกับใคร เค้าชอบ กระบะทรายแมว ที่เป็นส่วนตัว และถูกวางอยู่ในตำแหน่งเดิม กรณีที่มีแมวหลายตัวควรมีการวางกระบะทรายแมวให้ห่างกัน และเรื่องที่สำคัญห้ามมองข้ามคือ ถ้าเราเลี้ยงแมวหลายตัว กระบะทรายสำหรับขับถ่าย ควรมีจำนวนเท่ากับจำนวนแมวที่เลี้ยง + 1 เสมอ เช่น เลี้ยงแมว 3 ตัว ก็ควรมีกระบะทรายแมว 4 กระบะ เป็นต้น เนื่องจากในการเลี้ยงแมวกลุ่มนึง ในกลุ่มย่อมต้องมีตัวด้อยเสมอ ตัวด้อยของกลุ่มจะโดนตัวเด่นข่ม และแกล้งไม่ให้ใช้ห้องน้ำ ส่งผลให้เกิดความเครียด และกระเพาะปัสสาวะอักเสบตามมาได้ ซึ่งอาการก็คือ ปัสสาวะไม่ออก หรือ ปัสสาวะเป็นเลือด นั่นเอง นอกจากนี้ ยิ่งถ้าแมวของเราอายุมากขึ้น อาจจะมีปัญหาเรื่องข้อเสื่อม ทำให้เจ็บสะโพก ขอบของกระบะทรายแมวไม่ควรจะสูงเกินไป เพราะจะทำให้แมวปีนเข้าไปขับถ่ายลำบาก และทำให้กลั้นปัสสาวะ และเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบตามมาได้ในที่สุดค่ะ ” – สพ.ญ. ฐิตา เตโชฬาร DVM, MS คลินิกระบบขับถ่ายปัสสาวะ คลินิกหัวใจ และคลินิกเบาหวาน โรงพยาบาลสัตว์เล็กจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
เมื่อคุณหมอบอกมาอย่างนี้แล้ว การเลือกและการใช้กระบะทรายแมวจึงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญกับสุขภาพของน้องแมวจริง ๆ ถ้าอย่างนั้นเรามาดูวิธีการเลือกและรูปแบบของกระบะทรายแมวกันดีกว่าค่ะ
เลือกกระบะทรายยังไง ให้น้องแมวขับถ่ายสะดวก
เริ่มจาก ขนาดตัวของน้องแมวและขนาดของกระบะทรายแมวนั้น เหมาะสมกันหรือไม่ วิธีการดูว่า กระบะทรายแมวนั้นมีขนาดที่เหมาะสมหรือไม่ คือ น้องแมวสามารถที่จะหมุนตัวเองได้รอบเมื่อยืนอยู่ในกระบะทรายแมวหรือสามารถขุดได้เล็กน้อยนั่นล่ะถือเป็นอันว่าใช้ได้ เพราะธรรมชาติของน้องแมวเมื่อเค้าถ่ายของเสียเสร็จเค้ามักที่จะชอบฝังกลบของเสียของเค้า เพื่อไม่ให้ใครเห็นของเสียของเค้า ซึ่งเป็นสัญชาติญาณตามธรรมชาติในการป้องกันตัว
รูปแบบของกระบะทรายแมว
โดยทั่วไป จะมี 2 แบบ คือกระบะทรายแบบเปิด และกระบะทรายแบบปิด แน่นอนว่าแต่ละแบบก็ย่อมมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการใช้งาน
1.แบบเปิดโล่งอากาศโปร่ง
เป็นลักษณะของกระบะทรายหน้าตาธรรมดาที่เราพบเห็นได้ทั่วไป เป็นเหมือนกะละมังซักผ้า มีตั้งแต่ราคาหลักสิบถึงหลักพัน ขึ้นอยู่กับดีไซน์และฟังก์ชั่นที่ออกแบบมาล่อเงินในกระเป๋าทาสอย่างพวกเรา ซึ่งกระบะทรายแบบเปิด นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ถ้าไม่อะไรมากกับการดูแลพวกเขา ก็ใช้เป็นกะละมังบ้าน ๆ เลือกซื้อมาให้ก้นลึกสักหน่อย เทียบกับตัวน้องเพื่อป้องกันไม่ให้เวลาน้องกลบทรายแล้วกระเด็นออกมา
ข้อดี ของกระบะทรายแมวแบบเปิดคือ ราคาไม่สูงมากนัก แต่ชนิดที่ออกแบบมาให้สวยๆ ก็มี บางรุ่นจะออกแบบให้มีตะแกรงดักฝุ่นก่อนแมวจะเดินออกจากกระบะด้วยนะ ความเปิดโล่งทำให้อากาศถ่ายเท เจ้าเหมียวสบายใจกับการใช้งานกระบะทราย เหมือนจำลองการทำธุระส่วนตัวตามพื้นดินตามสนามหญ้า ตามสัญชาตญาณถ้าจะให้บอกก็คือ เจ้าเหมียวจะชอบกระบะทรายแบบเปิดมากกว่า เพราะว่าดูสะดวก เข้าออกง่าย และไม่ต้องมานั่งดมกลิ่นของเสียของตัวเองอีกด้วย
ข้อเสีย ของกระบะทรายแมวแบบเปิดคือไม่สามารถควบคุมกลิ่นได้ ดังนั้นจึงไม่เหมาะอย่างยิ่งกับการใช้งานภายในห้องที่ปิด ไม่มีอากาศถ่ายเท แถมทรายแมวยังฟุ้งกระจายได้ง่าย ถ้าน้องแมวกลบทรายไม่มิด ทาสอย่างเราก็เตรียมตัวรับสภาพกลิ่นอันไม่พึงประสงค์กันได้เลย
2.กระบะทรายแมวแบบปิดหรือแบบโดม หรือเรียกกันว่าห้องน้ำแมว
มีให้เลือกเยอะแยะมากมาย จะเลือกแบบมีประตูเข้าออก ให้เจ้าเหมียวมุดเข้าออกได้ บางชนิดมีฟิลเตอร์เอาไว้คอยดูดกลิ่น มีแผ่นรองสำหรับกรองทรายตอนแมวเดินออกจากห้องน้ำไม่ให้ออกไปเปรอะเปื้อนด้านนอกอีกด้วย
ข้อดี คือเหมาะสำหรับคนที่อยากเลี้ยงแมว แต่อาศัยในพื้นที่ปิด เช่นอาศัยอยู่คอนโด ห้องพักเล็กๆ พื้นที่จำกัด อากาศไม่ถ่ายเท หรือมีพื้นที่น้อย กระบะทรายแมวแบบปิดจะลดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ให้ลดลงได้ และหมดกังวลกับเรื่องทรายแมวฟุ้งกระจาย ทำให้บ้านสะอาดไม่รก เลือกรูปทรงได้หลากหลาย กลายเป็นของตกแต่งบ้านไปในตัวก็ยังได้
ข้อเสีย คือราคาของห้องน้ำแมวแบบนี้จะมีราคาสูงหลายร้อยบาทไปจนถึงหลายพันบาท ไฮเทคมากๆก็หลักหมื่นก็มีนะ แม้จะเก็บฝุ่นผงและกลิ่นได้ดี แต่ก็อย่าลืมนะคะว่ากลิ่นเหล่านั้นจะไม่ไปไหน เมื่อทาสอย่างเราเปิดทำความสะอาดก็แทบจะมึนกับกลิ่นอันรุนแรงได้ 5555 และอย่างที่บอกข้างต้นว่าส่วนใหญ่น้องแมวจะชอบกระบะทรายแมวแบบเปิดโล่งมากกว่า แมวที่ขี้กลัวจะไม่ค่อยกล้าเข้าไป ดังนั้นอาจต้องใช้เวลาฝึกฝนสักหน่อย เมื่อคุ้นชินแล้วก็จะรักความเป็นส่วนตัวแบบนี้ได้
สุดท้ายนี้ ไม่ว่าจะเป็นกระบะทรายแมวแบบไหนก็ตาม สิ่งที่สำคัญคือก็ต้องพยายามฝึกฝนให้น้องแมวขับถ่าย และคุ้นชินกับการใช้งานจนกลายเป็นนิสัย เพื่อให้น้องของเรานั้นมีความสุข มีสุขอนามัยที่ดี และเราเองก็จะมีความสุขไปพร้อมกับน้องด้วย
เรื่อง : ลีฬภัทร กสานติกุล