การควบคุมจำนวนประชากรสัตว์เลี้ยงเป็นสิ่งสำคัญและเป็นหน้าที่รับผิดชอบของเจ้าของสัตว์ การทำหมันสุนัขและแมว โดยการผ่าตัด เป็นวิธีที่สัตวแพทย์แนะนำ เนื่องจากเป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพถาวร ซึ่งนับว่าเป็นการผ่าตัดพื้นฐานในคลินิกและโรงพยาบาลสัตว์เล็กในปัจจุบัน
วิธี การทำหมันสุนัขและแมว โดยการผ่าตัด ที่เหมาะสมสำหรับเพศเมีย คือการตัดรังไข่และปีกมดลูกออกทั้งสองข้าง (ovariohysterectomy) และในสัตว์เพศผู้ คือการตัดอัณฑะออกทั้งสองข้าง (castration) ซึ่งก่อนการผ่าตัดทำหมันจำเป็นที่สัตว์จะต้องได้รับการตรวจร่างกาย และเจาะเลือดตรวจ เช่น จำนวนเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด ค่าตับ ค่าไต เป็นต้น เพื่อให้แน่ใจว่าสัตว์มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงเพียงพอที่จะวางยาสลบและผ่าตัดโดยมีความเสี่ยงน้อยที่สุด
โดยทั่วไป ปัญหาแทรกซ้อนระหว่างการผ่าตัดหรือภายหลังการผ่าตัด จากการทำหมันที่ถูกต้องตามมาตราฐานวิชาชีพสัตวแพทย์ พบได้น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดอื่น และส่วนใหญ่ไม่ใช่ปัญหาที่เป็นอันตรายถึงชีวิต อาการที่อาจพบได้เช่น การอักเสบของแผลผ่าตัด เลือดซึมออกจากแผลผ่าตัดในระยะแรก สัตว์อาจทานอาหารลดลง 1 หรือ 2 วัน และในบางกรณีมีความจำเป็นต้องให้ยาระงับปวดหลังผ่าตัด มีรายงานการเกิดปัญหาแทรกซ้อนหลังผ่าตัดในสุนัขร้อยละ 6.1 และร้อยละ 2.6 ในแมว ซึ่งปัญหาแทรกซ้อนร้อยละ 90 มาจากการผ่าตัดทำหมันเพศเมียมากกว่าเพศผู้ การทำหมันนอกจากจะเป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังมีผลดีต่อสุขภาพสัตว์ในด้านอื่นอีก เช่น ลดอุบัติการณ์ของเนื้องอกเต้านมในสุนัขและแมวเพศเมียอย่างชัดเจน โดยลดลงถึงเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ หากทำหมันก่อนที่สัตว์จะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์หรือมีอาการเป็นสัดครั้งแรก การทำหมันยังช่วยลดปัญหาต่อมลูกหมากโตในสุนัขเพศผู้ รวมถึงแก้ไขพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของสัตว์เลี้ยงบางอย่างได้ เช่น ในสุนัขและแมวเพศผู้ การทำหมันสามารถลดพฤติกรรมหนีเที่ยวนอกบ้าน ความก้าวร้าวระหว่างเพศผู้ด้วยกัน และปัสสาวะไม่เป็นที่ (urine spraying) ลงได้
ปัจจุบันมีการศึกษาถึงผลดีและผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการผ่าตัดทำหมันเพิ่มขึ้น การรับทราบข้อมูลที่ครบถ้วนและทันสมัยนำไปประกอบการพิจารณาตัดสินใจทำหมัน จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตสัตว์เลี้ยงที่ดีต่อไปในอนาคต อุบัติการณ์ของโรคหรือปัญหาที่อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงภายหลังการทำหมันนั้น มาจากการศึกษาในกลุ่มประชากรสัตว์จำนวนมากและเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้รับการทำหมันและกลุ่มที่ไม่ได้รับการทำหมัน ซึ่งบางการศึกษามีการควบคุมปัจจัยอื่น เช่น เปรียบเทียบในกลุ่มอายุเดียวกัน (age–matched control) ระยะเวลาหลังทำหมันใกล้กัน หรือมีน้ำหนักตัวใกล้เคียงกัน ขนาดตัวเท่า ๆ กัน เป็นต้น เพื่อให้ผลการศึกษามีความน่าเชื่อถือมากที่สุด แต่หลายงานวิจัยก็ไม่สามารถควบคุมปัจจัยเหล่านี้ได้ การวิเคราะห์ผลของผู้อ่านจึงต้องมองให้รอบด้านก่อนด่วนสรุปว่าควรหรือไม่ควรทำหมัน
ถึงแม้ว่าอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคบางโรค อาจเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติภายหลังการทำหมัน แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ ในความเป็นจริงอุบัติการณ์ของโรคดังกล่าวอาจน้อยมาก เช่น น้อยกว่า 0.5 เปอร์เซ็นต์ และถึงแม้การทำหมันสุนัขและแมวจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคบางชนิดซึ่งจะกล่าวต่อไป แต่ก็ไม่ควรเป็นข้อกำหนดในการพิจารณาไม่ผ่าตัดทำหมัน เนื่องจากผลดีด้านอื่นของการทำหมัน โดยเฉพาะในแง่ของการคุมกำเนิดและการควบคุมประชากรสุนัขและแมวมีความสำคัญอย่างมากในประเทศไทย เพราะสุนัขและแมวสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ตามสภาพการเลี้ยงดู คือ
- สัตว์เลี้ยงในบ้านหรือในบริเวณปิด (family pet) ซึ่งเจ้าของให้การดูแลอย่างใกล้ชิด พาไปหาหมอ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำ มีการจำกัดบริเวณเลี้ยงชัดเจน การจะทำหมันหรือไม่ขึ้นกับการตัดสินใจของเจ้าของ ข้อดีข้อเสียของการทำหมันจะนำใช้ประกอบการพิจารณาร่วมกับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น สายพันธุ์ เพศ สภาพการเลี้ยงดู โรคประจำตัว ว่าจำเป็นต้องทำหมันหรือไม่เป็นกรณีไป ตามคำแนะนำจากสัตวแพทย์
- กลุ่มสุนัขและแมวจรจัด ไม่มีเจ้าของ หรือกึ่งมีเจ้าของ ควรได้รับการทำหมันทุกตัวเพื่อลดจำนวนประชากรลง เนื่องจากไม่มีคนดูแลใกล้ชิด ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้เป็นประจำ การเพิ่มจำนวนอย่างมากจะก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม การกำจัดมูลสัตว์ และปัญหาด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะโรคสัตว์สู่คนที่สำคัญ คือ โรคพิษสุนัขบ้า
การผ่าตัดทำหมันโดยการตัดรังไข่หรืออัณฑะออก เป็นการกำจัดแหล่งผลิตฮอร์โมนเพศที่สำคัญ ส่งผลต่อความสมดุลของฮอร์โมน (hormonal homeostasis) ในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าฮอร์โมนเพศ เช่น เอสโตรเจน เทสโทสเตอโรน และ โกนาโดโทรปิน เป็นต้น ไม่ได้มีผลต่อการทำงานของระบบสืบพันธุ์เท่านั้น แต่ยังมีผลต่อระบบอื่นของร่างกายอีกด้วย แม้ว่าผลต่อสุขภาพสัตว์ภายหลังการทำหมันจะไม่สามารถเห็นได้เด่นชัดในระยะเวลาอันสั้นและอุบัติการณ์ของโรคมีไม่สูงนัก แต่หลายการศึกษาซึ่งทำการเก็บข้อมูลย้อนหลังเป็นจำนวนมากได้รายงานถึงผลดังกล่าวภายหลังการทำหมันทั้งผลดีและผลเสียในระยะยาว
1.ระบบสืบพันธุ์
- เนื้องอกเต้านม
เนื้องอกหรือมะเร็งเต้านม เป็นปัญหาที่สำคัญในสุนัขและแมวเพศเมียที่ยังไม่ทำหมัน พบได้ ร้อยละ 3.4 ในสุนัข และ 2.5 ในแมว ประมาณร้อยละ 50 ของสุนัขที่เป็นโรคจะพัฒนาไปเป็นเนื้องอกชนิดรุนแรง และเช่นเดียวกับแมวที่จะเป็นเนื้องอกชนิดรุนแรงมากกว่าร้อยละ 90 นอกจากอายุที่มากขึ้นและพันธุ์สุนัขจะเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคแล้ว การทำหมันหรือไม่ทำหมันก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ โดยการทำหมันสามารถลดอุบัติการณ์ของโรคได้ถึง 7 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับสุนัขและแมวเพศเมียที่ไม่ได้ทำหมัน แต่ผลดีดังกล่าวขึ้นกับอายุของสัตว์ขณะที่ทำหมันด้วย การทำหมันก่อนแสดงอาการเป็นสัดครั้งแรกหรือก่อนเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ จะลดความเสี่ยง (relative risk) ของการเกิดเนื้องอกเต้านมได้ถึงร้อยละ 99.5 ในสุนัข และร้อยละ 91 ในแมว แต่หากทำหมันภายหลังสุนัขแสดงอาการเป็นสัดไปแล้ว 1 หรือ 2 ครั้ง จะลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ร้อยละ 92 และ 74 ตามลำดับ
- ความผิดปกติของรังไข่ มดลูกและคอมดลูก
การเกิดเนื้องอกของรังไข่ มดลูก และคอมดลูก พบได้น้อยกว่าร้อยละ 1 ซึ่งนับว่าพบได้น้อยมากในสุนัขและแมวเมื่อเปรียบเทียบกับคน ถึงแม้อุบัติการณ์ของถุงน้ำรังไข่หรือถุงน้ำในมดลูกของสุนัขจะพบได้ถึงร้อยละ 6.7 และ 5 ตามลำดับ แต่ก็ไม่เป็นอันตรายรุนแรงถึงชีวิต และการผ่าตัดยังให้ผลเป็นที่น่าพอใจ ภาวะมดลูกอักเสบเป็นหนอง (pyometra) พบได้บ่อยในสุนัขมากกว่าแมวและมักพบในสุนัขที่ยังไม่เคยตั้งท้อง อุบัติการณ์ของโรคสูงถึงร้อยละ 15-20 ในสุนัขช่วงอายุระหว่าง 4-10 ปี สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อภายในมดลูกร่วมกับอิทธิพลของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนหลังไข่ตก การฉีดยาคุมกำเนิดมากเกินไป ถี่เกินไป ฉีดผิดระยะ เช่น ฉีดในช่วงที่สุนัขหรือแมวติดสัด จะมีโอกาสเกิดมดลูกอักเสบเป็นหนองได้มาก อัตราการตายจากภาวะมดลูกอักเสบเป็นหนองอาจสูงได้ถึงร้อยละ 17 ในสุนัข และ 8 ในแมวหากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที การรักษาทำได้โดยการผ่าตัดรังไข่และมดลูกที่เป็นหนองออก การผ่าตัดทำหมันจึงเป็นวิธีที่ให้ผลดีในการป้องกันการเกิด pyometra ทั้งในสุนัขและแมว
- ความผิดปกติของอัณฑะและต่อมลูกหมาก
เนื้องอกอัณฑะพบน้อยมากในแมว ในสุนัขพบประมาณร้อยละ 20 โดยเฉพาะสุนัขอายุมากกว่า 10 ปี และสุนัขจัดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่พบอุบัติการณ์ของเนื้องอกอัณฑะสูงที่สุด แต่อย่างไรก็ตามเนื้องอกชนิดนี้ไม่มีความรุนแรงมากนักและมักไม่พบการแพร่กระจายของเนื้องอกไปยังอวัยวะอื่น การทำหมันเพื่อลดอุบัติการณ์ของเนื้องอกอัณฑะอาจไม่มีความจำเป็นมากนัก เนื่องจากการรักษาโดยการผ่าตัดเอาเนื้องอกออกให้ผลเป็นที่น่าพอใจ ยกเว้นกรณีอัณฑะทองแดงหรืออัณฑะไม่ลงถุงแต่กำเนิด (cryptorchidism) ควรได้รับการผ่าตัดทำหมัน โดยเฉพาะอัณฑะที่ค้างอยู่ในช่องท้องและพัฒนาเป็นเนื้องอกหรือมะเร็ง สัตว์จะไม่แสดงอาการจนกว่าก้อนเนื้อจะมีขนาดใหญ่มากและกดทับการทำงานของอวัยวะใกล้เคียง
การทำหมันสุนัขและแมว เป็นวิธีหนึ่งในการรักษาโรคต่อมลูกหมากโต (benign prostatic hyperplasia) ในสุนัข ซึ่งพบได้บ่อย (>80%) ในสุนัขอายุมากว่า 5 ปี การผ่าตัดทำหมันทำให้ต่อมลูกหมากฝ่อลง ช่วยลดขนาดต่อมลูกหมากในสุนัขลงได้อย่างถาวร เนื่องจากเป็นการตัดแหล่งสร้างฮอร์โมนเพศผู้ที่มีผลต่อขนาดต่อมลูกหมากออกไป มะเร็งต่อมลูกหมากพบได้บ่อยในคน พบได้น้อยมากในสุนัข โดยสุนัขที่ไม่ได้ทำหมันมีโอกาสเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากเพียงร้อยละ 0.2 ถึง 0.6 อัตราเสี่ยงของการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก (prostatic cancer) เพิ่มสูงขึ้น 2-4 เท่าในสุนัขหลังทำหมัน ความสัมพันธ์ระหว่างการทำหมันและการเพิ่มขึ้นของอุบัติการณ์ของมะเร็งต่อมลูกหมากในสุนัขยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าการลดลงของฮอร์โมนเพศผู้หลังทำหมันไม่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นการเกิดมะเร็ง แต่อาจมีผลต่อการเจริญของเซลล์เนื้องอก
2.ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ
- ข้อสะโพกเสื่อม (Hip dysplasia) และเส้นเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าฉีกขาด (Cranial cruciate ligament rupture)
เป็นที่ทราบกันดีว่าข้อสะโพกเสื่อมเป็นความผิดปกติที่เกิดจากพันธุกรรมเป็นหลัก นอกจากนี้ปัจจัยเสริม เช่น สิ่งแวดล้อม สภาพการเลี้ยงดู น้ำหนักตัว ก็ส่งผลต่อการพัฒนาของโรคเช่นกัน มักพบในสุนัขพันธุ์ใหญ่ พันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เซนเบอร์นาร์ด อัลเซเชี่ยน โกลเด้นรีทรีฟเวอร์ ลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ เป็นต้น การทำหมันในสุนัขและแมวก่อนวัยเจริญพันธุ์มีผลต่อระบบโครงสร้างของร่างกาย พบว่าการทำหมันสุนัขเพศเมียส่งผลทำให้มวลเนื้อกระดูก (trabecular bone) ของกระดูกสันหลังลดลง และมีการเพิ่มขึ้นของ bone remodeling rate ของกระดูกเชิงกรานส่วนปีกสะโพก (ilium) ซึ่งคล้ายกับลักษณะการเกิดโรคกระดูพรุน (osteoporosis) ที่พบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจมีความสัมพันธ์กับอุบัติการณ์ข้อสะโพกเสื่อมที่เพิ่มขึ้นหลังทำหมันในสุนัขก่อนวัยเจริญพันธุ์
การฉีกขาดของเส้นเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าในสุนัขเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของอาการเจ็บขาหลัง (hind limb lameness) ทำให้เดินผิดปกติไป ปัจจัยเสี่ยงของเส้นเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าฉีก ได้แก่ น้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น ความอ้วน พันธุ์สุนัข เพศเมียพบได้มากกว่าเพศผู้ ตลอดจนสภาพการเลี้ยงดู เช่น การเลี้ยงสุนัขบนพื้นลื่น มีรายงานถึงอุบัติการณ์ของโรคที่เพิ่มขึ้นภายหลังการทำหมันโดยเฉพาะสุนัขเพศเมีย ซึ่งสาเหตุยังไม่ทราบอย่างแน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจเป็นผลมาจากแนวโน้มที่สัตว์จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหลังทำหมัน หรืออาจเกี่ยวข้องกับอิทธิพลของฮอร์โมนเพศ เช่น เอสโตรเจนที่ควบคุมการทำงานของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (connective tissue metabolism) มีรายงานว่าไม่พบความแตกต่างหากเปรียบเทียบอุบัติการณ์ของโรคในกลุ่มสุนัขทำหมันกับไม่ทำหมันที่มีน้ำหนักตัวเท่ากัน
เพื่อให้เห็นผลของการทำหมันต่อความเสี่ยงของโรคชัดเจน จึงมีการศึกษาในสุนัขพันธุ์โกลเด้นรีทรีฟเวอร์และลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ซึ่งเป็นพันธุ์ขนาดใหญ่ที่พบปัญหาข้อสะโพกเสื่อมและเส้นเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าฉีกขาดได้บ่อยกว่าพันธุ์อื่น สรุปได้ว่าอายุที่ทำหมันและพันธุ์มีผลกับความเสี่ยง การทำหมันสุนัข 2 พันธุ์นี้ ในช่วงอายุน้อยกว่า 1 ปี หรือทำหมันก่อนวัยเจริญพันธุ์ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคดังกล่าว และหากทำหมันที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน สุนัขโกลเด้นรีทรีฟเวอร์และลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์จะมีความเสี่ยงของการเกิดโรคมากกว่าสุนัขไม่ทำหมัน 4-5 เท่า และ 2 เท่าตามลำดับ หากทำหมันที่อายุมากกว่า 1 ปี ความเสี่ยงของโรคไม่แตกต่างกับสุนัขไม่ทำหมัน
- มะเร็งกระดูก (Osteogenic sarcoma)
มะเร็งกระดูกพบในสุนัขมากกว่าแมว อุบัติการณ์ในสุนัขพบร้อยละ 0.2 โดยสายพันธุ์ อายุ และน้ำหนักตัว มีผลต่อการเกิดโรค โดเบอร์แมน เกรทเดน ร็อตไวเลอร์ ไอริชเซ็ตเตอร์ เป็นพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง สุนัขที่ทำหมันแล้วจะมีความเสี่ยงโรคมะเร็งกระดูกสูงกว่าสุนัขที่ไม่ทำหมัน 1.3 – 2 เท่า สาเหตุอาจเกิดจากการลดลงของฮอร์โมนเพศภายหลังการทำหมัน ซึ่งมีผลต่อการรักษาสภาพสมดุลของระบบโครงร่าง (skeletal structure and mass) และสุนัขที่ได้รับการทำหมันที่อายุต่ำกว่า 1 ปี จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคสูงกว่าสุนัขที่ไม่ทำหมัน
3.ระบบขับถ่ายปัสสาวะส่วนล่าง
เนื่องจากกระเพาะปัสสาวะและท่อนำปัสสาวะมีต้นกำเนิด (embryonic origin) เดียวกันกับอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ และเป็นอวัยวะที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน (hormone-sensitive tissue) เช่น เอสโตรเจน การทำหมันจึงมีผลต่อระบบขับถ่ายปัสสาวะส่วนล่าง ทั้งในด้านลักษณะทางกายวิภาคและหน้าที่ของการทำงาน พบว่าสัดส่วนปริมาณกล้ามเนื้อและคอลลาเจนในกระเพาะปัสสาวะและท่อนำปัสสาวะของสุนัขเกิดการเปลี่ยนแปลงหลังทำหมัน โดยมีการสะสมของคอลาเจนเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่สัดส่วนของกล้ามเนื้อลดลง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในกระเพาะปัสสาวะและท่อนำปัสสาวะภายหลังการทำหมันดังกล่าวเชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดอาการปัสสาวะเล็ดหลังทำหมัน (urinary incontinence post-spay) ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 10-20 ของสุนัขเพศเมีย สาเหตุโน้มนำอื่น เช่นน้ำหนักตัวมาก สายพันธุ์ใหญ่ ความอ้วน และอายุที่ทำหมัน (สุนัขเพศเมียทำหมันก่อนอายุ 3 เดือน) ก็มีผลต่อความเสี่ยงของภาวะปัสสาวะเล็ดหลังทำหมัน
4.โรคอ้วน (obesity)
ความอ้วนเป็นปัญหาทางโภชนาการที่พบได้ทั้งสุนัขและแมว สุนัขที่ไม่ได้ทำหมัน มีอุบัติการณ์ของโรคประมาณร้อยละ 2.8 และเพิ่มสูงขึ้นถึงประมาณร้อยละ 30-40 ในสุนัขและแมวหลังทำหมัน อัตราการเผาผลาญพลังงาน (fasting metabolic rate) ในแมวเพศเมียหลังทำหมันลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งไม่พบในสุนัข แมวและสุนัขเพศเมียจะมีความอยากอาหารและกินอาหารเพิ่มขึ้นหลังจากทำหมัน โรคอ้วนสามารถควบคุมได้โดยการจำกัดชนิดและปริมาณอาหาร รวมถึงการเพิ่มการออกกำลังกายให้สัตว์เลี้ยง ปัจจัยอื่นที่มีผลต่อความอ้วนของสัตว์นอกจากการทำหมัน ได้แก่ สภาพการเลี้ยง อายุสัตว์ ความอ้วนของเจ้าของ เจ้าของที่อายุมากกว่า 40 ปี พบว่าเจ้าของที่กินเก่งมีแนวโน้มที่จะให้อาหารและขนมสัตว์เลี้ยงปริมาณมากด้วย นอกจากนี้พันธุ์สุนัข เช่น บีเกิ้ล ลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ ดัชชุน ก็เป็นพันธุ์ที่มีแนวโน้มอ้วนง่ายกว่าพันธุ์อื่น
ระเบิดเวลาที่ชื่อว่า “ความอ้วน”
5.โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus) ในแมว
ความเสี่ยงของโรคเบาหวานในสุนัขและแมวที่ไม่ทำหมัน ประมาณร้อยละ 0.5 ในแมวหลังทำหมันจะมีความเสี่ยงโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น 2-9 เท่า โดยเฉพาะแมวพันธุ์เบอร์มีส เป็นไปได้ว่าโรคเบาหวานที่พบมากขึ้นอาจมีความเกี่ยวข้องกับภาวะอ้วนที่พบมากขึ้นหลังทำหมัน โดยโรคอ้วนมีผลลดการทำงานของอินซูลิน (insulin sensitivity)
“โรคเบาหวานในสัตว์เลี้ยง” อีกหนึ่งภัยเงียบของน้องหมาน้องแมว
6.พฤติกรรม
การทำหมันสุนัขและแมวช่วยกำจัดอาการเป็นสัดของสุนัขและแมวเพศเมียได้อย่างถาวร ช่วยลดพฤติกรรมขึ้นขี่ผสมตัวเมียและลดพฤติกรรมก้าวร้าวระหว่างเพศผู้ (intermale agression) เนื่องจากแย่งตัวเมียของสุนัขและแมวเพศผู้ลงได้ การทำหมันไม่มีผลต่อพฤติกรรมก้าวร้าวอื่นที่เป็นผลมาจากการเรียนรู้ สัญชาตญาณ หรือประสบการณ์ นอกจากนี้การทำหมันไม่ได้ทำให้ความสามารถเรียนรู้ฝึกตามคำสั่งของสุนัข (trainability) ลดลง พฤติกรรมดุร้ายกัดคน (human bite injury risk) เป็นพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเสียหายตามมาได้มาก การศึกษาในอินเดียพบว่าความเสี่ยงจากความดุร้ายกัดคนของสุนัขจรบนท้องถนนลดลงในสุนัขที่ทำหมันแล้ว
บทสรุป
เนื่องจากปัญหาจำนวนสุนัขและแมวจรจัดยังคงเป็นปัญหาด้านสังคม ด้านสวัสดิภาพสัตว์ และด้านสาธารณสุขที่สำคัญในประเทศไทย สุนัขและแมวที่ไม่มีเจ้าของ หรือเจ้าของสัตว์ที่มีสัตว์เลี้ยงเป็นจำนวนมาก เลี้ยงแบบปล่อยไม่จำกัดบริเวณ ควรนำสัตว์มารับการผ่าตัดทำหมัน
ส่วนสัตว์เลี้ยงที่มีการดูแลอย่างใกล้ชิดในบ้าน การทำหมันเพื่อคุมจำนวนประชากรอาจไม่ใช่ประเด็นหลัก ดังนั้นการจะทำหมันหรือไม่ ควรพิจารณาร่วมกับอุบัติการณ์ของโรคนั้น ๆ ในแต่ละพันธุ์ ความเสี่ยงของโรคมากหรือน้อย เพศ และอายุที่จะทำหมัน เป็นกรณีไป ผลจากงานวิจัยมากมายทำให้มุมมองการทำหมันในโลกปัจจุบันเปลี่ยนไป ในภาพรวมการทำหมันสุนัขและแมวมีทั้งผลดีและผลกระทบต่อสุขภาพตามมาในระยะยาว หากมองในแง่การทำหมันจะทำให้อายุของสุนัขและแมวของเราสั้นลงหรือไม่ งานวิจัยจำนวนมากพบตรงกันว่าสุนัขและแมวที่ทำหมันจะอายุยืนกว่าสัตว์ที่ไม่ได้ทำหมัน และเห็นได้ชัดในสุนัขเพศเมียและแมวเพศผู้ที่ทำหมันแล้ว
การทำหมันสุนัขเพศเมียอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวมากกว่าสุนัขเพศผู้ โดยเฉพาะปัญหาปัสสาวะเล็ด แต่โรคดังกล่าวก็มีปัจจัยโน้มนำที่สำคัญอื่นมาเกี่ยวข้อง เช่น ความอ้วน พันธุ์ขนาดใหญ่ และทำหมันเมื่ออายุน้อย ผลดีที่เห็นได้อย่างเด่นชัดในแง่ของการป้องกันการเกิดเนื้องอกเต้านมและป้องกันการเกิดมดลูกอักเสบและเป็นหนอง เมื่อพิจารณาภาพรวมแล้ว โรคเนื้องอกเต้านมและมดลูกอักเสบเป็นหนองมีอุบัติการณ์มากกว่าโรคมะเร็งกระดูกที่มีอุบัติการณ์น้อยกว่ามาก ดังนั้นสัตวแพทย์ยังคงแนะนำให้ทำหมันสัตว์เลี้ยงที่ไม่ได้ตั้งใจให้ผสมพันธุ์ก่อนการเป็นสัดครั้งแรก
สุนัขโกลเด้นรีทรีฟเวอร์และลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์เพศเมียไม่ควรทำหมันก่อนอายุ 6 เดือน ใน 2 สายพันธุ์นี้แนะนำให้ทำหมันเมื่ออายุ 1 ปี ก่อนการเป็นสัดครั้งที่ 2 เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาดที่พบได้มากกว่าสุนัขที่ทำหมันก่อนวัยเจริญพันธุ์ และยังได้ประโยชน์จากการลดอุบัติการณ์การเกิดเนื้องอกเต้านมและมดลูกอักเสบเป็นหนอง เจ้าของสัตว์ต้องทำการควบคุมอาหารและน้ำหนักสัตว์เลี้ยงเพื่อลดความเสี่ยงของโรคเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาดอย่างต่อเนื่อง
ส่วนการทำหมันในแมวนั้น ดูปัญหาด้านสุขภาพที่ตามมาจะน้อยกว่าสุนัขมาก ผลดีที่ชัดเจนในแมวเพศผู้ คือผลในด้านพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับออร์โมนเพศผู้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เช่น หนีเที่ยวนอกบ้าน ดุร้ายแย่งตัวเมีย ปัสสาวะไม่เป็นที่
ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยทั้งในสุนัขและแมวหลังทำหมัน ซึ่งอาจเป็นปัจจัยโน้มนำของโรคต่าง ๆ ตามมาได้มาก การป้องกันโรคอ้วนจึงมีความสำคัญอย่างมากทั้งในสุนัขและแมวหลังทำหมัน
บทความโดย
ผศ.น.สพ.ดร. ศุภวิวัธน์ พงษ์เลาหพันธุ์ (อว.สพ. เวชศาสตร์ระบบสืบพันธุ์)
Asst. Prof. Suppawiwat Ponglowhapan, DVM, MSc, PhD, DTBT
ภาควิชาสูติศาสตร์ เธนุเวชวิทยาและวิทยาการสืบพันธุ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์
Department of Obstetrics, Gynecology & Reproduction, Faculty of Veterinary Science, Chulalongkorn University