ผมเชื่อว่าหลายท่านที่เลี้ยงสุนัข มักไม่สนใจในเรื่องของการฝึก หรือศึกษาในแนวทางการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง เพื่อเป็นการปูพื้นฐานที่ดีให้แก่ลูกสุนัข เพื่อให้โตขึ้นไปเป็นสุนัขโตที่ดี หรือมองว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งสำคัญ มักมองแค่ว่าสุนัขก็คือสุนัข เลี้ยง ๆ ไว้ในบ้านมีอาหารให้กิน มีที่นอน มีของเล่นให้เล่น ก็เพียงพอแล้ว หรือบางท่านก็เน้นแต่การตามใจโดยไม่ได้คำนึงถึงการฝึกหรือปูพื้นฐานที่ดีให้แก่ลูกสุนัข
แต่เกือบทุกท่านจะกลับมาคำนึงหรือรู้สึกถึงความสำคัญของการฝึกหรือศึกษาวิธีการเลี้ยงดู เมื่อสุนัขของตัวเองเริ่มมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นเช่น ขับถ่ายไม่เป็นที่เป็นทาง เห่าหอน ขี้กลัว ดุ ก้าวร้าว ฯลฯ บางตัวแสดงอาการตั้งแต่ยังเล็ก (ก่อน 4 เดือน) ก็ยังพอจะกลับมาปรับปรุงให้เข้ารูปเข้ารอยได้เร็ว แต่หลายตัวกว่าเจ้าของจะสังเกตเห็นก็คือตอนหลังจากเป็นวัยรุ่นแล้ว (ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป) แบบนี้ก็จะลำบากทั้งเจ้าของและคนฝึกครับ ทั้งที่เรื่องเหล่านี้สามารถป้องกันได้ถ้าเลี้ยงถูกวิธีหรือปูพื้นฐานที่ดีตั้งแต่ตอนเป็นลูกสุนัข
ด้วยเหตุนี้ การฝึกและการสอนตั้งแต่ยังเป็นลูกสุนัขจึงเป็นวิ่งจำเป็นและสำคัญมากครับ ด้วยเหตุผลที่ว่า
1. ระบบการเรียนรู้ของสุนัข แม้จะเรียนรู้ไปได้เรื่อย ๆ ตลอดชีวิต แต่ช่วงสำคัญของสุนัขที่จะเปิดรับเพื่อดูดซับและปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม หรือเพื่อการปรับตัวให้มีพื้นฐานทางนิสัยที่ดี จะอยู่ในช่วงตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึง 3 เดือนครับ ช่วงนี้ลูกสุนัขจะเปิดรับและสร้างความคุ้นเคยกับสิ่งที่เราป้อนให้เขาได้อย่างรวดเร็ว และหลังจากนั้นประตูที่เปิดบานนี้จะค่อย ๆ ปิด ซึ่งพอปิดแล้ว ปัญหาคือการภายหลังจากการปิดแล้ว การจะปูพื้นพฤติกรรมใหม่มันจะเริ่มอยู่ในเรื่องของการปรับพฤติกรรมใหม่ ซึ่งถ้ามาปรับแก้ไขหลังจากประตูปิดไม่นานเร็วก็จะยังแก้ไขได้เร็ว แต่ถ้าปล่อยไว้นาน การแก้ไขก็จะใช้เวลาปรับตัวให้พฤติกรรมกลับมาเข้ารูปเข้ารอยนานขึ้นครับ บางตัวนานจนเจ้าของยอมแพ้ หรือบางตัวเจ้าของแม้จะทราบทฤษฎีว่าต้องทำอย่างไร แต่ก็ไปปฏิบัติเพื่อแก้ไขให้ตรงจุดจริงได้ยาก เช่น บางตัวโตขึ้นแล้วไม่ชอบคนแปลกหน้า ทางแก้ทางหนึ่งก็คือพาไปให้เขาเจอและรู้สึกดีกับคนแปลกหน้า ซึ่งอาจหมายความถึงการพาไปนั่งที่ป้ายรถเมล์เพื่อเจอและสัมผัสกับคนแปลกหน้าบ่อย ๆ แต่ในทางปฏิบัติเจ้าของอาจจะกลัวว่าจะควบคุมสุนัขไม่อยู่เวลาเจอคนแปลกหน้า หรือไม่มีเวลาพาไป หรือพาไปไม่สม่ำเสมอ ทำให้สุดท้ายแม้ทราบวิธีแก้แต่ก็แก้ไขจริงไม่ได้ผล
2. ถ้ามองในมุมของมนุษย์ ถ้าท่านมีลูกหลาน แม้ลูกหลานของท่านจะยังไม่มีปัญหาอะไร ผมก็เชื่อว่าทุกท่านก็ยังหาโรงเรียนอนุบาลให้ลูกหลานไปเรียนรู้อยู่ดีทั้งในเรื่องของความรู้และมารยาทการเข้าสังคมต่าง ๆ ที่เขาต้องเรียนรู้เวลาออกไปสู่สังคมภายนอก คงไม่มีใครเก็บลูกหลานไว้ที่บ้านโดยไม่สั่งสอนอะไรเลย ลูกสุนัขก็ต้องการเช่นเดียวกันครับ เขาก็ต้องการการปูพื้นฐานจากผู้รู้ เพื่อก่อให้เกิดพฤติกรรมและมารยาทที่ดีเมื่อโตขึ้น
3. เด็กบางคนที่ไม่ได้เรียนหนังสือหรือไม่ได้เรียนรู้ในเรื่องของการอยู่ในสังคมอย่างถูกวิธี พอโตขึ้นไปอายุ 20 ปีแล้วเป็นผู้ใหญ่ที่มีพฤติกรรมไม่ดี คงไม่สามารถนำเขามาเริ่มเรียนร่วมกับเด็กอนุบาลเพื่อสร้างวินัยที่ดีได้ครับ แต่การแก้ไขพฤติกรรมก็ต้องแก้ไขโดยหลักการปรับปรุงพฤติกรรมจากผู้เชี่ยวชาญที่ต้องใช้หลักการที่แตกต่างออกไป ลูกสุนัขก็เช่นกันครับ หลายกรณีที่สุนัขโตที่มีปัญหาก็ไม่เหมาะกับการพามาร่วมเรียนกับลูกสุนัขในชั้นเรียนลูกสุนัข หรือแม้จะนำมาเรียนร่วมกันจะได้ผลลัพธ์ไม่ดีเท่าที่ควรเพราะลูกสุนัขเป็นการปูพื้นฐานที่ดี ขณะที่สุนัขโตที่มีปัญหาคือการมาเพื่อแก้ไขพฤติกรรม
4. การแก้ไขพฤติกรรมสุนัขโต มักต้องแก้ไขในแต่ละพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นั้น และควรเป็นการลงรายละเอียดตัวต่อตัวระหว่างเจ้าของและผู้ฝึกเพื่อทราบถึงรายละเอียดในเชิงลึก ซึ่งยากกว่าและมีความเสี่ยงสูงกว่า (สุนัขโตมีแนวโน้มที่จะกัดเมื่อรู้สึกไม่สบายใจ) รวมทั้งใช้ระยะเวลานานกว่า ทั้งเรื่องการปรับพฤติกรรมสุนัข และการปรับปรุงแนวความคิดของเจ้าของที่เลี้ยงดูอย่างผิดวิธีมานาน รวมทั้งพฤติกรรมบางอย่างแม้ดูเหมือนว่าแก้ไขได้แล้ว แต่ก็ยังแก้ไม่ได้หมด จะนำมาซึ่งการคอยปรับคอยแก้ในพฤติกรรมไม่พึงประสงค์อยู่เสมอ ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะป้องกันได้ ถ้าสุนัขได้รับการปูพื้นฐานส่งเสริมให้ทำแต่พฤติกรรมที่ดีมาตั้งแต่การเป็นลูกสุนัข
5. ถ้าปูพื้นฐานดีให้แก่ลูกสุนัขเพื่อให้โตขึ้นเป็นสุนัขที่ดี การพาไปเข้าสังคมก็จะเป็นเรื่องง่าย สุนัขก็จะสามารถร่วมกิจกรรมกับเจ้าของได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพาไปเที่ยวต่างจังหวัด การพาไปวิ่งเล่นที่สวนสาธารณะเพื่อพบปะกับคนหรือสุนัขแปลกหน้า รวมทั้งถ้าสุนัขคุ้นชินหรือมั่นใจกับการถูกสัมผัสโดยคนแปลกหน้าในพื้นที่สาธารณะ การพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการก็จะเป็นเรื่องง่ายขึ้นกับทั้งเจ้าของและสัตวแพทย์ รวมทั้งถ้าเจ้าของเรียนรู้ในการเลี้ยงและฝึกลูกสุนัขเพื่อให้โตขึ้นเป็นสุนัขที่ดีแล้ว การเป็นสุนัขที่อันตรายของสังคมก็จะลดลงด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ บทความในวารสาร Journal of Veterinary Behaviour ปี พ.ศ. 2562 เขียนถึงการทดลองจากมหาวิทยาลัยในทวีปยุโรปแห่งหนึ่งเพื่อพิสูจน์ว่า Puppy Class นั้น ส่งผลดีต่อสุนัขเมื่อโตขึ้นจริงหรือไม่ โดยมีการทดสอบลูกสุนัข 80 ตัว (32 ตัวเข้าเรียนใน Puppy Class และ 48 ตัวไม่ได้เรียน) และประเมินพฤติกรรมของลูกสุนัขอีกทีเมื่อเวลาผ่านไป 1 ปีหลังจากที่กลุ่มแรกได้เรียนใน Puppy Class เสร็จแล้ว ซึ่งผลของการทดลองปรากฏว่า สุนัขที่เคยเข้า Puppy Class ในตอนเด็ก จะมีพฤติกรรมเป็นมิตรต่อสุนัขที่ตัวเองคุ้นเคยมากกว่าตัวที่ไม่ได้เข้าเรียนใน Puppy Class โดยผลคะแนนเป็นดังนี้
1. สุนัขที่ไม่เคยเรียนใน Puppy Class โดยรวมแล้วจะมีความเสี่ยงที่ก้าวร้าวต่อสุนัขที่ตัวเองคุ้นเคย (เช่นสุนัขในบ้านเดียวกัน เป็นต้น) เพิ่มขึ้น 2.6 เท่า มากกว่าสุนัขที่เคยเข้าเรียนใน Puppy Class
2. สุนัขที่ไม่เคยเข้าเรียนใน Puppy Class ก็มีความเสี่ยงที่จะแสดงอาการกลัวหรือกังวลเวลาต้องเจอกับเหตุการณ์หรือสิ่งของที่ไม่คุ้นเคยเพิ่มขึ้น 2.8 เท่า มากกว่าสุนัขที่เคยเรียนใน Puppy Class
3. สุนัขที่เคยเรียนใน Puppy Class ยังคุ้นกับสถานการณ์ต่าง ๆ เช่นการอาบน้ำ การตัดเล็บ การแปรงขน การไปพบสัตวแพทย์ได้ดีกว่า โดยสุนัขที่ไม่เคยเข้าเรียนใน Puppy Class ก็มีความเสี่ยงที่จะแสดงอาการกลัวหรือไม่ชอบต่อสิ่งเหล่านี้เพิ่มขึ้น 3.1 เท่า มากกว่าสุนัขที่เคยเรียนใน Puppy Class
4. สุนัขที่เคยผ่านการเรียนใน Puppy Class มา จะมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญต่อคำสั่งของเจ้าของได้ดีกว่า สนใจการฝึกมากกว่า และทำตามด้วยความเต็มใจมากกว่าสุนัขที่ไม่เคยผ่านการเรียนใน Puppy Class
จากการทดลองนี้ จึงสรุปได้ว่าการเข้าเรียนใน Puppy Class ตั้งแต่ยังเป็นลูกสุนัข สามารถป้องกันพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของสุนัขเมื่อโตขึ้นได้ ทั้งในเรื่องการลดความก้าวร้าวกับสุนัขตัวที่คุ้นเคยกัน การลดความกังวลเวลาเผชิญสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย รวมทั้งสามารถช่วยให้สุนัขตอบสนองต่อการฝึกได้ดีกว่าครับ
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ผมก็หวังว่าท่านผู้อ่านจะเห็นถึงความสำคัญของจุดเล็กๆ เรื่องการปูพื้นฐานในการเลี้ยงและการฝึกตั้งแต่ยังเป็นลูกสุนัข หรือการพาลูกสุนัขเข้าเรียนในชั้นเรียน Puppy Class มากขึ้นนะครับ
แต่แน่นอนครับว่า แต่ละแห่งที่รับสอนหรือฝึกในหลักสูตร Puppy Class ก็คงจะมีรายละเอียดและจุดขายที่แตกต่างกัน บางแห่งอาจมีจุดขายในเรื่องราคาที่ย่อมเยา บางแห่งมีจุดขายในเรื่องเน้นการเชื่อฟังคำสั่ง บางแห่งมีจุดขายในเรื่องฝึกเพื่อเป็นสุนัขใช้งาน หรือบางแห่งมีจุดขายในการฝึกแบบเชิงบวก ไม่เน้นการทำโทษ ไม่เน้นการใช้อุปกรณ์ใด ๆ เพื่อเป็นการทำโทษสุนัข ฯลฯ ท่านผู้อ่านก็ลองหาสถานที่ที่เหมาะสมกับท่าน และลองสอบถามไปดูนะครับ
บทความโดย
นายพันธุ์นุชิต โปษยานนท์ (ครูนล)
ผู้ก่อตั้ง เจ้าของ ผู้ฝึกสอนชั้นเรียนสุนัข Nol’s Puppy Class และ Nol’s Private Dog Class
https://www.facebook.com/nolpuppyclass