โรคลิ้นหัวใจเสื่อมในสุนัข (Degenerative Valve Disease) หรือโรคลิ้นหัวใจรั่ว (Valve Regurgitation) เป็นโรคหัวใจที่พบได้มากที่สุดในสุนัข โดยพบได้มากในสุนัขพันธุ์เล็ก เช่น ชิวาวา ชิสุ พุดเดิ้ล ดัชชุน
เนื่องจาก โรคลิ้นหัวใจเสื่อมในสุนัข เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมของลิ้นหัวใจ จึงพบได้มากในสุนัขที่อายุมาก โดยมักพบในสุนัขที่อายุมากกว่า 7 ปี ขึ้นไป ยกเว้นในสุนัขบางพันธุ์ เช่น คาร์วาเลียร์ คิงส์ ชาล์ส สเปเนียล อาจเป็นโรคนี้ได้ตั้งแต่อายุยังไม่มาก โดยอาจพบได้ตั้งแต่อายุ 4-5 ปี อุบัติการณ์การเกิดโรคจะพบในเพศผู้มากกว่าเพศเมีย และตัวผู้มักจะมีความรุนแรงของโรคมากกว่าเพศเมีย
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัด จึงยังไม่มีวิธีป้องกันหรือชะลอการเสื่อมของลิ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าโรคลิ้นหัวใจเสื่อมเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ด้วยเหตุนี้พ่อแม่สุนัขที่เป็นโรคนี้จึงสามารถถ่ายทอดยีนที่ผิดปกติสู่ลูกและอาจส่งผลให้ลูกเป็นโรคนี้เมื่ออายุมากขึ้นได้ ดังนั้นผู้เลี้ยงจึงเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยลดอุบัติการณ์การเกิดโรคนี้ได้โดยการไม่นำสุนัขที่เป็นโรคนี้ไปเป็นพ่อแม่พันธุ์
โรคลิ้นหัวใจเสื่อม มักเกิดรอยโรคที่ลิ้นหัวใจไมทรัล ซึ่งเป็นลิ้นที่กั้นระหว่างหัวใจห้องบนซ้ายและล่างซ้าย ในภาวะปกติลิ้นไมทรัลจะทำหน้าที่ในการกั้นไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับสู่หัวใจห้องบนซ้าย ในขณะที่หัวใจห้องล่างซ้ายบีบตัว เมื่อเกิดการเสื่อมของลิ้นไมทรัล อาจทำให้ลิ้นหนาตัว หรือโป่ง จึงทำให้ปลายลิ้นสบกันไม่สนิท และทำเกิดการรั่วขึ้น เมื่อหัวใจห้องล่างซ้ายบีบตัวเพื่อไล่เลือดออกไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย จึงมีเลือดบางส่วนไหลย้อนกลับไปที่หัวใจห้องบนซ้าย เมื่อความรุนแรงของการเสื่อมเพิ่มมากขึ้น การรั่วของลิ้นเพิ่มมากขึ้น จะส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจโตตามมา และในระยะท้ายของโรคหากหัวใจไม่สามารถบีบไล่เลือดที่ค้างอยู่ออกจากหัวใจได้มากพอ จะทำให้เกิดการคั่งเลือดที่หลอดเลือดที่กลับจากปอดมาที่หัวใจและที่ปอดส่งผลให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอดขึ้นในที่สุด นอกจากลิ้นไมทรัลแล้วอาจเกิดการเสื่อมที่ลิ้นอื่น ๆ ได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามอุบัติการณ์การเสื่อมที่ลิ้นอื่น ๆ จะพบได้น้อยกว่าลิ้นไมทรัล ลิ้นที่เกิดการเสื่อมรองลงมาคือ ลิ้นไตรคัสปิด ซึ่งเป็นลิ้นที่กั้นระหว่างหัวใจห้องบนขวาและล่างขวา หากเกิดการเสื่อมและการรั่วขึ้น จะทำให้เกิดภาวะหัวใจด้านขวาโต และเกิดการคั่งเลือดในหลอดเลือดดำที่เลี้ยงร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะท้องมาน หรือการสะสมของของเหลวในช่องท้องตามมาในที่สุด
วิธีการวินิจฉัยโรค
สัตวแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคลิ้นหัวใจเสื่อมได้โดยการฟังเสียงหัวใจที่ผิดปกติไป จากปกติที่จะได้ยินเสียงหัวใจเต้นเป็นเสียง ลับ ดับ เมื่อเกิดการรั่วของลิ้น จะทำให้เสียงหัวใจเปลี่ยนไปกลายเป็นเสียงฟู่แทน ซึ่งสัตวแพทย์อาจสามารถระบุตำแหน่งของลิ้นหัวใจที่เกิดความผิดปกติได้คร่าว ๆ เมื่อได้ยินเสียงหัวใจผิดปกติ สัตวแพทย์มักแนะนำให้ทำการตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจโต จากภาพถ่ายรังสี หรือการเอกซเรย์ การถ่ายภาพรังสี จะช่วยให้เห็นภาพเงาหัวใจและปอด หากมีภาวะหัวใจโตจะสามารถเห็นภาพเงาหัวใจที่มีขนาดใหญ่ขึ้นได้
เสียงหัวใจ หน้าต่างแห่งสุขภาพของสัตว์เลี้ยง
ในกรณีที่สุนัขมีภาวะน้ำท่วมปอดร่วมด้วย ภาพถ่ายรังสีจะเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการวินิจฉัยภาวะดังกล่าวได้เป็นอย่างดี โดยจะพบพื้นที่ปอดมีลักษณะขาวมากขึ้น ในฐานะผู้ดูแลสุนัขเจ้าของอาจสังเกตอาการจากภาวะน้ำท่วมปอด เช่น อาการหอบหายใจลำบาก นอนไม่ได้ ผุดลุกผุดนั่ง ยืดคอหายใจ บางตัวมีอาการไอ หากเป็นรุนแรงอาจมีน้ำไหลจากจมูก เจ้าของอาจสามารถเฝ้าระวังภาวะน้ำท่วมปอดได้ โดยการนับอัตราการหายใจในขณะพัก หรือขณะนอน หากมีอัตราเร็ว ที่สูงกว่า 30 ครั้ง/นาที อาจบ่งชี้ถึงภาวะน้ำท่วมปอดหรือหัวใจล้มเหลวได้ ส่วนวิธีการตรวจยืนยันโรคลิ้นหัวใจเสื่อมที่ดีที่สุดในนปัจจุบัน คือการตรวจด้วยวิธีคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง หรือการทำ echocardiography ซึ่งเป็นวิธีการตรวจโดยการทำอัลตร้าซาวด์หัวใจ วิธีการนี้จะสามารถตรวจวินิจฉัยโรค ได้โดยการตรวจลักษณะของลิ้นหัวใจ โดยดูการหนาตัวหรือการโป่งของลิ้น โดยการตรวจบนภาพสองมิติ เมื่อใช้เทคนิคใส่สี (Color Doppler Echocardiography) จะสามารถตรวจการรั่วของลิ้นและบอกความรุนแรงของการรั่วได้ นอกจากนั้นการตรวจด้วยวิธีคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงยังสามารถใช้บอกความรุนแรงของภาวะหัวใจโต และบอกถึงภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นภายหลัง เช่น การเสียหน้าที่ในการหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ หรือการเกิดภาวะความดันปอดสูงได้
ปัจจุบัน American College of Veterinary Internal Medicine ได้แบ่งระยะของโรคลิ้นหัวใจไมทรัลเสื่อมออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่
- Stage A คือสุนัขกลุ่มเสี่ยง เช่น สุนัขพันธุ์คาร์วาเลียร์ คิงส์ ชาส์ล สเปเนียล หรือสุนัขที่พ่อแม่เป็นโรคนี้และมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ในอนาคต แต่ปัจจุบันยังไม่มีการเสื่อมของลิ้นหัวใจขึ้น สำหรับการดูแลสุนัขกลุ่มนี้จะยังคงทำในลักษณะเดียวกับสุนัขปกติ และอาจเข้าพบสัตวแพทย์เป็นประจำทุกปี เพื่อเฝ้าระวังการเป็นโรค
- Stage B คือสุนัขกลุ่มที่มีการเสื่อมของลิ้นหัวใจเกิดขึ้นแล้ว เมื่อสัตวแพทย์ฟังเสียงหัวใจ จะได้ยินเสียงหัวใจที่ผิดปกติ โดยสุนัขในกลุ่มนี้จะถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อยได้แก่
– Stage B1 คือ กลุ่มสุนัขที่มีภาวะลิ้นหัวใจเสื่อม แต่ยังไม่มีอาการป่วย และยังไม่มีภาวะหัวใจโต การดูแลสุนัขกลุ่มนี้ยังคงคล้ายกลุ่มสุนัขปกติ และแนะนำให้เข้าพบสัตวแพทย์เพื่อเฝ้าระวังภาวะหัวใจโต ทุก 6-12 เดือน
– Stage B2 คือ กลุ่มสุนัขที่มีภาวะลิ้นหัวใจเสื่อม ยังไม่มีอาการป่วย แต่มีภาวะหัวใจโตจากการตรวจด้วยภาพถ่ายรังสีและคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงแล้ว ในสุนัขกลุ่มนี้สัตวแพทย์มักแนะนำให้สุนัขเริ่มกินยา Pimobendan เพื่อช่วยชะลอการเกิดภาวะน้ำท่วมปอดหรือภาวะหัวใจล้มเหลว และอาจเริ่มปรับอาหารเป็นอาหารสำหรับสุนัขที่เป็นโรคหัวใจ เพื่อลดปริมาณเกลือ ช่วยลดภาวะการคั่งน้ำภายในร่างกาย โดยมากสุนัขที่อยู่ในระยะนี้ มักยังคงทำกิจกรรมได้เป็นปกติจึงอาจยังไม่จำเป็นต้องจำกัดการออกกำลังกาย อย่างไรก็ตามอาจเลือกวิธีการออกกำลังกายไม่ให้หนักจนเกินไป เช่น การเดิน การว่ายน้ำหรือการวิ่ง ในระยะทางและระยะเวลาที่ไม่มากจนเกินไป โดยเจ้าของสามารถสังเกตความเหมาะสมของกิจกรรมและรูปแบบการออกกำลังกายได้โดยจากอาการของสุนัข โดยกิจกรรมควรเป็นกิจกรรมที่สุนัขสามารถทำได้โดยไม่แสดงอาการเหนื่อย หรือต้องนั่งพักอยู่เป็นเวลานานภายหลังหรือระหว่างที่ทำกิจกรรม นอกจากนั้นสัตวแพทย์มักแนะนำให้เจ้าของนับอัตราการหายใจ เพื่อเฝ้าระวังการเกิดภาวะน้ำท่วมปอดในสุนัขระยะนี้ โดยอัตราการหายใจขณะพักหรือนอนไม่ควรเกิน 30 ครั้ง/นาที - Stage C คือ กลุ่มสุนัขที่มีภาวะลิ้นหัวใจเสื่อม มีหัวใจโต และมีภาวะหัวใจล้มเหลวหรือน้ำท่วมปอด โดยวินิจฉัยจากอาการ เช่น หอบ หายใจลำบาก และลักษณะปอดที่ขาวขึ้น ร่วมกับภาวะหัวใจโตจากภาพถ่ายรังสี ในระยะนี้สุนัขจะต้องได้รับยาเพื่อควบคุมภาวะหัวใจล้มเหลว ได้แก่ ยากลุ่ม angiotensin converting enzyme inhibitors (ACEi) furosemide pimobendan และ spironolactone ในระยะนี้สุนัขควรปรับอาหารเป็นอาหารสำหรับสุนัขที่เป็นโรคหัวใจ เพื่อควบคุมปริมาณเกลือ และควรเป็นอาหารโปรตีนคุณภาพสูง กล่าวคือเป็นกลุ่มโปรตีนที่สามารถให้พลังงานมากแม้กินในปริมาณน้อย เนื่องจากสุนัขที่เป็นโรคหัวใจมักมีภาวะผอมแห้ง เนื่องจากการไหลเวียนเลือดเพื่อขนส่งสารอาหารไปยังเนื้อเยื่อผิดปกติ ร่างกายจึงจำเป็นต้องดึงโปรตีนจากกล้ามเนื้อมาใช้ ทำให้เกิดภาวะสูญเสียกล้ามเนื้อและเกิดภาวะผอมแห้งขึ้นได้ ในระยะนี้สุนัขอาจเริ่มไม่ทนต่อการออกกำลังกาย ในบางตัวอาจจำเป็นต้องจำกัดการออกกำลังกาย เจ้าของสามารถสังเกตอาการที่บ่งชี้ ถึงภาวะเหนื่อยง่าย เช่น การอ่อนแรง หรือต้องพักเป็นเวลานานหลังออกกำลังกาย ระยะเวลาการออกกำลังกายทำได้น้อยลง บางตัวอาจแสดงอาการอ่อนแรงหรือเป็นลม หลังออกกำลังกาย เจ้าของจึงควรลดกิจกรรมหรือเปลี่ยนวิธีการออกกำลังกายให้เหมาะสมเช่น เปลี่ยนเป็นการเดินช้า ๆ หรือลดจำนวนรอบที่เดินลง เนื่องจากสุนัขในระยะนี้มีภาวะหัวใจล้มเหลวเกิดขึ้นแล้ว สุนัขจำเป็นที่จะต้องได้รับยา และเข้าพบสัตวแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนอื่นที่ตามมาทั้งจากภาวะลิ้นหัวใจเสื่อม และจากฤทธิ์ของยา เช่น การเสียหน้าที่ของไต หรือการเสียสมดุลของเกลือแร่จากการให้ยาขับน้ำปริมาณมาก
- Stage D คือ ระยะที่สุนัขดื้อต่อการรักษา ในระยะนี้สุนัขจะยังคงมีภาวะน้ำท่วมปอดอยู่ตลอด แม้ได้รับยาเพื่อรักษาโรคหัวใจ สุนัขจึงมักมีอาการเหนื่อยหอบ เนื่องจากพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนก๊าซลดลงจากภาวะน้ำท่วมปอด สุนัขมักไม่ค่อยทำกิจกรรม และอาจมีอาการเป็นลมได้ง่ายขึ้น สัตวแพทย์มักต้องเพิ่มขนาดยา และอาจต้องให้ยาหลายตัวเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งอาจต้องให้ยาถี่ขึ้น เจ้าของควรทำตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ โดยเคร่งครัด สุนัขมักมีอาการที่รุนแรงขึ้นหากไม่ได้รับยา จึงควรมีการป้อนยาอย่างสม่ำเสมอ และควรให้ตามระยะเวลาที่สัตวแพทย์แนะนำ เช่น การให้ยาทุก 8 ชั่วโมง คือ การให้ยา 3 ครั้ง ต่อวันให้ห่างกันประมาณ 8 ชั่วโมง เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ ครอบคลุม 24 ชั่วโมง ไม่ควรรวบมื้อยาไปป้อนติดกันในช่วงใดช่วงหนึ่งของวัน สุนัขในระยะนี้มักจำเป็นต้องได้รับยาขับน้ำในขนาดที่ค่อนข้างสูงหรือถี่มากขึ้น เจ้าของจึงควรตั้งน้ำให้สุนัขสามารถกินได้ตลอดเวลา และควรเข้ารับการตรวจประเมินการทำงานของไต และระดับเกลือแร่อยู่เสมอ
ตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น โรคลิ้นหัวใจเสื่อมเป็นโรคหัวใจที่พบได้มากที่สุดในสุนัข มากกว่า 75% ของสุนัขที่ป่วยด้วยโรคหัวใจจะเป็นโรคนี้ ถึงแม้ปัจจุบันยังไม่มียาที่จะสามารถหยุดการเสื่อมของลิ้นหัวใจได้ แต่การตรวจสุขภาพสุนัขเป็นประจำจะสามารถช่วยให้ตรวจพบโรคได้ตั้งแต่ในระยะต้น ๆ และสามารถช่วยชะลอการที่สุนัขจะป่วยเนื่องจากภาวะหัวใจล้มเหลวได้ การดูแลจากเจ้าของที่ถูกต้องและสม่ำเสมอตามคำแนะนำของสัตวแพทย์จะช่วยให้สุนัขที่เป็นโรคลิ้นหัวใจเสื่อมมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีชีวิตอยู่ได้ยาวนานขึ้น
บทความโดย
รศ.สพ.ญ.ดร.สิริลักษณ์ สุรเชษฐพงษ์ (อว. สพ. อายุรศาสตร์)
Assoc. Prof. Sirilak Surachetpong, DVM, MS, PhD, DTBVM, AiCVIM (Cardiology)
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Department of Veterinary Medicine, Faculty of Veterinary Medicine, Chulalongkorn University