รับเลี้ยงสุนัขและแมวจรจัด

เรื่องต้องรู้ก่อนรับเลี้ยง สุนัขและแมวจรจัด

ปัญหา สุนัขและแมวจรจัด เป็นปัญหาที่สำคัญปัญหาหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งทุกภาคส่วนกำลังพยายามหาทางแก้ไขอย่างยั่งยืนร่วมกัน

แน่นอนว่า ทางแก้ปัญหาที่ง่ายทางหนึ่งคือการลดจำนวน สุนัขและแมวจรจัด เหล่านี้ การลดจำนวนประชากรทำได้หลายวิธีและหนึ่งในวิธีที่ดีก็คือการเปลี่ยนจากสุนัขและแมวที่ไม่มีเจ้าของให้มีเจ้าของ หรือพูดให้ง่ายก็คือการหาบ้านให้สัตว์เหล่านี้นั่นเองค่ะ

หลายท่านที่อยากจะเลี้ยงสุนัขหรือแมวสักตัวคงมีตัวเลือกของการรับอุปการะสัตว์เหล่านี้อยู่ในใจ เพราะนอกจากเราจะได้เพื่อนซี้สี่ขาเพิ่ม หมาแมวเหล่านี้ได้บ้านใหม่แล้ว ยังมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสุนัขและแมวจรจัดในสังคมอีกด้วย

แต่การจะรับสุนัขหรือแมวสักตัวมาเลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นสัตว์จรจัดมาก่อนหรือไม่สิ่งที่เราควรจะคิดก่อนเป็นอันดับแรกคือ ตัวเรามีความพร้อมจะเลี้ยงพวกเขาเหล่านี้แล้วหรือยัง

เพราะถ้าตัวเราไม่มีความพร้อมที่จะเลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลด้านสถานที่ เหตุผลของเวลา หรือเหตุผลจากปัจจัยที่สำคัญอย่างเงินก็ดีแล้วล่ะก็ เราอาจจะกำลังเป็นสาเหตุของปัญหาสุนัขและแมวจรจัดแทนที่จะเป็นคนช่วยแก้ปัญหานี้ก็ได้

การเตรียมความพร้อมก่อนจะ รับเลี้ยงสุนัขและแมวจรจัด ซึ่งจริง ๆ ก็มีพื้นฐานเหมือนการเตรียมตัว เพื่อจะเลี้ยงสุนัขและแมวทั่วไป แต่อาจจะมีรายละเอียด ข้อจำกัด หรือเงื่อนไขบ้างอย่างที่เราควรต้องรู้ก่อนรับสัตว์เหล่านี้มาเลี้ยง เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นบ้านของสุนัขและแมวจรจัดเหล่านี้ได้อย่างถาวร

การเตรียมตัวรับ สุนัขและแมวจรจัด เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่   

1. เตรียมความรู้และความเข้าใจ

ความรู้และความเข้าใจเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมากสำหรับการรับสัตว์สักตัวเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในบ้าน ความเข้าใจนี้ครอบคลุมทั้งความเข้าใจ ”เขา” และความเข้าใจ ”เรา” ซึ่ง “เขา” ที่ว่าคือน้องหมาหรือน้องแมวที่เรากำลังจะรับมาเลี้ยง

หากเป็นไปได้เราควรจะเล็งไว้บ้างว่า น้องหมาหรือน้องแมวตัวไหนที่เราจะรับเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ เพื่อจะได้รู้ข้อมูลพื้นฐานของเขา เช่น เป็นสุนัขหรือเป็นแมว สายพันธุ์อะไร ตัวใหญ่แค่ไหน ขนสั้นหรือขนยาว ตัวเมียหรือตัวผู้ อายุเท่าไหร่ มีประวัติมาอย่างไรบ้าง

เพราะประวัติสามารถบอกนิสัยคร่าว ๆ และเงื่อนไขของสัตว์แต่ละตัวได้ เช่น สุนัขหรือแมวบางตัวมีประวัติเรื่องการทำร้ายร่างกาย อาจทำให้สัตว์เหล่านั้นมีนิสัยหวาดระแวงคนแปลกหน้าหรือสัตว์ตัวอื่นมากกว่าปกติ

บางตัวเป็นสัตว์เลี้ยงพิการที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เป็นต้น ข้อมูลเกี่ยวกับตัวสัตว์เหล่านี้จะทำให้เราสามารถนำมาเตรียมอุปกรณ์สถานที่ต่างๆ ให้เหมาะสมกับสัตว์แต่ละตัวได้

สุนัขและแมวจรจัด, หมาจร, แมวจร, การรับหมาจรจัด, การรับแมวจรจัด

ความเข้าใจ “เรา” คือทำความเข้าใจกับสมาชิกในบ้านเดิมที่มีอยู่ ว่าแต่ละคนมีความพร้อมจะรับสมาชิกใหม่และยินดีจะรับสมาชิกใหม่เข้ามาแค่ไหน

ในกรณีที่เดิมเรามีสัตว์เลี้ยงอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นสุนัขหรือแมวก็ควรพิจารณาความเป็นไปได้ว่าสมาชิกเก่าของเรากับน้องใหม่ที่กำลังจะรับเข้ามาจะสามารถอยู่ร่วมกันได้หรือไม่ และถ้าอยู่ร่วมกันไม่ได้จะมีแผนการรับมืออย่างไร

นอกจากทำความเข้าใจกับสมาชิกในบ้านแล้ว สมาชิกรอบบ้านก็สำคัญ เช่น ที่อยู่อาศัยที่เราอยู่มีกฎห้ามเลี้ยงสัตว์หรือไม่ เพื่อนบ้านเรามีสัตว์เลี้ยงหรือไม่และเขายินดีกับการเลี้ยงสัตว์มากน้อยแค่ไหน

เมื่อมีความเข้าใจแล้ว ความรู้ก็ต้องมาควบคู่กันค่ะ ความรู้เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงสัตว์ทั้งในเรื่องของการกินอยู่ กินอาหารแบบไหน อาหารแบบไหนห้ามกิน การดูแลทำความสะอาด ความรู้เรื่องพฤติกรรมสัตว์ การฝึกสอนคำสั่ง และการขับถ่าย ที่สำคัญคือการดูแลเรื่องสุขภาพ ทั้งการทำวัคซีน การถ่ายพยาธิ การป้องกันเห็บหมัด ซึ่งความรู้ส่วนนี้เราจะมาพูดถึงเป็นลำดับถัดไปนะคะ

2. เตรียมอุปกรณ์และสถานที่

อุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้พื้นฐาน เช่น ปลอกคอ สายจูง ชามข้าว ชามน้ำ ถาดรองสำหรับขับถ่ายของสุนัข กระบะทรายและทรายสำหรับการขับถ่ายของแมว แชมพูอาบน้ำ อาหารสุนัขหรืออาหารแมว ที่นอน ที่แปรงขนสำหรับสุนัขและแมวที่มีขนยาว เป็นต้น

อุปกรณ์อื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ของเล่น ขนม เสื้อ รองเท้า เป็นต้น สำหรับการจัดเตรียมเรื่องสถานที่ทั้งที่กิน ที่นอน บริเวณสำหรับขับถ่าย บริเวณสำหรับวิ่งเล่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสุนัขที่มีขนาดตัวใหญ่ ต้องจัดเตรียมให้เหมาะสมกับขนาดตัวของสัตว์เลี้ยง และเหมาะสมสำหรับบ้าน และการอยู่อาศัยของเราเองด้วยค่ะ

3. เตรียมเงินและเวลา

ถือเป็นปัจจัยสำคัญกับเรื่องเงินและเวลา แน่นอนว่าเมื่อมีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นในบ้าน ค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนย่อมเพิ่มขึ้น เช่น ค่าอาหาร ค่าวัคซีน ค่ายาป้องกันเห็บหมัด เป็นต้น แล้วยังรวมถึงกรณีที่น้องหมาหรือน้องแมวเกิดความเจ็บป่วยต้องไปพบสัตวแพทย์อีกด้วย ไม่ต่างจากการมีลูกเพิ่ม 1 คนเลยค่ะ

ปัจจุบันจึงเริ่มมีผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ประกันสุขภาพของสัตว์เลี้ยงออกมาให้เห็นกันมากขึ้น เรื่องเวลาก็เช่นกัน เพราะสิ่งมีชีวิตไม่ได้ต้องการแค่ข้าวปลาและที่พักอาศัย แต่ต้องการเวลาในการดูแลเอาใจใส่ มีเวลาดูแลความสะอาด มีเวลาฝึกสอนคำสั่ง มีเวลาวิ่งเล่นด้วยกันบ้าง ยามเจ็บป่วยยิ่งต้องการเวลาในการพาไปพบสัตวแพทย์ เรื่องเงินและเวลาจึงเป็นสิ่งที่เจ้าของควรจะเตรียมตัวอย่างดีมาก ๆ ก่อนจะรับน้องมาเลี้ยงสักตัวค่ะ

หลังรับสุนัขหรือแมวจรจัดมาเลี้ยงแล้วต้องทำอะไรบ้าง

เมื่อตัดสินใจรับเลี้ยงสุนัขและแมวจรจัดแล้ว ในวันที่ไปรับน้องมาจากสถานที่พักพิง ควรสอบถามประวัติสุขภาพของสัตว์ที่เราจะรับมาเลี้ยง ประวัติสุขภาพที่สำคัญ ได้แก่

  • ประวัติการทำวัคซีน (ทำวัคซีนโรคไหนมาแล้วบ้าง ทำมาเมื่อไหร่ มีสมุดวัคซีนมาด้วยไหม)
  • ประวัติการถ่ายพยาธิ
  • ประวัติการทำหมัน
  • โรคประจำตัวอื่น ๆ (ถ้ามี) พร้อมกับเช็คร่างกายภายนอกว่ามีบาดแผลหรืออะไรที่ผิดปกติหรือไม่

สิ่งที่ต้องทำต่อมาคือ “การเฝ้าระวังโรค” (Quarantine Period) ในช่วงแรกของการรับมาเลี้ยง ระยะเวลาประมาณ 7-14 วันแรก

หลังรับสัตว์จรจัดมาเลี้ยงควรเฝ้าระวังอาการผิดปกติที่อาจเกิดจากโรคแฝงที่มาพร้อมกับตัวสัตว์ เช่น การติดเชื้อต่าง ๆ แต่อยู่ในระยะฟักตัวไม่แสดงอาการทันทีในวันแรกที่รับมาเลี้ยง

การย้ายบ้านใหม่ เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เจอกับผู้คนใหม่ ๆ เป็นปัจจัยสำคัญของความเครียด ซึ่งอาจทำให้สัตว์ที่มีโรคแฝงเหล่านี้แสดงอาการผิดปกติออกมาได้ ที่สำคัญคือถ้าบ้านไหนมีสัตว์เลี้ยงตัวเดิมอยู่แล้ว ระยะเวลาเฝ้าระวังโรคนี้ควรแยกสัตว์เลี้ยงเดิม กับสัตว์ที่รับมาใหม่ออกจากกันก่อนค่ะ

สุนัขและแมวจรจัด, หมาจร, แมวจร, การรับหมาจรจัด, การรับแมวจรจัด

แน่นอนว่าหลังจาก รับเลี้ยงสุนัขและแมวจรจัด ควรพาไปพบสัตวแพทย์ ในวันแรกหลังจากรับมาเลี้ยง เพื่อให้คุณหมอตรวจร่างกายเบื้องต้น หรือถ้าพบความผิดปกติที่เรามองข้ามไปจะได้ดำเนินการตรวจรักษาอย่างทันท่วงที

สิ่งที่ควรตรวจเมื่อรับสัตว์จรจัดมาเลี้ยง ได้แก่ การตรวจร่างกายเบื้องต้น การตรวจหาไข่พยาธิจากอุจจาระ การตรวจเลือด การตรวจชุดทดสอบโรคเบื้องต้น (Test kit) เป็นต้น  

โดยการตรวจเลือดจะมีการตรวจนับเม็ดเลือด (Complete blood count, CBC) เพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด การตรวจเลือดเพื่อดูค่าชีวเคมีในเลือด (Blood chemistry) เช่น ค่าเอนไซม์ตับ ค่าของเสียในเลือด ค่าการทำงานของไต เป็นต้น

สำหรับการตรวจชุดทดสอบโรคเบื้องต้น (Test kit) สามารถช่วยในการหาโรคในสุนัขและแมวได้หลายโรค มีทั้งการตรวจจากอุจจาระ เช่น โรคไวรัสลำไส้อักเสบติดต่อในสุนัข (Canine Viral Enteritis) โรคไข้หัดแมว (Feline Panleukopenia)

การตรวจจากสิ่งคัดหลั่ง น้ำมูก ขี้ตา เช่น โรคไข้หัดสุนัข (Canine Distemper) หรือใช้เลือดในการตรวจ เช่น โรคพยาธิในเม็ดเลือด โรคเอดส์และลิวคีเมียแมว เป็นต้น

โดยเฉพาะในแมวจรจัดอาจจะได้รับเชื้อไวรัสกลุ่ม Retrovirus ได้แก่ Feline immunodeficiency virus (FIV) หรือ โรคเอดส์แมว และ Feline leukemia virus (FeLV) หรือโรคลิวคีเมียแมว มาได้โดยไม่แสดงอาการ

ไวรัสในกลุ่มนี้เมื่อติดเชื้อแล้ว เชื้อจะหลบซ่อนอยู่ในร่างกายตลอดไปแม้อาการภายนอกจะปกติก็ตาม จึงเป็นความเสี่ยงโดยเฉพาะในบ้านที่มีแมวตัวเดิมที่เคยตรวจแล้วว่าไม่ติดไวรัสกลุ่มนี้ อาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อไวรัสจากแมวตัวใหม่ให้แมวตัวเดิมของเราได้

การตรวจอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากนี้สัตวแพทย์อาจพิจารณาตรวจเพิ่มเติมตามอาการที่แสดงหรือความผิดปกติที่พบหลังจากทำการตรวจร่างกายเบื้องต้นแล้ว

บางครั้งเราอาจพบปัญหาไม่ทราบประวัติและอายุที่แน่นอนของสุนัขหรือแมวจรจัดที่รับมาเลี้ยง สัตวแพทย์สามารถช่วยประเมินอายุจากฟันของสัตว์เหล่านี้ได้อย่างคร่าว ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลูกสัตว์

โดยฟันน้ำนมทุกซี่จะครบที่อายุประมาณ 2 เดือน ฟันตัด (Incisor) จะเริ่มขึ้นที่อายุประมาณ 2-4 สัปดาห์ในลูกแมว หรือ 4-6 สัปดาห์ในลูกสุนัข ฟันเขี้ยว (Canine) จะเริ่มขึ้นที่อายุ 3-4 สัปดาห์ และฟันกรามน้อย (Premolar) จะเริ่มขึ้นที่อายุ 4-6 สัปดาห์ เป็นต้น

สุนัขและแมวจรจัด, หมาจร, แมวจร, การรับหมาจรจัด, การรับแมวจรจัด

เมื่อตรวจสุขภาพแล้วสัตวแพทย์จะทำการวางแผนการดูแลด้านสุขภาพในสุนัขและแมวที่ควรจะทำ ได้แก่

  • การป้องกันเห็บหมัดและพยาธิภายนอก
  • การถ่ายพยาธิภายใน
  • การทำวัคซีน

ทั้ง 3 อย่างนี้ควรทำอย่างเป็นประจำตามนัดของสัตวแพทย์ ซึ่งการป้องกันเห็บหมัดและพยาธิภายนอก ก็มีผลิตภัณฑ์ให้เลือกใช้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของตัวสัตว์เองและความสะดวกของเจ้าของด้วยเช่นกัน

ที่เห็นอย่างแพร่หลายคือในรูปของยาหยดหลังคอ ซึ่งมีทั้งแบบหยดทุก 4 สัปดาห์และหยดทุก 12 สัปดาห์ รูปแบบปลอกคอก็เริ่มมีความแพร่หลายมากขึ้นสะดวกต่อการใช้งานและมีอายุการใช้ที่นานขึ้น หรือเลือกใช้ผลิตภัณฑ์แบบกินทั้งแบบ 4 สัปดาห์และ 12 สัปดาห์ได้เช่นกัน ซึ่งผลิตภัณฑ์แบบกินบางชนิดสามารถครอบคลุมถึงพยาธิภายในลำไส้หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ด้วย

การถ่ายพยาธิอย่างเป็นประจำก็เป็นสิ่งที่ควรจะทำ โดยความถี่ในการถ่ายพยาธิขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงที่จะได้รับพยาธิ สำหรับุสนัขและแมวจรจัดมีความเสี่ยงสูงในการติดพยาธิมาก่อนหน้าที่เราจะรับมาดูแล จึงจำเป็นต้องถ่ายพยาธิหลังรับมาเลี้ยง

ความถี่ในการถ่ายพยาธิอาจจะเป็นทุก 1 เดือน 3 เดือน หรือ 6 เดือน และต้องเลือกใช้ยาที่เหมาะสมเพราะพยาธิมีหลายชนิดทั้งพยาธิตัวกลม พยาธิตัวแบน พยาธิตัวตืด

ยาแต่ละชนิดที่ใช้ก็มีความสามารถในการกำจัดพยาธิแตกต่างกันไป ซึ่งการตรวจไข่พยาธิสามารถช่วยบอกได้คร่าว ๆ หากพบไข่พยาธิในอุจจาระว่ามีการติดพยาธิชนิดไหน เพื่อจะได้เลือกยาที่ครอบคลุมถึงพยาธิที่พบในอุจจาระ

สุนัขและแมวจรจัด, หมาจร, แมวจร, การรับหมาจรจัด, การรับแมวจรจัด

อย่างไรก็ตาม การตรวจไม่พบไข่พยาธิในอุจจาระไม่ได้แปลว่าสุนัขหรือแมวตัวนั้นไม่มีการติดพยาธิ ในกรณีนี้เราจะเลือกใช้ยาที่มีความสามารถในการกำจัดพยาธิแบบกว้างหรือได้ชนิดพยาธิที่หลากหลายนั่นเอง

สัตวแพทย์จะตรวจสอบประวัติการทำวัคซีนจากข้อมูลเดิม โดยในสุนัขและแมวจะมีวัคซีนหลัก (Core vaccine) ซึ่งจำเป็นต้องฉีดในสุนัขและแมวทุกตัว เช่น วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า และวัคซีนที่แนะนำให้ฉีด (Recommended vaccine) เช่น วัคซีนโรคลิวคีเมียแมว ซึ่งจำเป็นจะต้องตรวจเลือด เพื่อหาเชื้อไวรัสก่อนการฉีดวัคซีน

หากพบว่าวัคซีนโรคใดที่ยังไมได้ฉีดมาก่อนและมีความจำเป็นหรือแนะนำให้ฉีดสัตวแพทย์จะพิจารณาทำวัคซีนเพิ่มเติม และทำการนัดหมายการฉีดวัคซีนครั้งต่อไปให้สอดคล้องกับประวัติวัคซีนเดิม

สุนัขและแมวจรจัด, หมาจร, แมวจร, การรับหมาจรจัด, การรับแมวจรจัด

 โรคที่พบได้บ่อยในสุนัขและแมวจรจัด

1. โรคติดเชื้อไวรัส

เป็นโรคยอดฮิตติดอันดับของสุนัขและแมวจรจัดที่ถูกรับมาเลี้ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับมาเลี้ยงจากสถานพักพิงสัตว์หรือมูลนิธิ ที่มีการเลี้ยงสุนัขและแมวจรจัดอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก

ความแออัด การอยู่รวมกันของสัตว์ต่างชนิด (สุนัขและแมวอยู่ร่วมกัน) การอยู่รวมกันของสัตว์ต่างอายุ การมีสุนัขและแมวเข้ามาใหม่อยู่เสมอ ทำให้สัตว์ที่อยู่สถานที่เหล่านี้เกิดความเครียด ภูมิคุ้มกันลดลง ภูมิคุ้มกันของฝูงไม่เท่ากัน เพราะบางตัวมีการทำวัคซีน บางตัวไม่มีการทำวัคซีน มีการอยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิด ทำให้ง่ายต่อการติดเชื้อมากขึ้น

เชื้อโรคต่าง ๆ ก็จะหมุนเวียนอยู่ในสถานพักพิงนั้น ๆ สัตว์ที่ไวต่อการติดเชื้อ เช่น กลุ่มลูกสุนัขหรือลูกแมว สุนัขหรือแมวแก่ สุนัขหรือแมวที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันที่บกพร่องของตัวเองอยู่แล้ว การขาดสารอาหารทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง การเป็นโรคเรื้อรังก็เป็นปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อง่ายขึ้นเช่นกัน

  • โรคไวรัสที่สำคัญในแมว ได้แก่
  1. โรคหวัดแมว จากเชื้อ Feline Herpesvirus หรือเชื้อ Feline Calicivirus ซึ่งแพร่กระจายได้ง่ายมากในบริเวณที่มีแมวมาอยู่รวมกันอย่างแออัด แมวจะมีน้ำมูก เป็นแผลในช่องปากและเยื่อบุรอบตาบวมแดง เป็นต้น
  2. โรคไข้หัดแมว จากเชื้อ Feline Parvovirus ทำให้แมวแสดงอาการท้องเสีย
  3. โรคช่องท้องอักเสบติดต่อ หรือ Feline Infectious Peritonitis จากเชื้อ Feline Coronavirus ในระยะแรกของการติดเชื้ออาจพบอาการท้องเสีย และถ้าเป็นโรครุนแรงขึ้นจะมีอาการท้องกางจากการมีน้ำสะสมในช่องท้อง และโรคไวรัสที่ได้กล่าวถึงไปแล้วข้างต้นอย่าง
  4. โรคเอดส์แมว จากเชื้อ Feline immunodeficiency virus
  5. โรคลิวคีเมียแมว จากเชื้อ Feline leukemia virus
  • โรคไวรัสที่สำคัญในสุนัข ได้แก่
  1. โรคลำไส้อักเสบ จากเชื้อ Canine Parvovirus ทำให้สุนัขมีอาการอาเจียน ท้องเสียรุนแรง ขาดน้ำ อ่อนแรง
  2. โรคไข้หัดสุนัข จากเชื้อ Canine Distemper Virus พบสุนัขมีอาการซึม มีน้ำมูกข้น ขี้ตา ไอ
  3. โรคไข้หวัดใหญ่ในสุนัข จากเชื้อ Canine Influenza ซึ่งจะมีอาการ ไอ ซึม มีน้ำมูก เช่นกัน

2. โรคพยาธิในเม็ดเลือด

โรคพยาธิในเม็ดเลือดเกิดจากเชื้อในกลุ่มโปรโตซัว (Protozoa) หรือบางชนิดเป็นกลุ่มริกเกตเซีย (Rickettsia) โดยมีเห็บเป็นพาหะในการนำเชื้อไปติดยังสุนัขหรือแมว

สุนัขหรือแมวจรจัดมักจะมีปัญหาการติดเห็บมาพร้อมกันอยู่แล้ว หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีเห็บเยอะมากก่อนทำให้มีโอกาสในการโดนเห็บกัดและติดเชื้อพยาธิเม็ดเลือดมาได้สูง

เมื่อติดมาแล้วพยาธิในเม็ดเลือดเหล่านี้จะทำลายเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว หรือเกล็ดเลือดแล้วแต่ชนิดของพยาธิเม็ดเลือด ทำให้สัตว์แสดงอาการที่สำคัญคือ เยื่อเมือกซีดลง จากสีชมพูระเรื้อจะกลายเป็นชมพูซีด หรือในบางรายที่มีภาวะโลหิตจางรุนแรงจะพบว่ามีเยื่อเมือกสีขาว หรือขาวเหลืองได้เลย

การรักษาโรคพยาธิเม็ดเลือดสามารถทำได้โดยการให้ยาที่ทำลายเชื้อพยาธิเม็ดเลือด ซึ่งมีความจำเพาะต่อชนิดของเชื้อ จึงต้องผ่านการตรวจวินิจฉัยโดยห้องปฏิบัติการก่อนเพื่อประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีที่สุด

นอกจากการรักษาโดยการทำลายเชื้อแล้ว จำเป็นจะต้องมีการรักษาตามอาการร่วมด้วย ซึ่งแล้วแต่ความรุนแรงของอาการ หากมีภาวะโลหิจจากรุนแรงต้องพิจารณาการให้เลือด (Blood Transfusion)

3. โรคผิวหนัง

ปัญหาโรคผิวหนังที่พบจากสุนัขหรือแมวจรจัดมักเป็นปัญหาจากการติดเชื้อที่ผิวหนัง โดยเชื้อสาเหตุ ได้แก่ ปรสิตภายนอก เช่น ไรขี้เรื้อนเปียก ไรขี้เรื้อนแห้ง เห็บ หมัด การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง และการติดเชื้อราที่ผิวหนัง

ปัญหาโรคผิวหนังเหล่านี้มักแสดงอาการคล้ายกันคือ ขนร่วง มีอาการคันตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย บางบริเวณอาจจะไม่พบพฤติกรรมการเกา แต่พบเป็นการเลียที่บริเวณนั้นบ่อยเป็นพิเศษ หรือชอบเอาลำตัวส่วนต่าง ๆ ไปถูไถตามผนัง รั้ว หรือกรง มีรอยผืนแดง ตุ่มแดง แผล หรือสะเก็ดตามร่างกาย

รอยโรคที่ผิวหนังเหล่านี้อาจพบแค่เฉพาะบริเวณ หรือพบกระจายทั่วไปทั้งตัวก็ได้ แม้ว่าลักษณะอาการที่พบจะคล้ายกัน แต่ยาที่ใช้ไม่เหมือนกัน จึงควรพาไปพบสัตวแพทย์ เพื่อหาสาเหตุของโรค และใช้ยาในการรักษาได้ถูกต้องต่อไป

4. โรคขาดสารอาหาร

อีกหนึ่งปัญหาที่พบในสุนัขและแมวจรจัดได้บ่อยครั้ง คือการขาดสารอาหาร (Malnutrition) ซึ่งเกิดจากการขาดอาหาร การได้รับอาหารไม่เพียงพอ หรือการได้รับการไม่ครบถ้วน

มักพบว่าสัตว์เหล่านี้จะมีน้ำหนักตัวน้อย มีคะแนนร่างกาย (Body Condition Score) จากการประเมินของสัตวแพทย์น้อยกว่าปกติ ผอมเห็นกระดูก ปริมาณกล้ามเนื้อน้อย ขนหยาบกร้าน

การที่ร่างกายขาดสารอาหารย่อมส่งผลต่อการทำงานของระบบอื่น ๆ ของร่างกายด้วยเช่นกัน ทำให้ติดเชื้อ (ที่กล่าวมากข้างต้น) ได้ง่ายมากขึ้น ถ้าเป็นแผลจากการต่อสู้กับสัตว์ตัวอื่น ก็มักจะพบว่าเป็นแผลติดเชื้อเรื้อรัง หายช้า

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขภาวะขาดสารอาหารนี้ควรได้รับอาหารที่เหมาะสมตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ หรือสัตวแพทย์เฉพาะทางด้านโภชนาการ เพราะการให้อาหารที่มากและเยอะเกินไปอาจทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี คืออาจเกิดภาวะ Refeeding Syndrome ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตตามมาได้เช่นกัน

นอกจาก 4 โรคหลัก ๆ ที่พบได้บ่อยจากสุนัขและแมวที่รับมาเลี้ยงแล้ว ยังมีโรคอื่น ๆ ที่มีโอกาสเจอได้เช่นกัน ดังนั้นเมื่อรับน้องมาเลี้ยงแล้ว เราก็ควรสังเกตอาการ ความผิดปกติต่างๆ ให้ละเอียด ถ้าพบอาการหรือสิ่งผิดปกติ หรือไม่แน่ใจว่าอาการแบบนี้เป็นเรื่องปกติหรือผิดปกติ หรือมีคำถามอื่นๆ เพิ่มเติมก็ควรพาสัตว์เลี้ยงของเราไปพบสัตวแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างถูกวิธีเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของสุนัขและแมวจรจัดทุกตัวที่เราตั้งใจรับเขามาดูแลค่ะ

บทความโดย

สพ.ญ.วัลลิยา กาญจนพงศ์กิจ (Wanliya Kanjanaponkit, DVM)

สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์คชาเว็ท


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – แมวฉีดวัคซีนได้ตอนกี่เดือน รวมถึงน้องหมาด้วย