โรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดห้องหัวใจขยายใหญ่ หรือ dilated cardiomyopathy (DCM) เป็นโรคที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจที่พบได้มากที่สุดในสุนัข และถือเป็นโรคหัวใจอันดับที่สองที่พบได้มากรองจากโรคลิ้นหัวใจเสื่อม หรือ degenerative mitral valve disease (DMVD)
โรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดห้องหัวใจขยายใหญ่ เป็นโรคที่พบได้มากในสุนัขพันธุ์ใหญ่ เช่น บ๊อกเซอร์ โดเบอร์แมน เกรทเดน และอาจพบได้บ้างในสุนัขพันธุ์ขนาดกลาง เช่น ค๊อกเกอร์ สเเปเนียล โดยโรคนี้จะพบได้มากในสุนัขอายุมาก
สาเหตุของการเกิดโรค
อาจเกิดจากความผิดปกติของยีน ซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติโดยตรง หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ โน้มนำ เช่น ภาวะหัวใจเต้นเร็วที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานาน ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส หรือโปรโตซัว ความเป็นพิษจากยาบางชนิดที่มีผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง เช่น ยาดอกโซรูบิซิน ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในการรักษามะเร็ง หรืออาจเกิดจากภาวะพร่องฮอร์โมนบางชนิด เช่น ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ นอกจากนั้นอาจเกิดจากการขาดโปรตีนบางชนิด เช่น ทอรีน หรือ แอล คาร์นิทีน ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีความสำคัญต่อการทำงานของหัวใจ การขาดโปรตีนดังกล่าวอาจเกิดจากชนิดของอาหารที่กิน ที่อาจส่งผลต่อเมตาบอริซึมหรือการสร้างโปรตีน เมื่อระดับโปรตีน โดยเฉพาะ ทอรีน และ แอล คาร์นิทีน ในหัวใจไม่เพียงพอ ก็จะส่งผลให้การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติตามมา
ลักษณะอาการ
โรค DCM เป็นโรคที่ทำให้เกิดความผิดปกติที่กล้ามเนื้อหัวใจ ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจไม่สามารถบีบตัวได้เป็นปกติ ทำให้เกิดการคงค้างของเลือดภายในหัวใจ และเกิดภาวะหัวใจโต เมื่อหัวใจเสียหน้าที่มากขึ้น จะส่งผลให้เกิดการคั่งเลือดในหลอดเลือดในอวัยวะต่าง ๆ ที่เลี้ยงร่างกาย และเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอด ท้องมานหรือการสะสมของของเหลวในช่องท้อง หรือช่องอก และตามเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง เกิดการบวมน้ำตามร่างกายและปลายขาในที่สุด ซึ่งภาวะดังที่กล่าวมาข้างต้นเรียกว่า ภาวะหัวใจล้มเหลว นอกจากการสะสมของของเหลวตามอวัยวะและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกายแล้ว สุนัขที่เป็นโรคนี้อาจเกิดอาการเป็นลม อ่อนแรง ไม่ทนต่อการออกกำลังกาย เหนื่อยง่าย เนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจทำงานไม่เป็นปกติ จึงไม่สามารถบีบไล่เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ดี นอกจากนั้นสุนัขที่เป็นโรคนี้ยังมีความเสี่ยงสูง ที่จะเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และเกิดภาวะตายเฉียบพลันได้
การวินิจฉัยโรค
สัตวแพทย์สามารถทำการวินิจฉัยโรคนี้ได้โดยการถ่ายภาพรังสี หรือ ภาพเอกซเรย์ เพื่อดูภาวะหัวใจโต หรือ การเกิดภาวะน้ำท่วมปอด รวมทั้งอาจพบการสะสมของของเหลวในช่องอกและช่องท้องได้ นอกจากนั้นสัตวแพทย์อาจทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่อาจเกิดขึ้นร่วมด้วย อย่างไรก็ตามวิธีการที่ดีที่สุดในการวินิจฉัยโรคนี้ คือ การตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง หรือการทำ echocardiography ซึ่งเป็นการตรวจโดยการอัลตร้าซาวด์หัวใจ สัตวแพทย์จะใช้วิธีการนี้ เพื่อตรวจการทำงานของหัวใจ ในช่วงหัวใจหดตัว เพื่อประเมินว่ากล้ามเนื้อหัวใจสามารถบีบตัวได้เป็นปกติหรือไม่ และดูการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างหัวใจที่เกิดขึ้นตามมาเช่น ภาวะหัวใจโต เป็นต้น
การรักษา
การรักษาโรคนี้ จำเป็นต้องหาสาเหตุเบื้องต้น ที่เป็นปัจจัยที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวไม่ปกติ เช่น หากเกิดภาวะหัวใจเต้นเร็ว ต้องรักษาภาวะดังกล่าว โดยการให้ยากลุ่มต้านการเต้นผิดจังหวะ เพื่อควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ในบางกรณีหากได้รับการรักษา และกำจัดสาเหตุได้ทันท่วงที สุนัขอาจหายขาดจากโรคและไม่จำเป็นต้องกินยาหัวใจต่อเนื่องได้ แต่หากรักษาช้า กล้ามเนื้อหัวใจเกิดการเสียหายอย่างถาวรแล้ว สุนัขจำเป็นต้องได้รับยาหัวใจอย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิต เพื่อควบคุมการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ในกรณีที่สงสัยว่าเกิดจากการขาดทอรีน สัตวแพทย์อาจแนะนำให้มีการเปลี่ยนอาหารหรือเสริมทอรีนให้สุนัข โดยระดับทอรีนที่ให้จะขึ้นอยู่กับน้ำหนักของสุนัข โดยมากถ้าได้รับการตรวจในระยะแรก การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจอาจกลับสู่สภาวะปกติได้ภายหลังเสริมทอรีนหรือปรับอาหาร โดยกล้ามเนื้อหัวใจอาจกลับมาทำงานเป็นปกติได้ในช่วง 3-6 เดือน แต่หากไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร็ว อาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเสียหน้าที่โดยถาวรได้
ในกรณีที่ไม่ทราบสาเหตุ หรือเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง จำเป็นต้องรักษาที่ปลายเหตุ สัตวแพทย์จะให้ยา pimobendan เพื่อช่วยเพิ่มการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ และ ให้ยากลุ่มยับยั้งเอนไซม์แองจิโอเทนซิน คอนเวิร์ตติ้ง (angiotensin converting enzyme inhibitor) เพื่อช่วยปรับสมดุลระบบประสาทและฮอร์โมน ช่วยลดการคั่งน้ำและความดันเลือด โดยสัตวแพทย์มักเริ่มจ่ายยาทั้ง 2 ชนิด ตั้งแต่ภายหลังการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ เพื่อช่วยชะลอระยะเวลาที่สุนัขจะเข้าสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว ในกรณีที่สุนัขแสดงอาการป่วยเนื่องจากภาวะหัวใจล้มเหลวแล้ว สัตวแพทย์จะจ่ายยาขับน้ำเพิ่มเพื่อลดภาวะคั่งน้ำและการสะสมของของเหลวในส่วนต่าง ๆของร่างกาย หากสุนัขมีอาการเนื่องจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะสัตวแพทย์จะจ่ายยากลุ่มต้านการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ เพื่อช่วยควบคุมอัตราการเต้น และลักษณะคลื่นไฟฟ้าหัวใจให้เป็นปกติ
วิธีการดูแลสัตว์เลี้ยงเมื่อป่วยเป็น โรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดห้องหัวใจขยายใหญ่
สุนัขที่เป็นโรค DCM มักมีอาการเหนื่อยง่าย และไม่ทนต่อการออกกำลังกาย จึงควรปรับกิจกรรมการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสุนัข เช่น อาจเปลี่ยนจากการวิ่ง เป็นการเดิน หรือลดระยะทางและระยะเวลาในการออกกำลังกาย โดยสังเกตจากอาการสุนัข และปรับให้เหมาะสมตามสุนัขในแต่ละตัว ส่วนเรื่องอาหารควรปรับเป็นกลุ่มโปรตีนคุณภาพสูง ให้พลังงานมากแม้กินในปริมาณน้อย เพื่อลดโอกาสเกิดภาวะผอมแห้งในสุนัขโรคหัวใจ โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์ใหญ่จะมีโอกาสเกิดภาวะนี้ได้สูงกว่าสุนัขพันธุ์เล็ก สัตวแพทย์อาจแนะนำให้มีการเสริมน้ำมันปลาที่มีส่วนประกอบของ โอเมก้า 3 เนื่องจากมีรายงานว่าช่วยลดความรุนแรงของภาวะผอมแห้งในสุนัขโรคหัวใจได้
นอกจากนั้นควรปรับอาหารเป็นอาหารที่มีการควบคุมระดับเกลือให้คงที่ โดยไม่ควรสูงหรือต่ำจนเกินไป เพราะระดับเกลือสูงอาจส่งผลต่อปริมาตรของของเหลวในร่างกาย ส่วนระดับเกลือที่ต่ำอาจส่งผลให้สุนัขอ่อนแรง โดยเฉพาะกลุ่มสุนัขที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว จำเป็นต้องได้รับยาขับน้ำ ซึ่งมีผลต่อการขับเกลือออกจากร่างกาย ด้วยเหตุนี้ เจ้าของจึงควรพาสุนัขเข้าพบสัตวแพทย์เพื่อเฝ้าระวังภาวะเสียสมดุลของเกลือแร่ รวมทั้งการตรวจการทำงานของไตเป็นระยะ ๆ
การพาสุนัขไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ จะช่วยเฝ้าระวังโอกาสการโรค DCM ได้เป็นอย่างดี การตรวจพบโรคในระยะเริ่มแรก ในกรณีที่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงของโรคได้ บางครั้งสามารถช่วยรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ ส่วนในกรณีที่ไม่ทราบสาเหตุ แต่ได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว ก็สามารถชะลอการเข้าสู่ภาวะล้มเหลวโดยการรับยารักษาตั้งแต่ระยะแรกของการป่วยได้เช่นเดียวกัน เจ้าของจึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่จะสามารถช่วยให้สุนัขป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีอายุยืนยาวได้ โดยการดูแลที่ถูกต้องตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
บทความโดย
รศ.สพ.ญ.ดร.สิริลักษณ์ สุรเชษฐพงษ์ (อว. สพ. อายุรศาสตร์)
Assoc. Prof. Sirilak Surachetpong, DVM, MS, PhD, DTBVM, AiCVIM (Cardiology)
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Department of Veterinary Medicine, Faculty of Veterinary Medicine, Chulalongkorn University