เมื่อสุนัขหรือแมวจมูกแห้ง แปลว่าป่วยจริงหรือไม่?

ผู้เลี้ยงสุนัขและแมวส่วนใหญ่มักจะเคยได้ยินมาว่า ความชื้นหรือแห้งของจมูกนั้น สามารถบอกถึงการเจ็บป่วยของสัตว์เลี้ยงได้ และบางครั้งเวลาที่เราเห็น สุนัข หรือ แมวจมูกแห้ง ผิดปกติ ก็อาจจะรู้สึกกังวลว่า ตอนนี้สัตว์เลี้ยงของเรากำลังป่วยอยู่หรือเปล่า หมาจมูกแห้ง

บ้านและสวน Pets คงต้องขอเล่าว่าตามหลักกายวิภาคศาสตร์แล้ว จมูกสุนัขและแมวจะประกอบด้วย รูจมูก (Nares) ขีดแบ่งแยกตรงกลาง (Philtrum) และ พื้นผิวด้านบนปลายจมูกซึ่งเป็นตรงส่วนที่ไม่มีขน (Nasal planum) ซึ่งตรงส่วนที่เรียกว่า Nasal planum นี่ละคือส่วนที่เราสังเกตได้ว่า สุนัข หรือ แมวจมูกแห้ง อยู่หรือไม่

แมวจมูกแห้ง
รูปโครงสร้างจมูกสุนัขและแมว

ปกติแล้วหน้าที่หลักของจมูก คือ การดมกลิ่น ซึ่งจมูกสุนัขสามารถรับกลิ่นได้ดีกว่ามนุษย์ถึงพันเท่า ส่วนอีกหน้าที่สำคัญสำหรับจมูกในสุนัขและแมว คือ การระบายความร้อน โดยบริเวณจมูกและฝ่าเท้าของสุนัขและแมวจะมีต่อมเหงื่อ (Eccrine sweat glands) ซึ่งเป็นต่อมเหงื่อที่มีลักษณะเป็นท่อเปิดออกบนพื้นผิวของผิวหนัง ทำให้สามารถขับน้ำออกมาได้ แต่การระบายความร้อนวิธีนี้ไม่ใช่วิธีหลักที่ร่างกายของสุนัขและแมวใช้ เพราะ การระบายความร้อนของสุนัขและแมวจะระบายออกจะใช้วิธีการการหายใจมากกว่า ซึ่งแตกต่างจากมนุษย์ที่มีต่อมเหงื่ออยู่ที่บริเวณผิวหนัง

แมวจมูกแห้ง
ตารางเปรียบเทียบคุณสมบัติของเหงื่อสุนัขและมนุษย์จากงานวิจัย (อ้างอิง : www.ncbi.nlm.nih.gov)

มีงานวิจัยที่ทดลองเทียบคุณสมบัติของเหงื่อมนุษย์และสุนัขแล้วพบว่า เหงื่อของมนุษย์และสุนัขมีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก เนื่องจากมีองค์ประกอบของน้ำที่คล้าย ๆ กัน แต่ด้วยปริมาณต่อมเหงื่อของสัตว์ที่น้อยกว่ามนุษย์ ทำให้เราไม่เห็นเม็ดเหงื่อที่ชัดเจนเหมือนในมนุษย์หรืออาจทำให้ดูว่าแห้งได้ โดยเฉพาะเมื่อมีปัจจัยเกี่ยวข้อง อย่าง อุณหภูมิ ค่าความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ (ค่าความชื้นสัมพัทธ์ หมายถึง ค่าความหนาแน่นของไอน้ำในอากาศ โดยคิดเป็น % อิ่มตัว) อธิบายให้เห็นภาพโดยง่ายคือ ยิ่งค่าความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูงกว่า 60-70% ซึ่งเป็นค่าความชื้นที่เหมาะสม (สูงสุดที่100%) เราจะรู้สึกว่าอากาศชื้น น้ำจากร่างกายก็จะไม่ระเหยออกมา การระบายเหงื่อลดลง และเหงื่อแห้งช้า แต่ถ้าความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศต่ำ น้ำหรือเหงื่อที่ออกมาจะแห้งเร็วในอุณหภูมิที่เท่ากัน ทำให้ผิวแห้งและคันได้ ประเทศไทยเราบางฤดูก็มีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ เช่น ในฤดูหนาว ทำให้ในฤดูนี้เราอาจเห็นว่าสัตว์เลี้ยงมีจมูกที่แห้งได้เหมือนกับประเทศแถบยุโรปที่มีอากาศหนาวและความชื้นต่ำ หรืออีกกรณีคือเจ้าของเลี้ยงน้องในห้องแอร์ ซึ่งการเปิดแอร์ก็จะทำให้ในห้องมีอุณหภูมิต่ำและความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ และทำให้สัตว์ผิวและจมูกแห้งได้เช่นกัน

นอกเหนือจากที่กล่าวจข้างต้นว่า จมูกแห้งเป็นจากผลของอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์แล้ว จมูกแห้งได้จากภาวะแห้งน้ำที่เกิดจากการที่ร่างกายสูญเสียน้ำ สัตว์จะมีการลดการขับเหงื่อออกมา หรือในกรณีที่แห้งเป็นสะเก็ดหรือสีผิวบนจมูกเปลี่ยนไปก็อาจจะทำให้ดูเหมือนกับจมูกแห้งได้ โดยโรคที่เกิดขึ้นกับผิวหนังบริเวณจมูกและทำให้ดูเหมือน “จมูกแห้ง” อาจเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ดังนี้

1. ภาวะที่เกิดการหนาตัวของผิวหนังชั้นนอก (Hyperkeratotic Conditions)

เกิดจากการรวมตัวกันของเยื่อบุผิวหนังที่ลอกหลุด ทำให้เห็นเป็นจมูกที่มีสะเก็ดหนา หรือบางตัวก็ลอกหลุดแล้วทำให้สีจมูกเปลี่ยนไป โดยภาวะนี้ไม่สามารถรักษาได้ แต่สามารถทำให้จมูกที่แข็งนิ่มลงได้ โดยการทาด้วยปิโตรเลี่ยมเจลลี่ (วาสลีนในบ้านเรา) แต่ถ้าเมื่อไรที่มีการลอกหลุดจนเกิดแผลหรืออักเสบ ต้องรีบพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการรักษา

2.โรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อจากแบคทีเรีย (Mucocutaneous Pyoderma)

มักจะเกิดหลังจากมีโรคอื่นมาโน้มนำ เช่นโรคภูมิแพ้ เป็นต้น โดยเชื้อที่มักพบมักจะเป็นแบคทีเรียในกลุ่ม Staphylococcus และอาการที่พบคือ มักจะมีสะเก็ดลอก ผิวหนังแดง เป็นหนองร่วมด้วย

3.โรคผิวหนังจากเชื้อรา (Dermatophytosis)

เช่น โรคกลาก (Ringworm) ซึ่งพบเจอได้บ่อยในพันธุ์ยอร์กเชียร์ เทอร์เรียร์ (Yorkshire Terrier) , โรคจากการติดเชื้อราชนิด Trichophyton mentagrophytes ในสุนัข และการติดเชื้อราชนิด Microsporum canis ในแมว โดยเฉพาะแมวขนยาว เช่น พันธุ์เปอร์เซีย (Persia) เป็นต้น โรคติดเชื้อรานี้มักจะทำให้เกิดสะเก็ด รูขุมขนอักเสบ แดง และเจ็บปวดได้

4.โรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตัวเอง/โรคออโตอิมมูน (Autoimmune disease)

เกิดจากการที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันมาต่อต้านเซลล์ผิวหนังตัวเอง เช่น โรคเพมฟิกัส (Pemphigus Foliaceus) ทำให้ผิวลอกหลุดและเป็นสะเก็ด ทำให้เกิดการเจ็บปวด โดยอาจเห็นจากภายนอกเป็นตุ่มน้ำ และมีสะเก็ดลอกหลุด จมูกเปลี่ยนสี หรือ โรค DLE (Discoid lupus erymytosus) ซึ่งเจอได้ในสุนัขมากกว่าแมว โดยเฉพาะพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ (Siberian Husky) หรือ เยอรมันเชพเพิร์ด (German Shepherd) โดยโรคนี้ทำให้เกิดการลอกหลุดและบาดเจ็บที่จมูกเช่นเดียวกับโรคเพมฟิกัส และยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แท้จริง โรคกลุ่มภูมิคุ้มกันนี้ควรจะต้องระวังเรื่องของการพาน้อง ๆ ไปอยู่ในที่แจ้ง เนื่องจากรังสีอัลตร้าไวโอเล็ต (UV) จะไปกระตุ้นกระบวนการอักเสบทำให้อาการของโรคแย่ลงได้

5.โรคมะเร็ง (Cancer)

โรคมะเร็งบน Nasal planum พบได้ในแมวมากกว่าสุนัข โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งชนิด Squamous cell carcinoma (SCC) ซึ่งเป็นมะเร็งที่พัฒนาตัวเองได้เร็วและลามได้ไว มักพบในแมวและสุนัขที่อยู่กลางแจ้งบ่อย (เนื่องจากรังสี UV จะไปกระตุ้นให้เนื้องอกชนิดนี้พัฒนาตัวเอง) โดยอาการที่พบคือมีแผลหรือการตกสะเก็ดตามจมูก หู หรือ ขอบตา และมะเร็งชนิดนี้ยังสามารถพบในสุนัขได้ด้วย โดยมักพบในสุนัขและแมวที่มีขนสีขาวมากกว่าขนสีเข้ม

6. ความผิดปกติของสีจมูกแบบไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic nasal depigmentation)

เป็นภาวะที่จมูกเปลี่ยนสีแต่ไม่มีผลต่อลักษณะรูปร่างพื้นผิวของจมูก อาจจะมีเรื่องของสภาพอากาศหรือพันธุ์โน้มนำ เช่น Snow nose (winter nose) ที่เกิดจากสภาพอากาศที่หนาวทำให้สีของจมูกเปลี่ยนไป โดยมักพบว่าจะเปลี่ยนจากสีดำเป็นชมพู มักพบในสุนัขสายพันธุ์แถบอาร์คติก เช่นพันธุ์ ไซบีเรียน ฮัสกี้ (Siberian Husky) เป็นต้น

7.โรคด่างขาว (Vitiligo)

ที่เกิดจากการที่เม็ดสีที่จมูกโดนทำลายอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือนส่งผลให้สีที่จมูกเปลี่ยนไป โดยอาจเป็นจากกรรมพันธุ์โน้มนำก็ได้ โดยภาวะเหล่านี้มีผลต่อความสวยงาม แต่ไม่ได้มีผลต่อสุขภาพ โดยโรคนี้สามารถพบได้ในสุนัขหลายๆพันธุ์ เช่น เยอรมันเชพเพิร์ด (German Shepherd) ร็อตไวเลอร์ (Rottweiler) และ ดัชชุน (Dachshund) และยังสามารถพบได้ในแมวเช่นกัน เช่น พันธุ์วิเชียรมาศ (Siamese cat)

จากโรคที่กล่าวมาข้างต้น ก็ทำให้เกิดภาวะจมูกแห้งได้เหมือนกัน นอกเหนือจากที่กล่าวไว้ ยังมีโรคอีกหลายโรคที่ส่งผลต่อจมูกของสัตว์เลี้ยง สัตว์ที่ป่วยบางทีก็อาจจะมีจมูกที่เปียกชื้นได้เช่นกัน เช่น กรณีสัตว์ป่วยเป็นหวัดมีน้ำมูก ทำให้จมูกดูแฉะตลอดเวลา เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปคือ “สุนัข และ แมวจมูกแห้ง ไม่ได้แปลว่า ป่วยเสมอไป” การที่สัตว์จมูกเปียกชื้นก็ไม่ได้แปลว่า เขามีสุขภาพดีอีกเช่นกัน ดังนั้นเจ้าของต้องสังเกตอาการผิดปกติร่วมนอกเหนือจากการสังเกตจมูก เช่น ซึม ไม่ค่อยเล่นเหมือนเดิม ไม่ทานอาหาร ตัวร้อน อาจจะบ่งชี้ว่าน้อง ๆ กำลังป่วยอยู่ ควรพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยหาสาเหตุต่อไป

บทความโดย

สพ.ญ.ภูมิพัฒน์ ธนารัตนาพิสิฐ
Dr.Bhumiphat Tanarattanapisith
โรงพยาบาลสัตว์ปาริชาต สุวินทวงศ์
Parichart Suwinthawong Animal Hospital

ติดตามข้อมูลจาก บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่