ทำไม แมวฉี่ไม่ออก : ปัญหาเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะในแมว

ทำไม แมวฉี่ไม่ออก หนึ่งในปัญหาความกังวลใจ ที่คุณพ่อคุณแม่แมวไม่อยากพบเจอ

เมื่อ แมวฉี่ไม่ออก สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากปัญหาในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยแมวมักจะแสดงออกถึงสัญญาณบางอย่างที่บอกให้เรารู้ว่า พวกเขากำลังต้องการความช่วยเหลือจากเรา

ต้นตอของปัญหาในระบบทางเดินปัสสาวะในแมว เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ไม่ว่าจะเป็นกระเพาะปัสสาวะ ไต หรือทางเดินปัสสาวะ
  • การเกิดนิ่วในไต
  • ท่อปัสสาวะอุดตัน

โดยสาเหตุเหล่านี้ทำให้แมวแสดงการขับปัสสาวะผิดปกติ จากเดิมที่เคยเข้าออกกระบะทรายเป็นประจำ หรือฉี่เสร็จแล้วกลบทราย แมวอาจจะเริ่มขับปัสสาวะไม่เป็นที่ ใช้เวลาในกระบะทรายนานกว่าปกติ หรือกลบทรายทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ฉี่ออกมา

แมวฉี่ไม่ออก, แมวฉี่นอกกระบะทราย

อาการต่าง ๆ ที่แสดงสัญญาณว่า แมวของเรากำลังมีปัญหาในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งแมวอาจจะแสดงออกมากกว่าหนึ่งอาการ

  • ปัสสาวะเป็นเลือด
  • เดินเข้ากระบะทรายบ่อยขึ้น
  • ปริมาณปัสสาวะน้อยลง
  • เบ่งปัสสาวะ คล้ายกับการเบ่งอุจจาระ
  • ปัสสาวะนอกกระบะทราย
  • เลียบริเวณอวัยวะเพศ
  • ส่งเสียงร้องดังและบ่อยขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • เซื่องซึม หรือพยายามซ่อนตัว
  • กินอาหารน้อยลงกว่าปกติอย่างเห็นได้ชัด
  • อาเจียน หรือท้องเสีย

ในบางครั้ง การสังเกตอาการที่กล่าวมาข้างต้นอาจทำได้ยาก เนื่องจากแมวมักไม่แสดงความเจ็บปวดจนกระทั่งอาการรุนแรงมากขึ้น ถ้าเจ้าของไม่มั่นใจว่าแมวกำลังมีปัญหาในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือไม่ ลองนำแมวเข้าไปในห้องน้ำ ประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง พร้อมกับกระบะทราบ แล้วตรวจสอบดูว่า แมวฉี่ออกมาหรือไม่

ในกรณีที่เจ้าของสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่า แมวกำลังเผชิญกับปัญหาในระบบทางเดินปัสสาวะ ให้พาแมวไปพบสัตวแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคทันที เนื่องจากผลกระทบของการฉี่ไม่ออกค่อนข้างเป็นปัญหาสุขภาพที่น่ากังวล และเกี่ยวข้องกับสุขภาพโดยรวมของแมว

แมวฉี่ไม่ออก, แมวฉี่นอกกระบะทราย

การวินิจฉัยโดยสัตวแพทย์เมื่อ แมวฉี่ไม่ออก

สัตวแพทย์จะเริ่มต้นด้วยการซักประวัติกับเจ้าของเกี่ยวกับอาการของแมวก่อนจะมาถึงโรงพยาบาลสัตว์ เบื้องต้นสัตวแพทย์จะเริ่มจากการคลำเบา ๆ ไปที่หน้าท้องของแมว จากนั้น จำเป็นจะต้องตรวจเลือด เพื่อดูค่าเคมีของเลือดประกอบด้วย

นอกจากนี้ การวินัจฉัยอาจจำเป็นต้องเอกซ์เรย์ หรืออัลตราซาวด์ช่องท้อง เพื่อให้เห็นสาเหตุของการอุดตันในระบบทางเดินปัสสาวะ

การรักษาอาการแมวฉี่ไม่ออก

การรักษาของสัตวแพทย์ มักจะพุ่งเป้าไปที่การรักษาต้นเหตุของอาการ ร่วมกับการให้สารน้ำเข้าเส้นเลือดดำ และให้ยาแก้ปวด เพื่อปรับสภาพร่างกายของแมวให้พร้อมในกรณีที่ต้องวางยาสลบ และผ่าตัด ถ้าจำเป็นต้องผ่าตัดเอาสิ่งที่อุดตัน หรือกีดขวางทางเดินปัสสาวะออก

ก่อนการผ่าตัด สัตวแพทย์จะสวนสายปัสสาวะเข้าไปที่ปัสสาวะของแมว ซึ่งในแมวบางตัว ขบวนการนี้จะเป้นการช่วยดันก้อนนิ่วที่อุดตันท่อปัสสาวะให้เข้าไปในกระเพาะปัสสาวะได้ โดยการผ่าตัดเอานิ่วออกจากกระเพาะปัสสาวะจะซับซ้อนน้อยกว่า

อย่างไรก็ตาม ในแมวที่เกิดปัญหาบริเวณท่อปัสสาวะจริง ๆ สัตวแพทย์จำเป็น้องผ่าตัดแก้ไขการอุดตัวโดยตรงที่ท่อปัสสาวะ ถ้าสัตวแพทย์พบว่าเนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าวผิดปกติ หรือมีเนื้องอก สัตวแพทย์ก็จะามารถตัดชิ้นเนื้อที่ผิดปกติออกไปได้

ปัจจุบัน นิ่วในกระเพาะปัสสาวะแบ่งออกเป็นหลายประเภท และบางประเภทก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แต่ต้องใช้อาหารประกอบการรักษาโรค โดยอยู่ภายใต้การควบคุมของสัตวแพทย์อย่างเคร่งครัด

ในกรณีที่แมวติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ จะต้องใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย นอกเหนือจากนี้ สัตวแพทย์อาจพิจารณาการให้ยาอื่น ๆ ตามอาการของแมว เช่น ยาบรรเทาอาการกล้ามเนื้อกระตุก และยาลดการอักเสบ เป็นต้น

บทสรุปของอาการแมวฉี่ไม่ออก

เมื่อแมวฉี่ไม่ออก ในทางสัตวแพทย์นับเป็นภาวะฉุกเฉินอย่างหนึ่ง เนื่องจากอาการอาจรุนแรงไปถึงขั้นทำให้แมวเสียชีวิตได้ ดังนั้น ถ้าเจ้าของพบความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะในแมว และมาพบสัตวแพทย์ได้เร็ว ก็จะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ ไม่แนะนำให้หาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต และรักษาเองที่บ้าน

หลังจากที่รักษาโดยสัตวแพทย์แล้ว การดูแลน้องแมวหลังจากกลับไปอยู่บ้าน ก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้น้องแมวฟื้นตัวได้ดีขึ้น โดยเจ้าของควรให้ยาตามที่สัตวแพทย์สั่งอย่างครบถ้วน รวมไปถึงการงดและหลีกเลี่ยงอาหารที่จะทำให้อาการรุนแรงขึ้น เช่น อาหาร หรือขนมแมวเลีย ที่ปริมาณเกลือแร่สูง

บทความโดย

ณภัทรดนัย

ข้อมูลอ้างอิง

Emergency Veterinary Care Centers – Cat Having Problems Urinating: What You Need to Know About Why Your Cat Can’t Pee

petMD – Urinary Tract Blockage in Cats

โรงพยาบาลสัตว์อารักษ์ – สุนัข และแมวฉี่ไม่ออก ปัญหาเหมือนเล็กๆ ที่ไม่เล็ก เกิดจากอะไร รักษาอย่างไร?


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – กลุ่มอาการผิดปกติของระบบขับถ่ายปัสสาวะส่วนล่างในแมว

FLUTD ; feline lower urinary tract disease