คำว่า “กรง” หรือ “กล่อง” ในกรณีนี้คงไม่ได้หมายถึงกรงแบบติดตั้งถาวรนะครับ แต่จะเป็นกรงหรือกล่องที่เอาไว้ใช้เคลื่อนย้ายสุนัข เช่นกรงที่เอาไว้พาสุนัขไปเที่ยวหรือกรงที่เอาไว้ใช้เป็นกรงนอนของสุนัขที่ไม่ต้องการขนาดใหญ่มากมาย
หลายท่านพอพูดถึง “กรง” จะคิดถึงในแง่ค่อนข้างลบ เช่น เป็นที่กักขังสุนัขบ้าง อะไรบ้าง แต่แท้จริงแล้วการนำสุนัขใส่กรง เพื่อเดินทางนั้นมีประโยชน์มากกว่าที่คิดครับ เช่น
1.เวลาเดินทางคนเดียว สุนัขจะอยู่ในกรง ไม่มารบกวนหรือกระโดดไปมาในรถ ทำให้เจ้าของเสียสมาธิ
2.หากเกิดอุบัติเหตุขึ้น การอยู่ในกล่องใส่สุนัขจะช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแก่สุนัขได้
3.สามารถนำสุนัขไปในบางพื้นที่ที่ปกติแล้วไม่อนุญาตให้สุนัขเข้าได้ เพราะมีกรงจำกัดบริเวณสุนัขเอาไว้
4.ฯลฯ
วิธีที่แน่นอนที่สุดที่จะหาขนาดเหมาะสมกับสุนัขของเราที่สุด คือ การวัดขนาดตัวสุนัขครับ การวัดขนาดตัวสุนัขให้ทำดังนี้
1. วัดขนาดความสูง ให้เราวัดโดยการนำสุนัขมายืนตรงคอตั้งตรง แล้วจับให้คางเขาขนานพื้น แล้ววัดจากพื้นขึ้นมาถึงศีรษะเขาว่าสูงเท่าไร ถ้าสุนัขหูตกก็วัดถึงส่วนที่สูงสุดของศีรษะ แต่ถ้าสุนัขหูตั้งก็วัดถึงปลายหูเลยครับ แล้วบวกเพิ่มไปอีก 3 นิ้ว
2. วัดขนาดความกว้าง ให้เราวัดจากด้านหน้าสุนัขครับ ยืนหันหน้าเข้าหาสุนัขแล้วจากจุดที่กว้างที่สุดของตัวของเขาข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่ง วัดได้เท่าไหร่ให้บวกเพิ่มไปอีก 1 นิ้ว แล้วเอาผลลัพธ์ไปคูณ 2
3. วัดขนาดความยาว ให้เราวัดจากปลายจมูกของสุนัข ไปถึงส่วนท้ายสุดของช่วงบั้นท้ายครับ (อาจจะวัดเผื่อจากโคนหางออกไปอีกสัก 2-3 นิ้วก็ได้) วัดได้เท่าไหร่ให้นำมาบวกกันกับความยาวจากปลายเท้าถึงข้อศอกของสุนัข
ตัวเลขเหล่านี้คือ สัดส่วนของสุนัขเราครับ จากนั้นก็ไปหากรงหรือกล่องที่มีขนาดไม่ต่ำกว่านี้ครับ ไม่เช่นนั้นถ้าเล็กไปเขาจะอึดอัด และไม่สบายตัว ยิ่งถ้าเดินทางไกล ๆ ยิ่งน่าสงสารครับ แต่ก็ไม่ต้องซื้อใหญ่กว่าสัดส่วนของสุนัขเรามากเกินไปนะครับ เพราะถ้าใหญ่เกินไปก็เทอะทะ เปลืองเนื้อที่ แถมยังเสียค่าใช้จ่ายเยอะโดยใช่เหตุครับ ซึ่งหลักการวัดนี่ก็เอามาจากมาตรฐานของ International Air Transport Association ครับ
– การวัดความสูงของสุนัข เพื่อให้สุนัขสามารถยืนเชิดหน้าได้ ไม่ต้องยืนแบบก้มคอ
– การวัดความกว้างของสุนัข เพื่อให้มีความกว้างเพียงพอที่สุนัขจะสามารถกลับตัวในกรงได้อย่างปกติ ไม่แคบเกินไป
– การวัดความยาว ที่ให้วัดขนาดนี้ เพื่อให้สุนัขสามารถนอนเหยียดขาหน้าได้ไม่ต้องงอขาหน้า หรือต้องนอนขดๆ
ถ้าจะซื้อกรงหรือกล่องใส่สุนัขคราวหน้าสำหรับการเดินทาง ก็อย่าลืมเอาหลักนี้ไปใช้วัดนะครับ
บทความโดย
นายพันธุ์นุชิต โปษยานนท์ (ครูนล)
ผู้ก่อตั้ง เจ้าของ ผู้ฝึกสอนชั้นเรียนสุนัข Nol’s Puppy Class และ Nol’s Private Dog Class