ประวัติสายพันธุ์
ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ (เรียกสั้น ๆ ว่า แลป) มีถิ่นกำเนิดมาจากเกาะนิวฟันด์แลนด์ (Newfoundland) ของประเทศแคนนาดา และมีชื่อดั้งเดิมว่า เซนต์ จอห์น (St. John’s) พวกมันเป็นสัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงกันในภายในครอบครัว โดยเฉพาะในครอบครัวชาวประมง เพราะลาบราดอร์สามารถช่วยชาวประมงในการจับปลา ฉลาดมากพอที่จะปลดตะขออกจากปลาและแข็งแกร่งมากพอในการว่ายน้ำได้ระยะทางไกล และยังทำหน้าที่เป็นสัตว์เลี้ยงที่รักโดยจะเดินกลับบ้านกับเจ้าของหลังจากเลิกงานได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์นั้น เกิดจากการผสมระหว่างสุนัขสายพันธุ์ใด นักประวัติศาสตร์คาดว่า พวกมันเกิดจากการผสมพันธุ์ของสุนัขนิวฟันด์แลนด์และสุนัขในท้องถิ่นอีกหนึ่งสายพันธุ์ แต่ยังไม่สามารถระบุได้
พวกมันเริ่มได้รับความนิยมเมื่อมีการนำลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์เข้ามาสู่เกาะอังกฤษในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยขุนนางในสมัยนั้นที่เห็นถึงลักษณะพิเศษของพวกมัน เริ่มแรกเพื่อใช้ในการล่าสัตว์ปีก ซึ่งบางครั้งการล่าสัตว์จำเป็นต้องเข้าไปในป่า มีความลำบากมาก ดังนั้นจึงต้องเลือดสุนัขสายพันธุ์เฉพาะ เพื่อช่วยในการค้นหาเหยื่อที่ถูกยิง แต่เนื่องจากในช่วงเวลานั้นลาบราดอร์ยังต้องนำเข้าจากประเทศแคนาดา ด้วยกฎหมายการเก็บภาษีที่แพงมาก ทำให้จำนวนของพวกมันจึงลดน้อยลงจนเกือบจะเลิกเพาะพันธุ์ แต่ในเวลาต่อมายังมีกลุ่มคนที่ยังคงสนใจสายพันธุ์นี้อยู่ จึงได้ริเริ่มพัฒนาสายพันธุ์ โดยผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างพันธ์ลาบราดอร์ ซึ่งเดิมนั้นมีเพียงสีดำเท่านั้น กับสุนัขในกลุ่มรีทรีฟเวอร์ หลังจากที่มีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ในภายหลัง ทำให้เกิดสีเหลืองหรือสีครีมตามมา ซึ่งได้รับความนิยมมาถึงปัจจุบัน
สุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ในปัจจุบัน นับได้ว่าเป็นสุนัขพันธุ์ที่มีความสามารถ สามารถเลี้ยงไว้เพื่อใช้ล่าสัตว์ อีกทั้งยังสามารถใช้พวกมันปฏิบัติการพิเศษ ในการตรวจค้นหายาเสพติด หรือทำการค้นหาระเบิด ตลอดจนกระทั่งสามารถช่วยนำทางให้กับผู้พิการทางสายตาได้อีกด้วย
ลักษณะทางกายภาพ
เนื่องจากต้นกำเนิดของสุนัขพันธุ์นี้ เป็นสุนัขที่ถูกเลี้ยงไว้เพื่อใช้ในการล่าสัตว์หรือจับสัตว์ ดังนั้นสุนัขพันธุ์นี้จึงมีรูปร่างใหญ่ สง่างาม มีกล้ามเนื้อที่แข็งแกร่ง หัวที่กว้าง หูพับลง ดวงตาที่ใหญ่ แววตาควรแสดงออกชัดเจน ใจดี และสีตาควรเป็นสีน้ำตาลหรือน้ำตาลแดง เส้นรอบ ๆ ตาควรมีสีดำ ส่วนบริเวณหูควรอยู่ติดกับส่วนหัวและอยู่ค่อนไปด้านบนของตา และมีโครงสร้างที่สมส่วน ทำให้พวกมันทรงตัวได้ดีในทุก ๆ สถานการณ์ ซึ่งลักษณะรูปร่างของสุนัขแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งอเมริกาและยุโรปซึ่งทั้ง 2 ลักษณะพบในสุนัขที่เกิดในแต่ละประเทศ ใบหน้าของทางฝั่งอังกฤษมีความดุดันน้อยกว่าและเป็นธรรมชาติมากกว่า ส่วนทางฝั่งอเมริกาจะมีรูปร่างสูงและกว้างกว่า ในส่วนของใบหน้าจะมีจมูกที่ยาวกว่าเล็กน้อย
หางของพวกมันเป็นอีกหนึ่งลักษณะสำคัญ โดยคำอธิบายของ American kennel club (AKC) ระบุว่าหางของลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์นั้นมีลักษณะหนา และแข็งแรง คล้ายกับหางของนาก ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญช่วยในการทรงตัวขณะที่กำลังว่ายน้ำ มีเท้าที่เป็นพังพืดทำให้มันว่ายน้ำได้ดี บางครั้งถูกเรียกว่าเป็น snowshoe ในสภาพแวดล้อมที่หนาวเย็น ซึ่งช่วยให้หิมะออกจากบริเวณเท้าได้ดี อีกทั้งยังมีมีขนสองชั้นที่สั้นและหนา ปกติจะผลัดขน 2 ครั้งต่อปี หรือในช่วงที่อุณหภูมิสูงขึ้น สามารถป้องกันน้ำ ทนต่อสภาวะและภูมิอากาศที่แปรปรวนได้เป็นอย่างดี โดยขนชั้นนอกอาจจะหยาบกว่าขนชั้นในสำหรับสีขนนั้นสีที่ American kennel club ให้การยอมรับนั้นมี 3 สี ได้แก่ สีดำ สีทองหรือเหลือง และสีน้ำตาลช็อกโกแลตเท่านั้น โดยสีทองนั้นอาจมีได้หลายเฉดสีตั้งแต่ทองอ่อนจนถึงทองเข้ม และควรจะมีสีเดียวทั่วทั้งตัว สุนัขบางตัวอาจมีตำแหน่งสีตามร่างกายที่เพิ่มขึ้นมาได้ เช่น ปื้นสีขาวบริเวณอกหรือตำแหน่งอื่น ๆ บนพื้นขนสีดำ
เพศผู้มีความสูงเมื่อวัดจากบริเวณหลังที่สูงที่สุดประมาณ 57-62 เซนติเมตร (22-24 นิ้ว) และหนักประมาณ 25-32 กิโลกรัม ส่วนในเพศเมียมีความสูงเมื่อวัดจากบริเวณหลังที่สูงที่สุดประมาณ 55-60 เซนติเมตร (20-22 นิ้ว) และหนักประมาณ 29-36 กิโลกรัม
อายุขัย
อายุขัยโดยเฉลี่ยของลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์อยู่ที่ประมาณ 10-14 ปี
ลักษณะนิสัย
ลาบราดอร์ขึ้นชื่อในเรื่องของความฉลาดหลักแหลม เป็นมิตร และนิสัยดี ขี้ประจบเอาใจทั้งคนและสัตว์เลี้ยงตัวอื่น ๆ แต่เมื่อโตเต็มวัยพวกมันก็ยังคงมีความขี้เล่น มีความกระตือรือร้น และมีความอดทนสูงต่อการฝึกฝน เรียนรู้เร็ว มีสมาธิกับงาน หรือกิจกรรมที่มันทำอย่างมาก จึงไม่แปลกใจเลยพวกมันมักถูกเลือกให้เป็นสุนัขตำรวจ หรือสุนัขช่วยเหลือผู้พิการทางสายตา เพราะเป็นสุนัขที่มีสมาธิดีมาก ๆ ชอบที่ได้รับคำชื่นชมจากเจ้าของ นอกจากนี้ ลาบราดอร์ยังถือว่าเป็นสุนัขบำบัดที่ดีเนื่องจากมีความเด่นชัดในด้านพลังบวก
พวกมันรักการพจญภัย และชอบน้ำมาก สามารถเล่นน้ำได้ตลอดทั้งวัน อีกทั้งยังเป็นจอมตะกละ กินได้ตลอดเวลา นิสัยเช่นนี้สามารถควบคุมได้ด้วยการฝึกฝน และมีอีกหนึ่งเรื่องที่ผู้เลี้ยงควรรู้ คือ ในช่วงวันกำลังเจริญสุนัขจะมีพละกำลังค่อนข้างมากและต้องการเวลาในการอยู่กับเจ้าของค่อนข้างมากเช่นกัน ซึ่งหากทิ้งให้สุนัขอยู่ตัวเดียวเป็นเวลานาน อาจนำไปสู่การทำลายข้าวของหรือพัฒนาทำเกิดภาวะวิตกกังวลเมื่ออยู่ตัวเดียวตามมาได้
การเข้ากับเด็ก
ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ สามารถเข้ากันได้ดีกับเด็กและผู้ใหญ่ แม้กระทั่งกับสัตว์ขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่ ด้วยความที่มีนิสัยอ่อนโยนทำให้เหมาะกับการเลี้ยงร่วมกับเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี พวกมันมักจะชอบปกป้องคนที่พวกมันรัก เด็ก ๆ สามารถรับรู้ได้ถึงความอ่อนโยนและก็เรียนรู้ที่จะรักพวกมันได้ แต่ด้วยสัญชาตญาณที่เป็นนักล่า อาจมีบ้างที่สุนัขแสดงอาการก้าวร้าว หรือมีความเครียด รวมถึงอาจจะมีเล่นแรงไปบางตามขนาดตัวของมัน การฝึกฝนเป็นประจำจะช่วยลดพฤติกรรมก้าวร้าวลง และเรียนรู้ที่จะเชื่อฟังเจ้าของได้
การดูแล
การออกกำลังกาย
ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์เป็นสุนัขที่มีพลังงานเยอะ พวกมันต้องการการกระตุ้นทางร่างกายเป็นอย่างมาก การออกกำลังกายจึงมีความจำเป็น แต่การออกกำลังการที่หนักไม่ควรเริ่มตั้งแต่เล็ก หรือในวัยที่ยังไม่โตเต็มที่ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ปัญหาข้อต่อได้
พวกมันชื่นชอบการวิ่งเล่น ถ้าหากพวกมันยังไม่หมดแรง อาจแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว ทำลายข้างของ รวมทั้งทำร้ายเจ้าของได้ การฝึกฝนจึงเป็นอีกวิธีเพื่อลดพฤติกรรมได้ รวมทั้งการออกกำลังอย่างน้อย 45 นาทีเป็นประจำทุกวัน โดยการเดิน วิ่งรอบ ๆ สวนในบ้าน เล่นลูกบอล หรือกิจกรรมอย่างอื่นที่ให้สุนัขได้เคลื่อนไหว ก็จะช่วยพัฒนาให้ลาบราดอร์มีนิสัยดีและสุขภาพที่ดีด้วย
อาหาร
สุนัขควรได้รับอาหารแห้งที่มีคุณภาพสูง 3-4 ถ้วยต่อวัน โดยแบ่งออกเป็นสองมื้อ ซึ่งอาหารเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีที่สุดให้กับสุนัข วิธีการกินของลูกสุนัขสามารถส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของข้อต่อเมื่อโตเต็มวัยได้ และสิ่งสำคัญสำหรับผู้เลี้ยงคือวินัยในการให้อาหาร เพราะลาบราดอร์นั้นมีนิสัยตะกละ การให้อาหารในปริมาณที่เพียงพอจะช่วยลดความเสี่ยงให้เกิดโรคอ้วนได้ การจัดการอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้พวกมันได้เติบโตอย่างเหมาะสมและแข็งแรง
โรคประจำพันธุ์
- โรคผิวหนัง
- การติดเชื้อที่หู (Ear Infection)
- โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Acute Moist Dermatitis)
- โรคภูมิแพ้ (Allergies)
- โรคระบบประสาท
- โรคไขสันหลังเสื่อม (Degenerative Myelopathy)
- โรคการอักเสบของหมอนรองกระดูก (Diskospodylitis)
- โรคลมชัก (Epilepsy)
- กล้ามเนื้อเสื่อม (Myopathy)
- ชัก (Seizures)
- โรคเกี่ยวกับระบบโครงกระดูก ข้อต่อ และโครงสร้าง
- โรคข้อสะโพกเจริญผิดปกติ (Hip Dysplasia)
- โรคข้อศอกเจริญผิดปกติ (Elbow Dysplasia)
- โรคกระดูกอ่อนเจริญผิดปกติ (Osteochondrosis)
- โรคข้ออักเสบ (Arthritis)
- โรคหมอนรองกระดูกสันหลัง (Intervertebral Disc Disease : IVDD)
- กระดูกอักเสบ (Panosteitis)
- การเจริญผิดปกติของพื้นผิวข้อ (Osteochondritis Dissecans : OCD)
- โรคที่เกี่ยวกับข้อต่อ ประกอบไปด้วยโรคกระดูกสะบ้าเคลื่อน (Patellar Luxation), การฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้าเข่า (Cruciate Ligament Rupture)
- โรคระบบทางเดินอาหาร
- โรคกระเพาะอาหารขยายและบิดหมุน (Gastric Dilatation-volvulus)
- โรคระบบต่อมไร้ท่อ
- โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus)
- โรคตา
- โรคเปลือกตาม้วนเข้าข้างใน (Entropion)
- โรคขนตางอกผิดปกติ (Distichiasis)
- โรคต้อกระจก (Cataracts) เป็นโรคตาที่พบได้มากที่สุดในโกลเด้น,
- โรคต้อหิน (Glaucoma)
- โรคกระจกตาเสื่อม (Corneal Dystrophy)
- โรคจอประสาท เช่น จอประสาทตาเจริญผิดปกติ (Retinal Dysplasia) และโรคจอประสาทตาเสื่อม (Progressive Retinal Atrophy)
- โรคระบบไหลเวียนโลหิตและหัวใจ
- การเจริญผิดปกติของลิ้นหัวใจห้องขวา (Tricuspid Valve Dysplasia : TVD)
- โรคระบบเลือดและภูมิคุ้มกัน
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดแมสเซลล์ (Mast Cell Tumors)
เรื่อง ชนิฏฐา กล้าแข็ง และ สุรภา ประติภาปกรณ์