มีหลายท่านที่สนใจความรู้กฎหมายที่เกี่ยวกับสุนัขมากพอสมควร โดยเฉพาะพวกที่มีลักษณะร่อนเร่ไปมาไม่มีเจ้าของที่แน่นอน (จรจัด) ว่าจะมี กฎหมายที่เกี่ยวกับสุนัขเร่ร่อน หรือสามารถดำเนินการอย่างไรกับสุนัขเหล่านี้ได้บ้าง
วันนี้ บ้านและสวน Pets เลยขอเอาเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยทางด้าน กฎหมายที่เกี่ยวกับสุนัขเร่ร่อน มาให้เป็นความรู้แก่ผู้อ่านเพิ่มเติมอีกนะครับ โดยจะพยายามใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย เพื่อให้เข้าใจโดยทั่วกันครับ
เกร็ดที่หนึ่ง – ในเขตกรุงเทพมหานคร ผู้ใจบุญที่ให้อาหารสุนัขจรจัดเป็นประจำ ไม่ถือว่าผู้นั้นเป็น “เจ้าของสุนัข” ตัวนั้นครับ
เดิมทีนั้นในข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ. 2548 ได้ให้ความหมายว่า เจ้าของสุนัข หมายความรวมถึงผู้ครอบครองสุนัข หรือผู้ให้อาหารสุนัขเป็นประจำด้วย
ทีนี้ ก็มีคนเอาไปฟ้องศาลปกครองครับ โดยมองว่าผู้ให้อาหารสุนัขจรจัดเป็นประจำด้วยความเมตตาไม่ควรถือว่าเป็นเจ้าของตัวนั้น ซึ่งศาลปกครองก็ได้พิพากษาว่า การที่กรุงเทพมหานครไปกำหนดความหมายผู้ให้อาหารสุนัขจรจัดเป็นประจำว่า ถือเป็นเจ้าของสุนัข อาจทำให้คนเหล่านั้นทำผิดข้อบัญญัติ กทม. ไปโดยไม่รู้ตัว ทั้งเรื่องการควบคุมสุนัข และการที่ต้องพาสุนัขของตัวเองไปฝังไมโครชิพและจดทะเบียนตัวสุนัขด้วย (ซึ่งในความเป็นจริง คนที่ให้อาหารสุนัขจรจัดเป็นประจำ คงไม่ได้นำสุนัขจรจัดเหล่านั้นไปฝังไมโครชิพหรือจดทะเบียนตัวอย่างแน่นอน) ทั้งที่จริง ๆ แล้ว กรุงเทพมหานครมีหน้าที่ในการจัดการ ควบคุม ดูแลสุนัขจรจัดในเขตกรุงเทพมหานครให้เป็นไปโดยความเรียบร้อย การเขียนนิยามศัพท์ในข้อบัญญัติดังกล่าวที่รวมคนให้อาหารสุนัขเป็นประจำว่าถือเป็นเจ้าของสุนัขด้วย จึงถือเป็นการผลักภาระมาให้แก่ประชาชนครับ ดังนั้นศาลจึงพิพากษาให้เอาคำนิยามในส่วนนี้ออกจาก ข้อบัญญัติ กทม. ข้างต้น
ดังนั้น แปลว่า ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย. 2556 เป็นต้นมา ผู้ให้อาหารสุนัขจรจัดเป็นประจำในเขตกรุงเทพมหานคร ไม่ถือว่าเป็นเจ้าของสุนัขตัวนั้นครับ กรณีนี้อธิบายโดยอ้างอิงตามคำพิพากษาศาลปกครองที่ อ.764/2556 ครับ
เกร็ดที่สอง – แล้วแบบนี้ หากสุนัขจรจัดในประเทศไทยเรา (ไม่ใช่แค่ใน กทม. นะครับ แต่หมายความถึงสุนัขจรจัดทั่วประเทศ) เกิดไปกัดคน กัดเด็ก หรือกัดสัตว์อื่นเข้าจนเกิดความเสียหาย จะเรียกร้องความเสียหายจากใครได้บ้าง ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
ขึ้นชื่อว่าสุนัขจรจัด แน่นอนครับว่าไม่มีเจ้าของแน่นอน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าถ้าสุนัขจรจัดไปทำอะไรไม่ดีเข้า แล้วจะไม่มีเจ้าภาพรับผิดชอบนะครับ นั่นเพราะ สุนัขถือเป็นสัตว์ควบคุมตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 ครับ ต้องมีเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ปรากฏอยู่ (เครื่องหมายที่ว่าก็คือ เครื่องหมายห้อยคอรูปกาชาดที่แสดงว่าสุนัขฉีดพิษสุนัขบ้าแล้วนั่นเองครับ) เมื่อมีการพบเห็นสุนัขที่ไม่ปรากฏเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจจับสัตว์ควบคุมนั้นเพื่อกักขัง และถ้าไม่มีเจ้าของมารับคืนภายใน 5 วัน ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจทำลายสุนัขตัวนั้นได้ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 ครับ
แปลในมุมกลับกัน หมายความว่า ถ้าเจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่ได้ดำเนินการควบคุมสุนัขจรจัด เพื่อประโยชน์ในการรักษาสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของประชาชนในท้องถิ่น หรือเพื่อป้องกันอันตรายจากเชื้อโรค ที่เกิดจากสุนัขจรจัด หรือเพื่อป้องกันโรคและระงับโรคติดต่อ ในเขตท้องถิ่นของตนเอง จึงถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หากสุนัขจรจัดไปก่อความเสียหายอันถือเป็นการกระทำละเมิดต่อประชาชนไม่ว่าจะทางชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน หรือในด้านอื่น ๆ เจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายครับ กรณีนี้อธิบายโดยอ้างอิงตามคำพิพากษาศาลปกครองที่ อ.1751/2559 ครับ
ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่เขียนถึงก็คือ
(1) นายกเทศมนตรีสำหรับในเขตเทศบาลต่าง ๆ
(2) ประธานกรรมการสุขาภิบาลสำหรับในเขตสุขาภิบาล
(3) ผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด
(4) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร
(5) ปลัดเมืองพัทยาสำหรับในเขตเมืองพัทยา
(6) หัวหน้าผู้บริหารท้องถิ่นขององค์การปกครองท้องถิ่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นราชการส่วนท้องถิ่นสำหรับในเขตราชการส่วนท้องถิ่นนั้น
เมื่อทราบแบบนี้แล้ว เราก็พอจะได้ไอเดียแล้วนะครับ ว่าถ้าเราเจอสุนัขจรจัดแถวบ้านเรา เราควรร้องเรียนไปที่ไหนหรือหน่วยงานใดให้จัดการ
เกร็ดที่สาม – ถ้าเป็นสุนัขมีเจ้าของชัดเจน แต่เจ้าของละเลยไม่ควบคุมสุนัขของตัวเอง ปล่อยออกมาอยู่ในทางสาธารณะ แบบนี้ก็ต้องดูเป็นกรณีไปครับว่า ในท้องที่นั้น ๆ มีกฎหมายประจำท้องถิ่นควบคุมเรื่องการปล่อยสุนัขไว้หรือไม่ ถ้ามีกฎหมายบัญญัติไว้ (เช่นใน กทม. ที่มีข้อบัญญัติการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข เป็นต้น) ก็แน่นอนครับว่า ถ้าเจ้าของปล่อยปละละเลย ไม่ควบคุม แบบนี้ผิดกฎหมายของท้องถิ่นแน่นอน แจ้งเจ้าพนักงานให้ดำเนินคดีได้เลยครับ
แต่ถ้าท้องถิ่นนั้น ๆ ไม่มีกฎหมายประจำท้องถิ่นควบคุมเรื่องการปล่อยสุนัขเอาไว้ล่ะ แบบนี้ก็ต้องมาพิจารณาแบบนี้ครับ
– ถ้าสุนัขตัวนั้นเคยมีประวัติกัดหรือแสดงอาการดุร้ายจนเป็นที่ประจักษ์ไปทั่ว แบบนี้สุนัขตัวนั้นเข้าข่ายการเป็น “สัตว์ดุ” ตามประมวลกฎหมายอาญาครับ การปล่อยปละให้ไปเที่ยวโดยลำพัง ซึ่งอาจทำอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน ก็ถือว่าผิดกฎหมายอาญา มาตรา 377 ครับ อาจโดนลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
– ถ้าสุนัขตัวนั้นไม่เคยมีประวัติกัด หรือแสดงอาการดุร้ายจนเป็นที่ประจักษ์ไปทั่ว แบบนี้สุนัขตัวนั้นก็ไม่เข้าข่ายการเป็น “สัตว์ดุ” ตามกฎหมายอาญาครับ ยังสามารถไปเที่ยวตามลำพังได้
ระดับความดุของสุนัข !! ที่คุณต้องรู้ เพื่อความปลอดภัยในชีวิต
ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าสุนัขตัวไหนจะถือเป็นสัตว์ดุหรือไม่ใช่สัตว์ดุตามที่กล่าวมาก็ตาม แต่ถ้าเกิดจับพลัดจับผลูไปทำร้ายคนอื่นเข้า แน่นอนครับว่าผิดกฎหมายแน่ ๆ
ตัวอย่างเช่น เจ้าของสุนัข ปล่อยสุนัขโดยปราศจากการควบคุมใด ๆ ในทางสาธารณะ แล้วสุนัขดันวิ่งไปกัดเด็ก จนได้รับบาดแผลหน้าเสียโฉมไปตลอดชีวิต เจ้าของสุนัขก็ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300 ฐานประมาททำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส หรือถ้าหากเด็กเสียชีวิต เจ้าของสุนัขก็ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 ฐานประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย หรือถ้าดันวิ่งไปกัดสุนัขอีกตัวจนถึงแก่ความตาย นอกจากเจ้าของสุนัขตัวที่กัดจะผิดฐานกระทำทารุณสัตว์ (เพราะสุนัขอีกตัวถึงแก่ความตาย) แล้ว เจ้าของสุนัขก็ยังผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 ฐานประมาททำให้เสียทรัพย์อีกด้วยครับ ทั้งนี้เพราะ หากเจ้าของไม่ประมาทและควบคุมสุนัขของตัวเองให้ดี เหตุการณ์ทั้งหมดจะไม่เกิดขึ้นครับ
แถมยังอาจจะมีของแถมให้เจ้าของโดนฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 433 อีกด้วยครับ เพราะถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ เจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของ ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้นครับ
ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาท เจ้าของจึงไม่ควรปล่อยปละละเลยให้สุนัขไปท่องเที่ยวโดยลำพังปราศจากอุปกรณ์ควบคุมครับ
หวังว่าความรู้เรื่อง กฎหมายที่เกี่ยวกับสุนัขเร่ร่อน น่าจะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านให้ควบคุมและดูแลสุนัขของตนเองเวลาออกไปนอกบ้านมากขึ้นนะครับ ขอบคุณครับ
บทความโดย
นายพันธุ์นุชิต โปษยานนท์
ผู้ก่อตั้ง เจ้าของ และผู้ฝึกสอนในชั้นเรียนสุนัข Nol’s Puppy Class และ Nol’s Private Class