ปัญหาพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยง เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นสุนัขหรือแมว โดยที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาด้านพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยงเป็นสาเหตุสำคัญที่เจ้าของนำสัตว์เลี้ยงมาปล่อยทิ้ง หรือทำการุณยฆาต
สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่เจ้าของควรทราบ คือ ปัญหาพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยง ไม่ได้เกิดจากสาเหตุที่ สัตว์เลี้ยงดื้อ ต่อต้าน หรือนิสัยไม่ดี แต่เป็นเพราะ สัตว์เลี้ยงกำลังต้องการความช่วยเหลือ ผู้เลี้ยงเองในฐานะเจ้าของ ที่เป็นผู้ตัดสินใจรับเลี้ยงสัตว์เหล่านั้น จึงควรจะต้องให้การช่วยเหลือด้วยวิธีการ และแนวทาง ที่เป็นการส่งเสริมสวัสดิภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่สัตว์ มากกว่ามุ่งเน้นแค่ว่า จะทำอย่างไรให้พฤติกรรมที่กำลังเป็นปัญหาหมดไป
เมื่อสัตว์เลี้ยงมีปัญหาด้านพฤติกรรม สิ่งที่เจ้าของควรทำเป็นอันดับแรก ไม่ว่าสุนัข หรือแมว แสดงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม แม้จะยังไม่สร้างปัญหาต่อการอยู่ร่วมกันก็ตาม ผู้เลี้ยงควรพาสัตว์ไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกายโดยละเอียด
โดยการตรวจร่างกายที่กล่าวถึง มักประกอบไปด้วย การตรวจ ลูบ คลำตามลำตัว เพื่อตรวจหาสิ่งผิดปกติ การตรวจในช่องปาก การดูเหงือก การฟังเสียงหัวใจ ตลอดจนการจับตรวจกล้ามเนื้อ และข้อต่อต่าง ๆ รวมไปถึง การสังเกตพฤติกรรมการเดิน การวิ่ง หรือการกระโดดของสุนัขที่อาจเปลี่ยนแปลงจากเดิม
รวมถึงการตรวจเลือดเพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ ปริมาณของเกล็ดเลือด ไปจนถึงค่าทางเคมีต่าง ๆ ที่สามารถสะท้อนการทำงานของอวัยวะในร่างกายได้ เช่น ค่าตับ ค่าไต เป็นต้น ในบางกรณี สัตวแพทย์อาจแนะนำให้เอ็กซเรย์ (X-rays) หรืออัลตร้าซาวด์ ตรวจปัสสาวะ หรือตรวจอุจจาระเพิ่มเติม เพื่อให้แน่ใจว่าปัญหาพฤติกรรมที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้มีสาเหตุมาจากปัญหาทางด้านสุขภาพ
หากทำการตรวจอย่างละเอียดแล้ว ไม่พบความผิดปกติใด ๆ ผู้เลี้ยงควรพาสัตว์เลี้ยงมาพบสัตวแพทย์ด้านพฤติกรรมสัตว์ เพื่อพูดคุย และหาสาเหตุของการเกิดพฤติกรรมดังกล่าวต่อไป โดยทั่วไป สัตวแพทย์ที่ทำงานด้านพฤติกรรมสัตว์ จะใช้เวลาในการพูดคุยกับผู้เลี้ยงโดยเฉลี่ย ประมาณ 3 – 4 ชั่วโมง เพื่อให้ได้ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวสัตว์เลี้ยงมากเพียงพอที่จะนำไปสู่การวินิจฉัย หาสาเหตุของปัญหาพฤติกรรมที่เกิดขึ้น จากนั้นสัตวแพทย์จะให้คำแนะนำ และแนวทางในการจัดการ และบำบัด กับปัญหาพฤติกรรม ซึ่งโดยทั่วไป จะประกอบไปด้วย 3 แนวทาง ได้แก่
1. การปรับสิ่งแวดล้อม (Environmental management)
เป้าหมายสำคัญของการปรับสิ่งแวดล้อมคือ การหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้น หรือหลีกเลียงสถานการณ์ ซึ่งทำให้สัตว์แสดงพฤติกรรมที่เป็นปัญหาออกมา หลายคนอาจเข้าใจว่า เราควรจะให้สัตว์ได้เจอกับสิ่งเร้า หรือสถานการณ์ที่พวกเขาไม่ชอบบ่อย ๆ เพื่อให้เกิดความเคยชิน และลดการตอบสนองลง แต่ในความเป็นจริง เมื่อสัตว์เลี้ยงพบกับสิ่งเร้าที่ไม่ชอบบ่อย ๆ ไม่จำเป็นว่า พวกเขาจะเคยชินกับสิ่งเหล่านั้นเสมอไป
ในทางกลับกัน เมื่อสัตว์เลี้ยงพบเจอกับสิ่งเร้า หรือสถานการณ์ที่กระตุ้นพฤติกรรมที่เป็นปัญหาบ่อยครั้ง อาจทำให้ปัญหาด้านพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยงรุนแรง และซับซ้อนขึ้นมากกว่าเดิม
ดังนั้น การหลีกเลี่ยง และป้องกัน ไม่ให้สัตว์เลี้ยงพบเจอกับตัวกระตุ้น หรือสถานการณ์ที่เหนี่ยวนำให้เกิดปัญหาพฤติกรรม จึงเป็นการจัดการเบื้องต้นที่จะช่วยแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม ยังมีเป้าหมายเพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของสัตว์ให้ครบถ้วนและเพียงพอ ซึ่งการตอบสนองความต้องการดังกล่าว ถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สิ่งมีชีวิตทุกชนิดควรจะได้รับ โดยเฉพาะในสัตว์ที่จำเป็นต้องได้รับการปรับพฤติกรรม สัตวแพทย์จะตรวจสอบให้แน่ใจว่าความต้องการขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ที่สัตว์ต้องการนั้น ผู้เลี้ยงได้จัดเตรียมให้อย่างเพียงพอหรือไม่ ก่อนจะวางแผนในการปรับพฤติกรรมต่อไป
2. การปรับพฤติกรรม (Behaviour modification)
เป็นการใช้หลักการทางจิตวิทยาเข้ามาช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของสัตว์ โดยการปรับเปลี่ยนในที่นี้ อาจจะเป็นการปรับเปลี่ยนในระดับของพฤติกรรม (ปรับเปลี่ยนแรงจูงใจ) หรือการปรับเปลี่ยนในระดับของอารมณ์ (ปรับเปลี่ยนลักษณะอารมณ์ และ/หรือ ความเร้า)
การปรับพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยง สัตวแพทย์จำเป็นจะต้องออกแบบ และวางแผนสำหรับสัตว์เลี้ยงแต่ละตัว ซึ่งมีรูปแบบและแนวทางการปฏิบัติที่อาจจะแตกต่างกันออกไป ตามบริบท และข้อจำกัดของแต่ละครอบครัว สัตวแพทย์ที่ให้คำปรึกษาจะทำงานร่วมกับเจ้าของ ในการช่วยกันวางแผนการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าเจ้าของ จะสามารถนำแผนการปรับพฤติกรรมที่ได้สร้างขึ้น นำไปปฏิบัติกับสัตว์เลี้ยงตามแนวทางที่เหมาะสมได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ หากเป็นการปรับพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจ หรือการปรับเปลี่ยนอารมณ์ที่ไม่ได้มีความซับซ้อน สัตวแพทย์สามารถส่งต่อสัตว์เลี้ยงไปยังครูฝึกที่ใช้แนวทางตามหลักวิชาการ โดยยึดถือเรื่องของสวัสดิภาพสัตว์เป็นสำคัญ เพื่อช่วยเจ้าของสามารถทำการฝึกได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพต่อไป
3. การใช้ยา (Medication)
การใช้ยาถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่จะช่วยให้สัตว์เลี้ยงที่มีปัญหาพฤติกรรม (และเจ้าของ) มีสวัสดิภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการใช้ยาเพื่อจัดการกับปัญหาพฤติกรรมส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ยาในระยะยาว ที่จะต้องทานติดต่อกันร่วมเดือน หรือบางกรณีเป็นปี
สัตวแพทย์ผู้ให้คำปรึกษาจะเป็นผู้แนะนำ วางแผนการใช้ยา ทำความเข้าใจกับเจ้าของ และเห็นภาพรวมของแนวทางการใช้ยาทั้งหมด ก่อนที่จะเริ่มการให้ยากับสัตว์เลี้ยง อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่เจ้าของควรเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยาเพื่อจัดการกับปัญหาพฤติกรรม คือ ในหลาย ๆ กรณี ยาเป็นเพียงตัวช่วยหนึ่งเท่านั้น และอาจไม่ใช่วิธีการหลักในการบำบัดปัญหาพฤติกรรมที่เกิดขึ้น
แม้ว่าสัตว์จะได้รับยาเพื่อปรับพฤติกรรมแล้ว การปรับสิ่งแวดล้อม และการปรับพฤติกรรม ก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องทำไปพร้อมกัน นอกจากนี้ เจ้าของไม่ควรใช้ยา ปรับเปลี่ยนขนาดยา หรือหยุดยาเองโดยเด็ดขาด หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาสัตวแพทย์ที่เป็นผู้จ่ายยาให้
จะเห็นได้ว่า ในการจัดการกับปัญหาพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยงนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของการฝึกสัตว์เลี้ยงเพียงอย่างเดียว แต่ประกอบไปด้วยแนวทางต่าง ๆ หลาย ๆ อย่าง ที่สามารถนำมาปรับใช้ร่วมกัน เพื่อควบคุมและบำบัดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
บทความโดย
อ.ดร.น.สพ.ปรารมภ์ ศรีภวัศราคม
Prarom Sriphavatsarakom, DVM (Hons), MScStud, PhD
Faculty of Veterinary Science Mahidol University
- Animal Behaviour Clinic, Pasu-arthorn Animal Hospital, Mahidol University
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – การเลือกใช้ “สายจูง” และ “ปลอกคอสุนัข”