มดลูกอักเสบ (pyometra) ความผิดปกติของสุนัขและแมวเพศเมีย

สำหรับผู้เลี้ยงสุนัขและแมวเพศเมีย สิ่งที่ต้องเข้าใจเขาอีกส่วนคือเรื่องของระบบสืบพันธุ์เพศเมีย ตั้งแต่เรื่องวงรอบการเป็นสัด การตั้งท้อง การเลี้ยงลูก โดยทาง บ้านและสวน Pets ได้มีบทความบอกเล่าไปบ้างแล้ว วันนี้เรามาเพิ่มเติมส่วนของความผิดปกติของเพศเมีย อย่าง มดลูกอักเสบ แบบผู้หญิง ๆ กันค่ะ

มดลูก (uterus)

ก่อนเข้าสู่เรื่องความผิดปกติของ มดลูกอักเสบ หมอต้องขออธิบายโครงสร้างของมดลูกให้เห็นภาพคร่าว ๆ กันก่อนค่ะ โดยมดลูกนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะในระบบสืบพันธุ์เพศเมีย ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ปีกมดลูก (uterine horn) ตัวมดลูก (uterine body) และปากมดลูก (uterine cervix) ปีกมดลูกมี 2 ข้าง ข้างซ้ายและข้างขวาต่อจากรังไข่และท่อนำไข่ เชื่อมรวมกันที่ตัวมดลูก และมีปากมดลูกเป็นส่วนเชื่อมต่อสู่ช่องคลอด

มดลูกอักเสบ
ขอบคุณภาพจาก : vcahospitals.com

สาเหตุ มดลูกอักเสบ (pyometra)

ทุกอวัยวะของร่างกายมีความผิดปกติเกิดขึ้นได้เสมอ…มดลูกก็เช่นกันค่ะ
ปัญหาส่วนมากที่พบ คือ โรคมดลูกอักเสบแบบมีหนอง บางครั้งอาจถูกเรียกสั้นลงว่า “มดลูกอักเสบ” หรือ ภาษาทางการแพทย์เรียกว่า “pyometra” เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ทั้งในสุนัขและแมว สาเหตุการเกิดนั้นมักประกอบด้วยหลายปัจจัยดังนี้

1. ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน

เรามักพบมดลูกอักเสบในช่วงระยะหลังการเป็นสัด (diestrus) เนื่องจากจุลกายวิภาคภายในมดลูกจะปรับเปลี่ยนไปตามการทำงานของฮอร์โมนเพศโปรเจนเตอโรนที่มีผลต่อการเจริญของต่อมภายในผนังมดลูก (uterine gland) และมีการสร้างสิ่งคัดหลั่งจากต่อมนี้ เมื่อพ้นระยะหลังการเป็นสัดในช่วงที่ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนต่ำลง (anestrus) ผนังมดลูกบางลงพร้อม ๆ กับต่อมภายในผนังมดลูกฝ่อเล็กลงไป อย่างไรก็ดีในสัตว์ที่ผ่านวงรอบการเป็นสัดหลาย ๆ ครั้ง หลาย ๆ ปี หรือได้รับฮอร์โมนโปรเจนเตอโรนเพิ่มเติมจากการฉีดยาคุมกำเนิด ซึ่งปัจจุบันยกเลิกการใช้ในประเทศไทยแล้ว เมื่อฮอร์โมนโปรเจนเตอโรนมีผลต่อการเจริญของผนังมดลูกบ่อยขึ้นจะพัฒนาสู่ภาวะผนังมดลูกหนาตัวและมีถุงน้ำ (Cystic EndometriumHyperplasia: CEH) ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการติดเชื้อและเกิดมดลูกอักเสบตามมา

2. การติดเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ภายในมดลูก

ในธรรมชาติแล้วส่วนระบบทางเดินปัสสาวะส่วนท้ายสามารถพบเชื้อแบคทีเรียทั่วไปได้ (normal flora) โดยแบคทีเรียเหล่านี้จะไม่ได้ก่อให้เกิดโรค ในช่วงระยะเวลาที่เพศเมียเป็นสัดนั้น ปากมดลูกจะคลายตัว เรียกว่า “ปากมดลูกเปิด” เอื้ออำนวยต่อการผสมพันธุ์เพื่อให้น้ำเชื้อผ่านเข้าไปในมดลูกได้ดี ซึ่งก็เป็นโอกาสทำให้เชื้อแบคทีเรียทั่วไปสามารถผ่านเข้าทางปากมดลูกได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

3. อายุและสุขภาพของสัตว์ สัตว์อายุน้อยกว่า 5 ปี

ถือว่าอยู่ในวัยที่ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ร่างกายสามารถต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรียที่ผ่านเข้าในมดลูกได้ดีกว่าสัตว์ที่ร่างกายอ่อนแอ หรือสัตว์ที่อายุมากและสัตว์ที่อายุน้อยยังไม่พบความหนาหรือการสะสมของต่อมภายในผนังมดลูกที่เจริญมากขึ้น (CEH)

มดลูกอักเสบแบบมีหนอง แบ่งเป็น 2 แบบ คือ

มดลูกอักเสบแบบเปิด (open pyometra) พบในสุนัขหรือแมวที่ปากมดลูกยังคลายตัว หนองภายในมดลูกสามารถไหลออกมาทางปากมดลูกสู่ช่องคลอดและออกไหลออกทางอวัยวะเพศ ทำให้เจ้าของสามารถสังเกตเห็นหนองที่อวัยวะเพศได้ชัดเจน

มดลูกอักเสบแบบปิด (closedpyometra) พบในสุนัขหรือแมวที่ปากมดลูกปิด หนองภายในมดลูกไม่สามารถระบายออกทางปากมดลูกจะเกิดการสะสมของหนองภายในมดลูก หากหนองจำนวนมากจะสังเกตได้ชัดเจนว่าสัตว์ท้องขยายมากขึ้น เนื่องจากปากมดลูกปิดจึงไม่พบสิ่งคัดหลั่งใด ๆ ไหลออกมาทางอวัยวะเพศ ดังนั้นมดลูกแบบปิดมักจะมีเป็นความผิดปกติที่รุนแรงมากกว่าแบบเปิด และเป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องเร่งรักษาและผ่าตัดนำมดลูกออก

สิ่งที่เจ้าของจะสังเกตได้เมื่อสัตว์เลี้ยงป่วย ได้แก่ อาการป่วยทั่วไป เช่น ซึม เบื่ออาหาร เก็บตัว ตัวรัอนมีไข้ และอาการเด่นชัดของโรคมดลูกอักเสบ มีสิ่งคัดหลั่งไหลออกจากอวัยวะเพศ ท้องกาง ปวดท้อง ร่วมกับสุนัขหรือแมวเพิ่งหมดสัดไปหรือมีประวัติการฉีดยาคุมกำเนิด หากพบอาการเหล่านี้ควรพาน้อง ๆ ไปพบสัตวแพทย์กันนะคะ

เมื่อสัตว์ป่วยได้พบกับสัตวแพทย์ สัตวแพทย์จะมีหลักในการตรวจวินิจฉัยต่าง ๆ เพิ่มเติม เริ่มจากการเก็บข้อมูลเบื้องต้นของสัตว์ ได้แก่ ข้อมูลสัตว์ อายุ ประวัติการใช้ยาคุมกำเนิด ทำหมันแล้วหรือไม่ ? ลักษณะและระยะเวลาที่เจ้าของเห็นความผิดปกติ การวินิจฉัยเพิ่มเติม ได้แก่ การตรวจเลือด เพื่อประเมินสุขภาพ ความรุนแรงของการอักเสบ ความพร้อมของร่างกายหากสัตว์จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด

การตรวจยืนยันคำวินิจฉัย ได้แก่ ถ่ายภาพเอ็กซเรย์ และ/หรือการทำอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง นอกจากช่วยยืนยันว่าปัญหาท้องกางเป็นการโตขึ้นจากภาวะหนองสะสมภายในมดลูก โดยไม่ได้เกิดจากปัญหาอวัยวะอื่น ๆ ภายในช่องท้องที่อาจแสดงอาการท้องกางได้เช่นกัน การทำอัลตร้าซาวด์จะให้ข้อมูลรายละเอียดเรื่องของขนาดมดลูก ความหนาของผนังมดลูก และลักษณะสิ่งคัดหลั่งหรือของเหลวภายในมดลูกด้วย

การรักษาโรคมดลูกอักเสบแบบมีหนอง

หากสุนัขและแมวที่ไม่ต้องการเจริญพันธุ์แล้วไม่ว่าจะเป็นมดลูกอักเสบแบบเปิดหรือแบบปิด แนะนำเป็นการผ่าตัดมดลูกออกหรือการทำหมันในเพศเมียนั้นเอง วิธีนี้ลดการเกิดปัญหาซ้ำในวงรอบถัดไป ถือว่าเป็นการรักษาที่ดีและถาวรของโรคมดลูกอักเสบ

ในกรณีที่สุนัขหรือแมวที่ยังอยู่ในช่วงเจริญพันธุ์และเจ้าของยังอยากให้มีลูก มีทางเลือกการรักษาทางยาโดยไม่ต้องผ่าตัด ปัจจุบันรักษาทางยาใช้เฉพาะมดลูกอักเสบแบบเปิด ส่วนมดลูกอักเสบแบบปิดซึ่งมีความรุนแรงและอาจทำให้สุนัขเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันยังแนะนำเป็นการผ่าตัดมดลูกออกอนาคตยากลุ่มต้านตัวรับโปรเจนเตอโรน (antiprogesterone receptor) อาจจะเพิ่มทางเลือกในการรักษาทางยาของมดลูกอักเสบแบบปิดได้ โดยยาตัวนี้ยังไม่มีการใช้ในประเทศไทย รอกันอีกระยะนะคะ

หากจะตัดสินใจเลือกการรักษาทางยาในรายของมดลูกอักเสบแบบเปิด ขอฝากหลักสำคัญที่ควรคำนึงถึงในการรักษา ได้แก่

1. ความสำเร็จการรักษาทางยาในสัตว์แต่ละตัวแต่ละครั้งต่างกัน หลายตัวรักษาแล้วตอบสนองได้ดีและสามารถตั้งท้องได้ หลายตัวรักษาตอบสนองได้ดีแต่ยังคงมีปัญหาการผสมไม่ติดและกลับมาเป็นมดลูกอักเสบอีกครั้งในรอบสัดถัดไป หลายตัวไม่ตอบสนองต่อการรักษาทางยาและปรับการรักษาโดยการผ่าตัดทำหมัน

2.หลังการรักษามดลูกอักเสบแล้วควรจัดเตรียมการผสมในรอบสัดต่อไปโดยปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อให้สัตว์สามารถผสมติดและตั้งท้อง นอกจากการตั้งท้องที่สอดคล้องกับความต้องการของเจ้าของที่ยังไม่อยากให้ผ่าตัดมดลูกออกแล้ว ทางจุลกายวิภาคผนังมดลูกและต่อมมดลูกจะปรับเปลี่ยนไปเพื่อเตรียมพร้อมในการฝังตัวของถุงตัวอ่อน ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้เกิดผนังมดลูกหนาตัวแบบมีถุงน้ำ (CEH) และมดลูกอักเสบตลอดช่วงเวลาที่สัตว์ตั้งท้อง

3. ค่าใช้จ่ายในการรักษาทางยา เนื่องจากต้องใช้เวลาในการรักษาและการติดตามผลการรักษาต่อเนื่องอย่างใกล้ชิด ในส่วนนี้เจ้าของที่เลือกวิธีนี้ควรเข้าใจและให้ความร่วมมือต่อการรักษาอย่างต่อเนื่อง หมายความว่างบประมาณค่ารักษาในแต่ละรายอาจไม่เท่ากันขึ้นตามระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาจนกว่าหนองภายในมดลูกจะหายสัตว์ป่วยส่วนหนึ่งค่ารักษาทางยาอาจจะสูงกว่าการเลือกรักษาโดยการผ่าตัด

การรักษามดลูกอักเสบแบบเปิดประกอบด้วยหลักการดังต่อไปนี้

1.การเลือกใช้ยาต้านจุลชีพที่เหมาะสมและยาวนานจนกว่าการติดเชื้อจะหายไป นิยมเลือกตามผลการเพาะเชื้อแบคทีเรียจากหนองที่ไหลออกมาทางอวัยวะเพศ

2. การใช้ยาเพิ่มการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูก เพื่อช่วยการขับหนองออกจากมดลูก จึงไม่สามารถใช้ในรายที่เป็นมดลูกอักเสบแบบปิด เนื่องจากมีผลทำให้มดลูกบีบตัวจนมดลูกแตกได้

3. การให้สารน้ำเพียงพอ เนื่องจากระหว่างการรักษามดลูกอักเสบยังคงมีการเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้และมีผลต่อการอักเสบของกรวยไตร่วมได้ การให้น้ำเกลือร่วมระหว่างนี้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน แม้สภาพสัตว์จะกินข้าวและน้ำได้เป็นปกติก็ตาม
การรักษาจะเป็นการรักษาแบบให้สัตว์พักค้างหรือนำสัตว์ตรวจติดตามกับสัตวแพทย์อย่างใกล้ชิดพิจารณาตามสภาพสัตว์แต่ละราย
จากที่กล่าวมาแล้วมดลูกอักเสบถือเป็นปัญหาใกล้ ๆ ตัวสำหรับผู้ที่มีสุนัขและแมวเพศเมียนะคะ การป้องกันที่ดี คือ การทำหมันในช่วงวัยที่เหมาะสม

การทำหมันในสุนัขและแมวเพศเมียจะเป็นการผ่าตัดเอามดลูกและรังไข่ออก (ovariohystectomy: OVH) หลังการทำหมันแล้ว
สุนัขและแมวก็จะไม่มีฮอร์โมนโปรเจนเตอโรนที่สร้างจากรังไข่ ไม่มีอวัยวะของมดลูกเหลือให้เกิดโรค ที่ใช้คำว่า “ทำหมันในช่วงวัยที่เหมาะสม” เนื่องจากความเหมาะสมของแต่ละท่านอาจต่างกัน ขอยกตัวอย่าง กลุ่มสุนัขและแมวที่ไม่ต้องการให้มีลูกเลยสามารถทำหมันได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน หลังสัตว์ทำวัคซีนครบและสุขภาพสมบูรณ์อยู่ในเกณฑ์ดี แข็งแรง ข้อดีส่วนนี้นอกจากป้องกันโรคของมดลูกแล้ว ยังป้องกันหรือลดโอกาสการเกิดเนื้องอกเต้านมที่ก็มักพบในช่วงที่สัตว์อายุมาก กลุ่มของเจ้าของที่อยากให้น้อง ๆ มีการให้ลูกก่อน ควรเตรียมความพร้อม ในการจัดการการผสม จนถึงวัยก่อน 5 ปีค่ะ

ไม่ทำหมันได้ไหม ? ไม่อยากให้สัตว์เจ็บจากการผ่าตัด !

การเกิดมดลูกอักเสบในสุนัขและแมวพบได้มาก และมักพบเมื่อสัตว์มีอายุมาก หากเราสามารถป้องกันหรือทำการผ่าตัดในช่วงเวลาที่สัตว์แข็งแรง สุขภาพดี ก่อนที่จะเกิดโรคก็เป็นอีกมุมมองทางเลือกที่อยากให้พิจารณานะคะ

บทความโดย

อ.สพ.ญ.ดร. ชื่นสุมน ลิ้มมานนท์ (อว.สพ. เวชศาสตร์ระบบสืบพันธุ์)
Chunsumon Limmanont, DVM, MS, DTBT, Ph.D.
ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Department of Companion Animal Clinical Sciences, Faculty of Veterinary Medicine, Kasetsart University
ศูนย์เวชศาสตร์ระบบสืบพันธุ์ โรงพบาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
Theriogenology Center, Kasetsart University Veterinary Teaching Hospital

ติดตามข้อมูลจาก บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่