ประวัติสายพันธุ์
สุนัขพันธุ์ ดัลเมเชียน (Dalmatian) เป็นสายพันธุ์เก่าแก่ที่มีเชื้อสายที่สืบทอดมายาวนาน มีความเชื่อว่ามีต้นกำเนิดจากชายฝั่ง Dalmatia ซึ่งตั้งอยู่คาบสมุทรบอลข่าน ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 จากสุนัขสายพันธุ์ Talbot Hound ซึ่งเป็นสุนัขที่มีขนสีขาวทั้งตัว และนิยมนำมาเป็นสุนัขอารักขาในกองคาราวาน รวมถึงคอยช่วยและทำหน้าที่ในการล่าสัตว์ ส่วนลายจุดที่เป็นจุดเด่นของพวกมันนั้น คาดว่าอาจเกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่าง Talbot Hound และสุนัขพันธุ์ Pointer
แต่ถึงอย่างไรก็ตามยังคงมีอีกหนึ่งตำนานกล่าวถึงที่มาของ “ดัลเมเชียน” ซึ่งตำนานนี้ถูกเล่าขานว่า ต้นกำเนิดของพวกมันอาจจะมาจากทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย แล้วถูกนำเข้ามายังยุโรปโดยชาวยิปซี ซึ่งเป็นชนเผ่าเร่ร่อนในศตวรรษที่ 14 เนื่องจากพบบันทึกเกี่ยวกับสุนัขพันธุ์นี้ในเมืองที่ชื่อว่า ดัลเมเชียน ในยุคแรก ๆ จึงเป็นที่มาของชื่อสุนัขพันธุ์นี้ว่า “ดัลเมเชียน” ในภายหลังด้วยรูปร่างที่ปราดเปรียว และสง่างามนี้เอง จึงเป็นที่นิยมของชนชั้นสูงในยุโรป ซึ่งชื่นชอบกีฬาการล่าสัตว์ ความนิยมนี้มีมาอย่างต่อเนื่องทำให้สุนัขพันธุ์ดัลเมเชียนเป็นสัญลักษณ์ความอดทนและความกล้าหาญ เห็นได้จากในยุควิกตอเรีย พวกมันมีอีกชื่อว่าสุนัขดับเพลิง เพราะ จะเห็นจากการค้นพบภาพสุนัขพันธุ์นี้ วิ่งไปตามถนนเพื่อกันผู้คนไม่ให้ไปรบกวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ดับเพลิง
ลักษณะทางกายภาพ
สุนัขพันธุ์ดัลเมเชียนเป็นสุนัขขนาดกลางที่ผสมผสานกันระหว่างความสง่างามและความแข็งแรง จัดเป็นหนึ่งในสายพันธุ์สุนัขใช้งานที่ได้รับความนิยม มีจุดเด่นที่สรีระของร่างกายที่มีความได้เปรียบกว่าสุนัขพันธุ์อื่น พวกมันขึ้นชื่อว่ามีความปราดเปรียวอย่างมาก เคลื่อนไหวได้อย่างว่องไว ดัลเมเชียนมีหูพับลงตามธรรมชาติ และมีลักษณะเป็นทรงสามเหลี่ยม ส่วนหางนั้นจะยาวเรียว ปลายหางงอขึ้นเล็กน้อย สีของดวงตามีได้ทั้งน้ำตาล และสีฟ้าที่ดูกระตือรือร้น ฉลาด และมั่นใจในตนเอง จมูกและปากส่วนบนเป็นทรงสี่เหลี่ยมยาวและมีจมูกสีดำ ขากรรไกรมีความแข็งแรงร่วมกับฟันที่คมเหมือนกรรไกร
ขนาดของดัลเมเชียน ทั้งสุนัขเพศผู้และสุนัขเพศเมียมีความสูงมาตรฐานอยู่ที่ 9-23 นิ้ว โดยวัดจากหัวไหล่ถึงพื้น โดยทางสมาคม American kennel club ได้ระบุว่าสุนัขที่สูงกว่า 24 นิ้วจะถูกตัดสิทธิ์จากการประกวด สุนัขเพศผู้มีน้ำหนักมาตรฐานอยู่ที่ 45-70 ปอนด์ และสุนัขเพศเมียอาจจะตัวเล็กกว่าเพศผู้ได้เล็กน้อย ความยาวโดยรวมของลำตัวจากส่วนหน้าถึงส่วนท้ายลำตัวจะเท่ากับความสูงที่ไหล่ โดยประมาณ
ลักษณะสีขนตอนแรกเกิดนั้นพวกมันจะมีขนสีขาวล้วน ส่วนลายจุดจะเด่นชัดขึ้นในสองสัปดาห์ต่อมา ซึ่งจากคำอธิบายของ American Kennel Club (AKC) ลักษณะของดัลเมเชียนต้องมีขนสั้น และหนา มีจุดสีน้ำตาลหรือสีดำบนพื้นขนสีขาว ถ้าเป็นสีอื่น หรือการพบมากกว่าสองเฉดสีบนตัวสุนัขนั้น จะถูกตัดสิทธิ์จากการประกวด ลายจุดสามารถมีได้หลายขนาด 2-3 เซนติเมตร แต่ต้องมีลักษณะกลมไม่ซ้อนทับ และมีการกระจายทั่วทั้งตัว บริเวณขาจะมีจุดขนาดเล็กกว่าลำตัว ส่วนหูและใบหน้าก็ควรจะมีจุดปรากฏด้วย
อายุขัย
สุนัขพันธุ์ดัลเมเชียนโดยทั่วไปมักมีอายุประมาณ 11-13 ปี
ลักษณะนิสัย
สุนัขพันธุ์ดัลเมเชียนมักจะเป็นสุนัขที่รักสะอาด สงบเสงี่ยม ร่าเริง ซน เฉลียวฉลาด และเป็นสุนัขที่มีนิสัยคอยระแวดระวังสิ่งต่าง ๆพวกมันเป็นสุนัขที่ไม่ค่อยเห่า ยกเว้นจะมีอันตราย หรือแม้กระทั่งพบเจอสัตว์ตัวเล็ก ๆ นอกจากนี้ พวกมันยังคงมีความอดทนเป็นอย่างมาก สามารถที่จะวิ่งในความเร็วปานกลางแบบไม่หยุดพักในระยะทางไกล ๆ ได้ ดังนั้น ผู้เลี้ยงดูจึงควรเอาใจใส่ และมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การเข้ากับเด็ก
โดยทั่วไปแล้วดัลเมเชียนมักจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก ๆ แสดงออกอย่างอ่อนโยนเมื่ออยู่กับเด็กเล็ก ๆ เมื่อได้รับการฝึกอบรมให้เกิดความคุ้นเคยกันตั้งแต่เล็ก พวกมันสามารถเรียนรู้ที่จะรัก มีความขี้เล่นและมีความซื่อสัตย์ต่อเด็ก ๆ ได้ เพราะ สัญชาตญาณที่มีนิสัยชอบระแวดระวังสิ่งต่าง ๆ รอบตัวโดยธรรมชาติ อาจทำให้เห่า และวิ่งไล่เด็ก ๆ ได้หากไม่ได้รับการฝึกที่ถูกต้อง
การดูแล
การออกกำลังกาย
พวกมันเป็นสุนัขที่ติดเล่นมาก จึงชื่นชอบการออกกำลังกายมาก ๆ แล้วยิ่งถ้าได้ทำกิจกรรมร่วมกับเจ้าของ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเก็บบอล วิ่งจ็อกกิ้งกับเจ้าของ หรือแม้กระทั้งการเดินป่าเป็นเวลานาน พวกมันจะรู้สึกดี ซึ่งดีต่อสุขภาพและสภาพจิตใจของสุนัขอย่างมาก
ดัลเมเชียนต้องการการออกกำลังกายอย่างน้อย 30-60 นาที ในแต่ละวัน แต่อย่าพาสุนัขไปวิ่งออกกำลังกายจนกว่าพวกมันจะมีอายุ 18 เดือน เนื่องจากกระดูกของพวกมันยังเจริญไม่สมบูรณ์ ถ้าหากพวกมันวิ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการพัฒนากระดูกและข้อต่อได้ สิ่งสำคัญคือผู้เลี้ยงจะต้องรู้จักการรักษาสมดุลและการบริหารเวลา และต้องรู้จักสุนัขของตัวเองเป็นอย่างดี
อาหาร
สิ่งสำคัญที่ควรจำคือ การให้อาหารในสุนัขแต่ละตัวมีความแตกต่างกัน ในขณะที่ดัลเมเชียนตอนเด็กจะกินอาหารได้มากกว่าช่วงโตเต็มวัย โดยทั่วไปลูกสุนัขควรกินอาหารแห้งในปริมาณ 2 ถ้วย จำนวน 2-3 ครั้งต่อวัน ซึ่งเต็มไปด้วยสารอาหารที่มีคุณภาพสูงเพื่อสุขภาพในการเจริญเติบโตที่ดี เมื่ออายุมากขึ้นให้ระมัดระวังการรักษาสมดุลระหว่างน้ำหนักและการรับประทานอาหาร หากพวกมันมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ให้ทำการลดปริมาณอาหารลง และไม่ว่าจะใช้พลังงานไปเยอะเพียงใด แต่กระบวนการเผาผลาญอาหารของพวกมันก็จะเสื่อมลงไปตามอายุ ดังนั้น จึงควรคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ด้วย
โรคประจำพันธุ์
- โรคผิวหนัง
- โรคภูมิแพ้ (skin allergies)
- โรคระบบประสาท
- โรควิตกกังวล (Anxiety)
- โรคระบบโครงกระดูก ข้อต่อ และโครงสร้าง
- โรคกระดูกอักเสบ (Panosteitis)
- โรคข้อสะโพกเจริญผิดปกติ (Hip Dysplasia)
- ข้ออักเสบ (Arthritis)
- โรคมะเร็งกระดูก (Osteosarcoma)
- โรคระบบต่อมไร้ท่อ
- โรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
- โรคระบบทางเดินปัสสาวะ
- โรคนิ่ว (Urolithiasis)
- โรคตา
- โรคต้อกระจก (Cataracts)
- โรคต้อหิน (Glaucoma)
- โรคหู
- โรคหูหนวกแต่กำเนิด (Congenital deafness)
- โรคมะเร็ง (cancer)
เรื่อง: ชนิฏฐา กล้าแข็ง