ห้ามสุนัขกัดกัน อย่างไร ให้ปลอดภัย

เชื่อว่าเจ้าของน้องหมาหลายท่านอาจเคยตกอยู่ในสถานการณ์สุนัข 2 ตัวกัดกัน หรือตั้งท่ากำลังจะกัดกัน หลาย ๆ ครั้งที่เราพยายามเข้าไป “ห้ามสุนัขกัดกัน” แต่กลับทำให้สุนัขกัดกันมากขึ้น หรือหันกลับมากัดเจ้าของเสียเอง

สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ทำให้เกิดความเครียดต่อทั้งสุนัขและเจ้าของ แล้วเราจะ ห้ามสุนัขกัดกัน อย่างไร และเราจะแยกสุนัขที่กัดกัน หรือมีแนวโน้มจะกัดกันอย่างไร ก่อนจะกลายเป็นเหตุการณ์ที่เกินความควบคุม มาดูกันเลยครับ

เริ่มแรกเลย ในกรณีที่สุนัขยังไม่มีการกัดทำร้ายกัน ช่วงเวลาตรงนี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก ๆ ที่ผู้เลี้ยงอย่างเรา ๆ จะสามารถช่วยปัองกันไม่ให้สถานการณ์บานปลายต่อไป

โดยเมื่อเราสังเกตเห็นสัญญาณบางอย่าง ที่สุนัขแสดงออกต่อสุนัขอีกตัวหนึ่ง เช่น ยืน นั่ง หรือนอนขวางทางสุนัขตัวอื่น มีลักษณะตัวนิ่ง ๆ ไม่ค่อยขยับร่างกาย ตามองจ้องไปที่สุนัขอีกตัว และขนบริเวณหลังตั้งขึ้น

หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น เราอาจได้ยินเสียงขู่ในลำคอของสุนัขตัวใดตัวหนึ่ง หรือเริ่มเห็นการแยกเขี้ยว การแสดงภาษากายในลักษณะดังกล่าว เป็นสัญญาณที่เจ้าของไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นต่อไป เพราะอาจจะนำไปสู่ความก้าวร้าวที่ยากจะควบคุมได้

 ห้ามสุนัขกัดกัน, วิธีห้ามสุนัขกัดกัน

สำหรับการจัดการในเบื้องต้นเมื่อเราสังเกตเห็นภาษากายดังกล่าว เจ้าของควรทำการดึงความสนใจของสุนัขให้กลับมาที่เจ้าของให้ได้ โดยอาจจะใช้การเรียกให้สุนัขกลับมาหา หรืออาจใช้ขนม หรือของเล่น ล่อสุนัขตัวที่เป็นตัวเริ่มก้าวร้าวออกมาก่อนหลังจากนั้นพยายามกันไมให้สุนัขทั้งสองตัวได้กลับเจอกันอีก ในสถานการณ์ดังกล่าว

สำหรับในกรณีที่มีเกิดการกัดกันแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือเจ้าของไม่ควรส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เข้าไปขวางระหว่างสุนัข หรือยื่นเข้าไปบริเวณหน้าของสุนัขตัวใดตัวหนึ่ง

เนื่องจากการกระทำดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อตัวเราเองที่จะถูกกัดได้ (Redirected aggression) นอกจากนี้ การส่งเสียงดัง เช่น การตะโกนให้สุนัขหยุด ก็อาจจะไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นแต่อย่างใด ในทางกลับกัน อาจทำให้การทะเลาะกันนั้นรุนแรงขึ้น เนื่องจากความเร้าที่เพิ่มขึ้นจากเสียงดังรอบตัว

 ห้ามสุนัขกัดกัน, วิธีห้ามสุนัขกัดกัน

วิธีที่ดีที่สุดในการแยกสุนัขที่กำลังกัดกัน คือการใช้อุปกรณ์ใดก็ได้ ที่สามารถช่วยแยกสุนัขสองตัวออกจากกันได้ เช่น ใช้บอร์ดกระดาษแข็ง หรือพลาสติกแผ่นใหญ่ ๆ เข้าไปขวางระหว่างสุนัขทั้งสองตัว เพื่อลดการมองเห็น และแยกสุนัขทั้งสองตัวออกจากกัน

หากไม่มีอุปกรณ์ลักษณะดังกล่าว เราสามารถหาผ้าห่มผืนใหญ่ ๆ เอามาคลุมที่ตัวสุนัข โดยเลือกคลุมตัวที่เป็นตัวเริ่มกัดเป็นหลัก จากนั้นใช้มือจับที่ขาหลังสองข้างของสุนัขผ่านผ้าห่มที่คลุมไว้ แล้วดึงออกมาเพื่อแยกสุนัขออกจากกัน วิธีการดังกล่าว จะช่วยลดอันตรายหากสุนัขหันกลับมากัดในขณะที่เราแยกสุนัขออกจากกัน

หากสุนัขที่กัดกันเป็นสุนัขที่กัดกันเป็นสุนัขที่เลี้ยงอยู่ด้วยกัน ในเบื้องต้นเจ้าของควรมีการปรับลักษณะการเลี้ยง เพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์การกัดกันในอนาคต โดยหากทราบตัวกระตุ้นที่ทำให้สุนัขกัดกัน ควรหลีกเลี่ยงการให้สุนัขเจอกับตัวกระตุ้นดังกล่าว

ห้ามสุนัขกัดกัน, วิธีห้ามสุนัขกัดกัน

แต่หากไม่ทราบว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้น วิธีการจัดการที่ดีที่สุดคือการแยกสุนัขทั้งสองตัวออกจากกันไปก่อน ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดโอกาสที่จะทะเลาะกันของสุนัข และยังเป็นการป้องกันไม่ให้ปัญหาที่เกิดขึ้นมีความรุนแรง และซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

ในระยะยาว ผู้เลี้ยงควรพาสุนัข (โดยเฉพาะตัวที่เป็นตัวเริ่มกัด) ไปพบสัตวแพทย์ เพื่อทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียด เนื่องจากบ่อยครั้งที่ปัญหาความก้าวร้าว มีสาเหตมาจากปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะในกรณีที่เคยอยู่ด้วยกันได้อย่างไม่มีปัญหา อยู่ ๆ ก็เริ่มก้าวร้าวใส่กัน

หากไม่พบความผิดปกติใด ๆ ทางด้านร่างกาย เจ้าของควรพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์ด้านพฤติกรรมสัตว์ เพื่อหาสาเหตุของความก้าวร้าวที่เกิดขึ้น และทำการวางแผนการจัดการกับปัญหาดังกล่าวด้วยวิธีการที่เหมาะสม และสอดคล้องกับหลักสวัสดิภาพสัตว์ต่อไป

บทความโดย อ.ดร.น.สพ.ปรารมภ์ ศรีภวัศราคม

Prarom Sriphavatsarakom, DVM (Hons), MScStud, PhD

Faculty of Veterinary Science Mahidol University

  • Animal Behaviour Clinic, Pasu-arthorn Animal Hospital, Mahidol University

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ: โรคพิษสุนัขบ้าในสุนัข