โรคพิษสุนัขบ้า ในสุนัข หรือโรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดต่อที่ไม่ได้เกิดขึ้นในสุนัขเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดในสัตว์ชนิดอื่น ๆ ได้ด้วย
สาเหตุของการเกิด โรคพิษสุนัขบ้า
โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากเชื้อเรบีไวรัส (Rabies virus) ผ่านการกัดโดยสัตว์เลี้ยงที่เป็นโรคอยู่แล้ว เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายของสัตว์แล้ว เชื้อจะเดินทางผ่านจากระบบไหลเวียนโลหิตเข้าสู่ระบบประสาทส่วนปลาย ไขสันหลัง และเข้าสู่สมองในที่สุด
จากนั้นเชื้อพิษสุนัขบ้าจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนในสมอง และเชื้อจะแพร่ตามเส้นประสาทสู่อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย รวมถึงต่อมน้ำลาย ซึ่งหากสัตว์ที่มีเชื้อในต่อมน้ำลายไปสัตว์ตัวอื่น หรือมนุษย์ เชื้อพิษสุนัขบ้าก็จะติดต่อผ่านน้ำลายที่ไปสัมผัสกับบาดแผลบนร่างกาย
อาการโรคพิษสุนัขบ้า ในสัตว์เลี้ยง
เมื่อเชื้อพิษสุนัขบ้าเข้าสู่ร่างกายของสัตว์แล้ว โดยทั่วไปจะแสดงอาการประมาณ 14 – 90 วัน หรืออาจนานกว่านั้น โดยอาการติดเชื้อพิษสุนัขบ้าจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่
- สัตว์แสดงอาการแบบดุร้าย
สัตว์ที่ติดเชื้อจะเริ่มเบื่ออาหาร กลืนอาหารลำบาก น้ำลายไหลมากกว่าปกติ นิสัยเปลี่ยนไป ก้าวร้าวมากขึ้น แสดงอาการตื่นเต้น ร้องโหยหวน ดุร้าย ถึงขั้นทำร้ายมนุษย์ วิ่งชนสิ่งกีดขวาง และอาการจะแย่ลงเมื่อเชื้อพิษสุนัขบ้าเข้าสู่สมอง สัตว์จะเป็นอัมพาต ล้มตัวลงนอน ชัก และเสียชีวิตในที่สุด โดยอาการของโรคจากขั้นเริ่มต้นมาจนถ7งขั้นเสียชีวิต ใช้เวลาประมาณ 2 – 7 วัน
- สัตว์แสดงอาการเซื่องซึม
ในกลุ่มนี้ สัตว์จะแสดงอาการดุร้ายก้าวร้าวสั้นมาก จนแทบไม่ทันได้สังเกต อาการจะเข้าสู่การเป็นอัมพาตอย่างรวดเร็ว เซื่องซึมเกือบตลอดเวลา น้ำลายไหลมาก การทำงานของกล้ามเนื้อขาไม่สัมพันธ์กัน อาการสุดท้ายจะเกิดการชัก และเสียชีวิต นอกจากนี้ ในบางตัวยังพบว่า สัตว์จะแสดงอาการกล้ามเนื้อกระตุก ใบหูบิด หางบิด มีอาการไอคล้ายมีสิ่งแปลกปลอดติดคอ และร้องเสียงแหบต่ำ
การตรวจวินิจฉัยโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัข
เนื่องจากอาการโรคพิษสุนัขบ้าในระยะแรกปรากฎไม่ชัดเจน จึงทำให้การสังเกตด้วยตาเปล่าจึงทำได้ลำบาก ดังนั้น สัตวแพทย์จึงจำเป็นต้องตรวจหาเชื้อในเลือดด้วยวิธีการทางห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันการติดเชื้อ
การรักษาโรคพิษสุนัขบ้า
ถ้าสัตว์ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าแล้ว การรักษาด้วยการฉีดวัคซีนให้กับสัตว์อาจได้ผลไม่แน่นอน เนื่องจากหลายสาเหตุ เช่น สัตว์อาจได้รับวัคซีนช้าเกินไป ขนาดและโปรแกรมวัคซีนไม่เหมาะสม บาดแผลลึกและอยู่ใกล้ใบหน้า หรือเป็นลูกสัตว์ที่สุขภาพยังไม่แข็งแรง เป็นต้น
การควบคุมและป้องกัน
การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ดีที่สุด คือ ระวังอย่าให้สัตว์เลี้ยงของเราถูกสุนัขกัดหรือแมวกัด เพราะการติดเชื้อส่วนใหญ่าจากน้ำลายสัตว์ที่เป็นโรคอยู่แล้ว และการป้องกันโดยการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี
โรคพิษสุนัขบ้าในมนุษย์
สาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าในมนุษย์เกิดจากสุนัข แมว หรือสัตว์ที่มีเชื้อโรค กัด ข่วน หรือเลีย โดยเชื้อที่อยู่ในน้ำลายสัตว์จะผ่านเข้าสู่ร่ากายของมนุษย์ผ่านทางบาดแผล หรือเยื่ออบุผิวเช่น ริมฝีปาก และเยื่อบุตา
ระยะฟักตัวของเชื้อในคน
การติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในคน แบ่งเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย
ส่วนใหญ่ ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าจะมีระยะฟักตัวของโรคไม่เกิน 1 ปี โดยความไวของการแสดงโรคขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น อวัยวะที่ถูกกัด ความรุนแรงของบาดแผล ชนิดของสัตว์ ปริมาณเชื้อไวรัสที่เข้าสู่ร่างกาย และวิธีปฏิบัติหลังจากถูกกัด เป็นต้น
- ระยะที่เชื้อเดินทางจากตำแหน่งที่เข้าไปยังระบบประสาท
- ระยะเชื้อเพิ่มจำนวนในระบบประสาทส่วนกลาง
- ระยะที่เชื้อเดินทางจากระบบประสาทส่วนกลางออกสู่อวัยวะอื่น
การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคน
องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแก่กลุ่มคนที่มีอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อพิษสุนัขบ้าในกลุ่มที่มีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า เช่น เจ้าหน้าที่ชันสูตรโรคพิษสุนัขบ้า สัตวแพทย์ นักสัตววิทยา ผู้ปฏิบัติงานควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในภาคสนาม ผู้พิทักษ์สัตว์ป่า ผู้มีอาชีพเลี้ยงสัตว์ (โดยเฉพาะสุนัข แมว และสัตว์ป่า) และรวมถึงบุคลากรในสถานบริการสาธารณสุข
แนวทางการปฏิบัติตัวเมื่อสัมผัสกับสัตว์ ที่อาจสงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า
- ถ้าร่างกายของเราไม่มีแผล หรือรอยถลอก แล้วไปสัมผัสตัวสัตว์ หรือถูกเลีย ให้ล้างทำความสะอาดบริเวณนั้นด้วยน้ำสบู่ โดยไม่ต้องไปฉีดวัคซีน
- สัตว์เลี้ยงขบกัดเป็นรอยช้ำที่ผิวหนัง ถูกข่วน หรือถูกเลียบริเวณที่มีแผลถลอก ให้ล้างทำความสะอาดบาดบริเวณนั้น และไปฉีดวัคซีน
- ถ้าสัตว์เลี้ยงกัด หรือข่วน จนเลือดออก หรือถูกเลียบริเวณใบหน้า ให้ล้างทำความสะอาดแผล และไปฉีดวัคซีน
โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่มีวัคซีนรักษาแล้วก็จริง แต่การป้องกันสัตว์เลี้ยง และตัวเราเองให้ห่างไกลจากโรคพิษสุนัข ย่อมเป็นหนทางที่ดีกว่าการรักษา
ข้อมูลอ้างอิง
สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ – โรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ (Rabies)
โรงพยาบาลวิภาวดี – 7 เรื่องน่ารู้… กับโรคพิษสุนัขบ้า
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : แมวฉีดวัคซีนได้ตอนกี่เดือน รวมถึงน้องหมาด้วย