โรคพิษสุนัขบ้าในแมว อาจเป็นชื่อโรคที่ไม่คุ้นเคยเหมือนกับโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัข และหลายคนอาจยังคิดว่าเป็นโรคที่พบได้เฉพาะในสุนัขเท่านั้น
โรคพิษสุนัขบ้าในแมว
ในความเป็นจริงแล้ว โรคพิษสุนัขบ้าพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น แมว คน สุนัข วัว ลิง กระรอก หนู กระต่าย ค้างคาว เป็นต้น และจัดเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (zoonosis) ที่สำคัญทางสาธารณสุขทั่วโลก
ปัจจุบันมีรายงานว่า พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าทั่วโลกกว่า 40,000-100,000 คนต่อปี โดยแมวเป็นสัตว์เลี้ยง ที่มีความใกล้ชนิดกับมุนษย์มากในปัจจุบัน และเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า และแพร่เชื้อสู่แมวด้วยกันเอง รวมถึงแพร่เชื้อสู่เจ้าของได้
อาการ โรคพิษสุนัขบ้าในแมว
แมวที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าจะแสดง 2 แบบคือ แบบดุร้าย (Furious form) และแบบซึม (Dumb or paralytic form)
อาการแบบดุร้าย (Furious) เป็นอาการแบบที่พบได้บ่อยในแมวติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าส่วนใหญ่ จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
- ระยะแรก หลังการติดเชื้อ 12 – 48 ชั่วโมง แมวจะมีไข้ เบื่ออาหาร มีอาการระบบทางเดินอาหาร เช่น ถ่ายเหลว อาเจียน มีอาการทางระบบประสาท อุปนิสัยเปลี่ยน ร้องเสียงดังจนผิดปกติ
- ระยะตื่นเต้น แมวจะแสดงพฤติกรรมตื่นกลัว ก้าวร้าว อาการดุร้าย กัด และจากนั้นจะเข้าสู่ระยะอัมพาต
- 3.ระยะอัมพาต แมวจะมีอาการเป็นอัมพาตตั้งแต่ส่วนท้ายของลำตัวไปจนถึงส่วนหัว มีอาการเดินเซ ทรงตัวไม่ได้ ชัก และเสียชีวิตในที่สุด
อาการแบบซึม (Dumb) แมวจะแสดงอาการในระยะตื่นเต้นสั้นมากจนอาจไม่สามารถสังเกตเห็นอาการได้ชัดเจน และอาการจะเข้าระยะอัมพาตอย่างรวดเร็ว และเสียชีวิตตามมา
การติดต่อของโรคพิษสุนัขบ้า
การติดต่อของเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าจะแพร่ผ่านทางน้ำลายของแมว หรือสัตว์ที่ติดเชื้อ ผ่านการโดนกัด ข่วนห รือเลียบาดแผล เชื้อพิษสุนัขบ้าในน้ำลายของแมวจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผล และเข้าสู่เส้นประสาท ไขสันหลัง และสมอง จากนั้นแพร่ไปทั่วร่างกาย รวมถึงต่อมน้ำลาย
แมวที่ได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้ามีจะระยะฟักตัวตั้งแต่ 2 สัปดาห์จนถึงหนึ่งปี โดยค่าเฉลี่ยของระยะฟักตัวโรคพิษสุนัขบ้าในแมวอยู่ที่ประมาณ 8 สัปดาห์ ขึ้นกับปริมาณของเชื้อไวรัส และบริเวณตำแหน่งของแผลที่ถูกกัด หลังจากแมวติดเชื้อ และเริ่มแสดงอาการของโรคแล้วมักจะเสียชีวิตในระยะเวลาประมาณ 10 วัน
การตรวจวินิจฉัยโรคพิษสุนัขบ้าในแมว
การตรวจวินิจฉัยโรคพิษสนัขบ้าสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การตรวจหาเชื้อไวรัส (Antigen test) การตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อโรคพิษสุนัขบ้า การตรวจหาเชื้อไวรัสด้วยวิธี PCR การตรวจทางจุลพยาธิวิทยา และ immunohistochemistry เป็นต้น
การป้องกัน และจัดการโรคพิษสุนัขบ้าในแมว
ปัจจุบัน แมวที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้น การการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี จึงเป็นวิธีการป้องกันที่ดีที่สดในตอนนี้ ซึ่งวัคซีนพิษสุนัขบ้าจัดเป็นวัคซีนหลัก (core vaccine) ในประเทศไทย
โดยจะเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเข็มแรกได้ตั้งแต่แมวอายุ 12 สัปดาห์หรือ 3 เดือนขึ้นไป และหากแมวโดนกัดโดยสัตว์ที่ไม่ทราบประวัติหรือสัตว์ต้องสงสัย แนะนำให้ติดต่อสัตวแพทย์ทันที และหากไม่ได้รับวัคซีนพิษสุนัขบ้าเกิน 6 เดือนแล้ว สัตวแพทย์อาจจะพิจารณาการฉีดวัคซีน เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้
บทความโดย
สพ.ญ.ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์ สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลแมว PURRfect Cat Hospital
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – แมวฉีดวัคซีนได้ตอนกี่เดือน รวมถึงน้องหมาด้วย