โรคลิวคีเมียในแมว หรือโรคมะเร็งโลหิตขาว เป็นหนึ่งในโรคแมวที่สามารถพบได้ในแมวทั่วโลก และแมวทุกตัวก็มีความเสี่ยงที่จะติดโรคนี้ได้ทุกช่วงวัย ดังนั้น การดูแลที่ดีจากคุณพ่อคุณแม่แมวตั้งแต่แรก จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคที่รุนแรงได้
โรคลิวคีเมียในแมว เกิดจากเชื้อไวรัส feline leukemia virus เป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะแมวที่เลี้ยงในระบบเปิด เนื่องจากแมวในระบบเปิดมีโอกาสสัมผัสกับแมวตัวอื่นๆ ตลอดเวลา เช่น การสัมผัสน้ำลายจากการเลียขนให้กัน การกินอาหารร่วมกัน หรือการสัมผัสปัสสาวะของแมวที่ติดเชื้ออย่างไม่ตั้งใจ เป็นต้น นอกจากนี้ โรคลิวคีเมียในแมวยังสามารถแพร่ผ่านจากแม่แมวสู่ลูกแมวใรระหว่างการตั้งท้อง หรือระยะให้นมได้เช่นกัน
เมื่อแมวติดเชื้อไวรัสลิวตีเมียจะส่งผลให้เกิดความผิดปกในร่างกาย โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มอาการ ได้แก่
- กดภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนได้ง่าย มีภาวะเลือดจาง เม็ดเลือดขาวต่ำ ซึ่งแมวแต่ละตัวจะมีความรุนแรงของการกดภูมิที่แตกต่างกันไป
- การเกิดมะเร็งเม็ดโลหิตขาวตามอวัยวะน้ำเหลืองต่างๆ
อาการของ โรคลิวคีเมียในแมว
แมวที่ติดเชื้อไวรัสลิวคีเมียจะแสดงอาการที่ผิดปกติแตกต่างกันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุของแมว ชนิดย่อยของไวรัส และจำนวนของไวรัสที่ติดเข้าสู่ร่างกาย เป็นต้น
โดยอายุของแมวยิ่งน้อยอาการยิ่งรุนแรง สำหรับแมวที่โตเต็มวัย บางกรณีได้รับเชื้อเข้าไปในร่างกายแล้ว แต่เชื้อยังไม่แสดงอาการ และเชื้อจะแฝงตัวอยู่ในร่างกายตลอดไป
อาการที่มักจะแสดงออกเมื่อแมวติดเชื้อลิวคีเมีย ประกอบด้วย ซึม มีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง ร่างกายผอม ติดเชื้อแทรกซ้อนง่ายจากการที่ภูมิคุ้มกันต่ำ เลือดจาง นอกจากนี้ยังเกิดโรคเรื้อรังในระบบทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร และโรคผิวหนังเรื้อรัง เป็นต้น
กลุ่มอาการเกิดโรคมะเร็งจะพบมะเร็งต่อมน้ำเหลืองตำแหน่งต่างๆ มีต่อมน้ำเหลืองโตทั่วร่างกาย หรือเกิดก้อนมะเร็งตามอวัยวะต่างๆ เช่น ในช่องอก และช่องท้อง
การตรวจวินิจฉัยของสัตวแพทย์
สัตวแพทย์จะเริ่มต้นสอบถามประวัติการเลี้ยงดู และตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยการตรวจเป็นไปได้หลายรูปแบบ เช่น การตรวจเลือดด้วยชุดตรวจหาแอนติเจนของไวรัสคิวคีเมีย การตรวจหาเชื้อไวรัสด้วยวิธี PCR การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด การตรวจค่าเคมีทางเลือด และการอัลตราซาวด์ช่องท้อง เป็นต้น
แนวทางการรักษา
ปัจจุบัน การติดเชื้อไวรัสลิวคีเมียยังไม่มียาฆ่าไวรัสที่ใช้รักษาจำเพาะ การรักษาจึงเป็นไปในแนวทางประคับประคอง และรักษาตามอาการของโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ให้ยาปฏิชีวนะกรณีที่ติดเชื้อแทรกซ้อน การถ่ายเลือดในรายที่มีเลือดจางรุนแรง การให้ยากระตุ้นภูมิคุ้มกัน และให้สารน้ำ เป็นต้น ในกรณีที่แมวเป็นมะเร็ง สัตวแพทย์อาจใช้การรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัดร่วมด้วย
การป้องกันการติดเชื้อ
การเลี้ยงแมวระบบปิดและไม่ให้ออกท่องเที่ยวนอกบ้าน เป็นหนึ่งวิธีที่ช่วยลดโอกาสการรับเชื้อจากแมวจร หรือแมวที่มีเชื้อไวรัสลิวคีเมียในร่างกาย หากพิจารณาแล้วว่า แมวในความดูแลของเรามีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโดยไม่ตั้งใจ ให้นำแมวไปฉัดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคลิวคีเมีย
กรณีที่แมวในบ้านป่วยเป็นโรคลิวคีเมีย ให้แยกแมวที่ป่วยออกจากแมวตัวอื่นๆ และทำความสะอาดโดยการฆ่าเชื้อบริเวณที่แมวอาศัยอยู่ และข้าวของเครื่องใช้ที่แมวสัมผัสประจำ
เรื่อง: สพ.ญ.ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์ สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลแมว PURRfect Cat Hospital
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ