ดูแลน้องแมว อย่างไร ในแต่ละวัน

คุณพ่อคุณแม่ทาสแมวหลายท่านอาจเคยสงสัยว่า ในแต่ละวันเราควร ดูแลน้องแมว อย่างไร และควรดูแลในเรื่องใดบ้าง

ความรักและความเอาใจใส่ของคุณพ่อคุณแม่ที่มีต่อน้องแมว เป็นสายสัมพันธ์ที่สวยงาม และมีคุณค่าต่อจิตใจ วันนี้ คุณหมอก้อย  สพ.ญ. ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์ สัตวแพทย์ประจำ PURRfect Cat Hospital จึงได้มาเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในการปรนนิบัติน้องแมวในหนึ่งวันให้ฟังว่า ในหนึ่งวันเราควร ดูแลน้องแมว อย่างไร และทำอย่างไรให้แลดูสุขภาพดีตลอดช่วงชีวิตที่เขาอยู่กับเรา 

หมอก้อยได้แนะนำวิธีการดูแลพื้นฐาน 4 ข้อ สำหรับน้องแมวทุกตัว ดังนี้ ค่ะ

1. การดูแลเส้นขนและผิวหนัง

ระบบปกคลุมร่างกายของน้องแมวทุกตัวประกอบด้วย เส้นขน และผิวหนัง ซึ่งแต่ละสายพันธุ์จะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม น้องแมวจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากคุณพ่อคุณแม่ เรื่องการดูแลเส้นขนและผิวหนังเหมือนกันทุกตัว

ดูแลน้องแมว, การดูแลแมว, การดูแลน้องแมว, ในชีวิตประจำวัน, วิธีดูแลน้องแมว, การเลี้ยงแมว
ภาพถ่าย Reba Spike via Unsplash

เส้นขนของน้องแมวที่มีสุขภาพดีจะมีลักษณะนุ่มสลวย เงางาม ไม่แห้งกระด้าง และขนไม่หลุดเป็นหย่อมๆ เมื่อเราใช้มือลูบ หรือใช้แปรงหวีสางเส้นขน

การดูแลเส้นขนของน้องแมว หมอก้อยได้แนะนำไว้แบบนี้ค่ะ 

  • สำหรับน้องแมวสายพันธุ์ขนยาว

คุณพ่อคุณแม่ควรแปรงขนเป็นประจำทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ครั้งละ 5 – 15 นาที (อย่านานกว่านี้นะคะ เพราะน้องอาจรำคาญได้) เพื่อช่วยกำจัดขนที่หลุดร่วงออกจากร่างกาย (ลดการเลียกินขนเข้าสู่ทางเดินอาหารและเกิดเป็นก้อนขน)  ลดการเกี่ยวพันกันของเส้นขนจนนำไปสู่การเป็นสังกะตัง และช่วยทำให้ขนอ่อนนุ่มขึ้น   

ในแมวขนยาวจุดที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ คือขนบริเวณรอบรูทวาร ซึ่งมักจมีอุจจาระไปติดอยู่กับเส้นขน ตุณพ่อคุณแม่ควรเช็ดทำความสะอาดบริเวณนี้ทุกครั้งที่เลอะคราบอุจจาระ หรืออาจจะตัดเล็มขนบริเวณให้สั้นลง

  • สำหรับน้องแมวพันธุ์ขนสั้น

คุณพ่อคุณแม่สามารถแปรงขนให้น้องสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง โดยวิธีการการแปรงขนสำหรับน้องแมว ทำได้ง่าย ๆ เลยค่ะ ใช้แปรงสำหรับสัตว์ หรือถุงมือที่มีหวี ค่อย ๆ เริ่มแปรงขนจากบริเวณหัวไหล่ไล่ลงไปที่หลัง และข้างลำตัว จากนั้นแปรงขนที่ใต้ลำคอ ส่วนบริเวณใต้รักแร้ อก และท้อง อาจจะให้น้องแมวอยู่ในท่านอนหงายอย่างสบายใจ แล้วค่อย ๆ แปรงอย่างนุ่มนวล (การแปรงขนบริเวณท้อง ต้องมั่นใจว่าน้องสงบและผ่อนคลายจริง ๆ นะคะ ระวังน้องแจกยันต์ห้าแถว)

ดูแลน้องแมว, การดูแลแมว, การดูแลน้องแมว, ในชีวิตประจำวัน, วิธีดูแลน้องแมว, การเลี้ยงแมว
ภาพถ่าย Hunt Han via Unsplash

2. การดูแลดวงตา

คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตดวงตาน้องได้ทุกวันค่ะ ดวงตาที่มีสุขภาพดีจะต้องสดใส ไม่มีคราบน้ำตา ไม่มีอาการหรี่ตา ม่านหดและขยายได้ปกติ 

การทำความสะอาดคุณหมอแนะนำว่า หากไม่มีคราบน้ำตา หรือดวงตามีสภาพปกติ ไม่จำเป็นต้องเช็ดความสะอาดทุกวันค่ะ 

ในทางกลับกัน สำหรับน้องแมวที่มีคราบน้ำตาทุกวัน เช่น สายพันธุ์เปอร์เซีย และเอ็กโซติกขนสั้น สามารถใช้น้ำยาล้างตาเช็ดทำความสะอาดคราบน้ำตาได้ ซึ่งถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลานาน จะเกิดเป็นคราบน้ำตาบนเส้นขนรอบดวงตาและร่องจมูกได้ค่ะ

นอกจากนี้ บริเวณร่องใต้ตาบนในหน้าของน้องแมวหน้าสั้นยังสะสมความชื้นได้ง่าย คุณพ่อคุณแม่ควรใช้สำลีเช็ดให้แห้งอยู่เสมอ เพราะว่าความชื้นจะนำไปสู่การเกิดโรคผิวหนังได้ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียและยีสต์ที่ผิวหนัง 

ดูแลน้องแมว, การดูแลแมว, การดูแลน้องแมว, ในชีวิตประจำวัน, วิธีดูแลน้องแมว, การเลี้ยงแมว
ภาพถ่าย Erik-Jan Leusink via Unsplash

3. การดูแลช่องปากและฟัน

การดูแลสุขภาพช่องปากของแมว เป็นสิ่งสำคัญที่คุณหมอแนะนำให้ทำเป็นประจำทุกวันค่ะ เพื่อช่วยลดการเกิดคราบหินปูน ลดแบคทีเรียในช่องปาก และป้องกันการเกิดโรคในช่องปาก 

การฝึกแปรงฟันให้น้องแมว คุณหมอแนะนำว่า ควรฝึกฝนตั้งแต่เป็นลูกแมวเพราะจะทำให้แมวคุ้นเคยและยอมรับการแปรงฟันได้ง่ายขึ้น 

อุปกรณ์การแปรงฟันที่คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องใช้ คือ แปรงสีฟันสำหรับแมว หรือปลอกสวมนิ้ว ป้ายด้วยยาสีฟันสำหรับแมวโดยเฉพาะ 

วิธีการเริ่มจากถูแปรงเคลื่อนที่เป็นวงกลมเล็ก ๆ และเริ่มจากฟันด้านในสุด แปรงด้านละประมาณ 10 วินาที และค่อย ๆ เพิ่มเวลาเป็น 30-45 วินาที ในแต่ละด้าน จนครบทุกด้าน  คุณหมอแนะนำให้ทำเป็นประจำทุกวัน วันละอย่างน้อย 1 ครั้ง 

(สำหรับเทคนิคการฝึกแปรงฟันอย่างละเอียด อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ  ฝึกฝนวิธีการแปรงฟันน้องแมวกัน)

ดูแลน้องแมว, การดูแลแมว, การดูแลน้องแมว, ในชีวิตประจำวัน, วิธีดูแลน้องแมว, การเลี้ยงแมว
ภาพถ่าย Echo via Unsplash

4. การดูแลช่องหู

โดยปกติแล้ว ช่องหูของน้องแมวจะมีขี้หูสีเหลืองอ่อนเคลือบปกคลุมอยู่ ถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้น คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตได้ว่า ภายในช่องหูจะมีสีดำ หรือน้ำตาล น้องจะใช้เท้าเกาหู สะบัดหู หรือมีช่องหูบวมแดง

การทำความสะอาดช่องหูไม่จำเป็นต้องทำเป็นประจำทุกวัน ในกรณีที่น้องแมวไม่มีความผิดเกี่ยวกับช่องหู คุณหมอแนะนำว่า คุณพ่อคุณแม่สามารถทำความสะอาดช่องหูให้น้องสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง 

ส่วนในกรณีที่เกิดความผิดปกติ คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นเช็ดทำความสะอาดช่องหูทุกวันตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ หรือบ่อยครั้งขึ้นตามการวินิจฉัยของสัตวแพทย์ 

เหล่านี้ก็เป็นวิธีการดูแลน้องแมวง่าย ๆ จากคุณหมอก้อยนะคะ ที่คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านสามารถนำไปปฏิบัติกับน้องแมวได้ทุกวัน เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความรัก ความใส่ใจ และช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเราและน้องแมวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นได้ด้วยค่ะ 

นอกจากเรื่องการดูแลภายนอกร่างกายของน้องแมวแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจเรื่องโภชนาการ และพสุขอนามัยของน้องเพิ่มเติมด้วยนะคะ โดยการให้น้องได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน และเหมาะสม ได้รับน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ รวมไปถึงการทำความสะอาดกระบะทรายทุกวัน เพื่อให้น้องได้ใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีความสุขค่ะ  


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ เทคนิคการอ่านฉลากบนผลิตภัณฑ์ ก่อนเลือกซื้ออาหารให้น้องแมว