พยาธิในทางเดินอาหารของแมว เป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อย และมักเป็นสาเหตุทำให้ระบบทางเดินอาการทำงานผิดปกติ
พยาธิในทางเดินอาหารของแมว ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ที่สังเกตได้ ดังนี้
น้องแมวส่วนใหญ่ที่มีพยาธิในทางเดินอาหารจะแสดงอาการ ท้องเสีย อาเจียน น้ำหนักลด เบื่ออาหาร มีอาการระคายเคืองบริเวณทวารหนัก โลหิตจาง และถ่ายปนมูกเลือด
ถ้าแมวที่มีอายุน้อย อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตช้า และอ่อนแอไม่แข็งแรง ในบางกรณีที่มีพยาธิในร่างกาย อาจจะไม่แสดงอาการผิดปกติให้เห็นอย่างชัดเจนก็ได้ แต่จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นพาหะนำพยาธิไปสู่แมวตัวอื่น ๆ นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือ พยาธิบางชนิดในแมวสามารถติดต่อสู่คนได้อีกด้วย
กลุ่มของพยาธิที่พบได้บ่อยในแมว ได้แก่
กลุ่มพยาธิตัวกลม (Roundworms)
1.พยาธิไส้เดือน ชนิดที่พบบ่อยในแมวชื่อว่า Toxocara cati และ Toxascaris leonine โดยพยาธิที่โตเต็มวัยจะปล่อยไข่ในทางเดินอาหารของแมว และปะปนออกมากับอุจจาระออกมานอกตัวสัตว์
ไข่พยาธิที่ออกมากับอุจจาระของแมวสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานเกือบหนึ่งปี การติดต่อสู่แมวตัวอื่นสามารถเกิดได้ 2 ทาง คือ แมวได้รับไข่พยาธิผ่านทางการกินที่ปนเปื้อนไข่พยาธิเข้าไป หรือแมวไปกินสัตว์ที่เป็นพาหะตัวกลาง เช่น หนูที่มีพยาธิตัวอ่อนอยู่ในร่างกาย เป็นต้น
สำหรับลูกแมว สามารถติดพยาธิไส้เดือน Toxocara cati จากการได้รับตัวอ่อนพยาธิผ่านทางน้ำนมจากแม่ โดยแมวตัวเมียที่ตั้งครรภ์และมีพยาธิ ตัวอ่อนของพยาธิมักจะเคลื่อนไปยังต่อมน้ำนม และถูกขับออกมาทางน้ำนมเมื่อลูกแมวดูดนม เป็นสาเหตุหลักของการติดเชื้อในลูกแมว
2. พยาธิปากขอ (Hook worm) เป็นพยาธิตัวกลมในลำไส้เล็กที่พบได้ทั่วไปในหลายประเทศทั่วโลก พยาธิชนิดนี้จะทำให้เกิดความเสียหายต่อผนังลำไส้ และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร เลือดจาง น้ำหนักลดได้
ส่วนใหญ่ พยาธิปากขอจะเข้าสู่ร่างกายผ่านการกินอาหารของแมว โดยแมวไปกินไขพยาธิที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม หรือกินสัตว์พาหะที่มีตัวอ่อนพยาธิ และยังสามารถติดจากตัวอ่อนพยาธิในสิ่งแวดล้อมที่ชอนไชผ่านผิวหนังของแมวได้อีกด้วย
พยาธิปากขอที่พบได้บ่อยในแมวคือ คือ Ancylostoma tubaeforme และ Uncinaria stenocephala
กลุ่มพยาธิตัวแบน (Tapeworms)
พยาธิตัวตืด จะอาศัยอยู่ในลำไส้เล็กของแมว มีลักษณะลำตัวแบนยาว เป็นปล้อง ๆ ต่อกัน ซึ่งภายในแต่ละปล้องจะมีไข่พยาธิ โดยปล้องท้ายสุดที่เจริญสมบูรณ์เต็มที่ จะหลุดปะปนออกมาพร้อมกับอุจจาระของแมว
เราสามารถสังเกตเห็นปล้องของพยาธิตัวแบนในอุจจาระ หรือบางครั้งอาจหล่นอยู่ตามที่นอนของแมว โดยปล้องของพยาธิจะมีลักษณะสีขาวเล็ก ๆ คล้ายเมล็ดแตงกวา และเคลื่อนไหวได้
วงจรชีวิตของพยาธิตัวตืดต้องอาศัยโฮสต์ตัวกลาง เช่น ตัวอ่อนของหมัด โดยโฮสต์ตัวกลางจะกินไข่ในสิ่งแวดล้อม แล้วพัฒนาไปเป็นตัวอ่อนระยะที่ติดต่อได้ในตัวโฮสต์ตัวกลาง แมวจะได้รับพยาธิตัวตืดจากการโฮสต์ตัวกลาง ที่มีตัวอ่อนพยาธิ เข้าไปในร่างกาย หรือจากการกินสัตว์ฟันแทะ อย่างหนูที่มีพยาธิ
พยาธิตัวตืดที่พบได้บ่อยในแมวคือ Dipylidium caninum และ Taenia taeniaeformis
การป้องกันพยาธิในแมว
การป้องกันที่สัตวแพทย์แนะนำอย่างแพร่หลายคือ การให้ยาถ่ายพยาธิ โดยลูกแมวควรได้รับยาถ่ายพยาธิ ทุก ๆ 2 สัปดาห์ โดยเริ่มได้ตั้งแต่อายุ 3 – 4 สัปดาห์ จนถึงอายุ 10 สัปดาห์
หลังจากนั้นถ่ายพยาธิทุก ๆ 3 – 6เดือน ขึ้นกับความเสี่ยงของการไปสัมผัสกับพาหะนำพยาธิ ในนแมวโตเต็มวัย ควรถ่ายพยาธิทุกๆ 3 – 6 เดือน ดังนั้น หากปล่อยแมวออกไปสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมนอกบ้านเป็นประจำ สัตวแพทย์แนะนำให้ถ่ายพยาธิทุก ๆ 3 เดือน
การถ่ายพยาธิให้แมวเป็นการดูแลสุขภาพพื้นฐานที่สำคัญอย่างมาก และเพื่อป้องกันการเกิดโรคในแมว รวมไปถึงสามารถป้องกันการติดต่อพยาธิบางชนิดสู่คนได้ด้วย
ข้อมูลจาก
สพ.ญ. ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์ สัตวแพทย์ประจำ โรงพยาบาลแมว PURRfect Cat Hospital
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ปรสิตภายนอก-ภายใน และ การถ่ายพยาธิ