วิธีฝึกสุนัข แบบ Reward-based training หรือการฝึกโดยใช้รางวัล
ปัจจุบัน เราจะพบว่า มีแหล่งข้อมูลต่าง ๆ บนสื่อออนไลน์เผยแพร่ วิธีฝึกสุนัข มากมาย ทั้งจากโรงเรียน และสถานที่ฝึกสอนสุนัข โดยครูฝึกแต่ละคนต่างก็มีแนวทางการฝึกเป็นของตัวเอง และดูเหมือนว่า ปัจจุบันจะเกิดแนวทางการฝึกสุนัขหลากหลายแนวทางมาก
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว การฝึกสุนัขตามหลักการดั้งเดิม พบว่ามีแนวทาง 2 รูปแบบได้แก่ การฝึกโดยใช้รางวัล หรือ Reward-based training และการฝึกแบบลงโทษ หรือ Aversive-based training
ในปัจจุบัน ครูฝึกสุนัขบางท่านได้พัฒนาแนวทางฝึกจนทำให้เกิดเป็นแนวทางที่สามขึ้นมา นั่นก็คือการฝึกแบบ Balance หรือการผสมผสานแนวทางการฝึกโดยใช้รางวัลและการลงโทษ
สำหรับในบทความนี้ หมอจะอธิบายถึงการฝึกด้วยแนวทางการให้รางวัล หรือ Reward-based training ว่ามีข้อดีและข้อควรระวัง อย่างไร เรามาดูรายละเอียดไปพร้อม ๆ กันครับ
สร้างแรงจูงใจเชิงบวก โดยไม่ทำให้สุนัขรู้สึกกลัว
การฝึกโดยใช้หลัก Reward-based ผู้ฝึกจะไม่ลงโทษสุนัข ไม่บังคับ และไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อทำให้สุนัขรู้สึกกลัว
หัวใจสำคัญของการฝึกคือ การสร้างแรงจูงใจให้สุนัขเลือกทำพฤติกรรมที่เราต้องการฝึกด้วยตัวขเอง โดยเน้นเรื่องของการให้ทางเลือกกับสุนัข และโน้มน้าวให้พวกเขาเลือกแสดงพฤติกรรมที่เราต้องการ
ถ้าสุนัขไม่แสดงพฤติกรรมตามที่เราต้องการ เราจะไม่ให้รางวัลแก่สุนัข แทนการลงโทษที่ใช้ความรุนแรง
การฝึกด้วย Reward-based นี้ ถือว่าเป็นแนวทางที่แนะนำมากที่สุดในปัจจุบัน หรืออาจจะเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุด เมื่อเทียบกับวิธีหรือแนวทางอื่น ๆ เนื่องจากมีการศึกษาวิจัยมากมาย ที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพ และผลการฝึกที่ดีที่สุด
เมื่อเทียบกับการฝึกในรูปแบบอื่น ๆ การฝึกในรูปแบบนี้ส่งผลกระทบต่อร่างกาย และจิตใจของสุนัขน้อยที่สุด นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ปกครองกับสุนัขอีกด้วย
โดยความสัมพันธ์เชิงบวกที่เกิดขึ้น จะช่วยป้องกันพฤติกรรมเชิงลบของสุนัข เช่น สุนัขกระวนกระวายเมื่อแยกกับเจ้าของ และปัญหาสุนัขก้าวร้าวกับสมาชิกภายในบ้าน เป็นต้น
การศึกษาวิจัยที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า สุนัขที่ได้รับการฝึกในรูปแบบนี้ มีแนวโน้มแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวน้อยกว่าแนวทางอื่น ๆ
ข้อควรระวังสำหรับการฝึกสุนัขโดยการใช้รางวัล
การฝึกสุนัขโดยการใช้รางวัล ผู้ฝึกต้องระวังความสับสันของสุนัขระหว่างการฝึก เนื่องจาก ในขณะที่สุนัขไม่ได้รับรางวัลจากการแสดงออกที่ไม่ตรงตามความต้องการของผู้ฝึก อาจเป็นการเหนี่ยวนำให้สุนัขเกิดความสับสนได้
อารมณ์สับสนของสุนัขจัดเป็นอารมณ์เชิงลบชนิดหนึ่ง โดยผู้ฝึกสามารถสังเกตพฤติกรรมต่าง ๆ ได้ เช่น สุนัขหันหน้าหนีจากผู้ฝึก เดินหนี เห่า จาม หรือหายใจแรง เหมือนมีอะไรติดจมูก
เมื่อเกิดพฤติกรรมต่าง ๆ ที่กล่าวมา ครูฝึก หรือผู้ปกครอง อาจจะต้องลดช่วงเวลาที่สุนัขไม่แสดงพฤติกรรมตามที่เราต้องการ และเพิ่มโอกาสให่สุนัขแสดงพฤติกรรมที่เราต้องการ โดยการให้รางวัลถี่ขึ้น บวกกับเทคนิคการฝึกต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยลดความสับสน และพฤติกรรมเชิงลบของสุนัขได้ด้วย
นอกจากสุนัขแล้ว แนวทางการฝึกรูปแบบนี้ยังสามารถประยุกต์ใช้กับสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ ได้ด้วย รวมไปถึงสัตว์ป่าในสวนสัตว์ เช่น เสือ สิงโต หรือหมี ซึ่งมีประโยชน์ต่อสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ และผู้ดูแล ที่จะเข้าไปรักษาสัตว์ หรือดูแลเรื่องสุขอนามัยประจำวัน
ทั้งหมดที่ได้กล่าวมานี้ เป็นเพียงเหตุผลส่วนหนึ่ง ที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ สัตวแพทย์ด้านพฤติกรรมสัตว์ หรือครูฝึกที่ปฏิบัติงานโดยยึดหลักการทางวิทยาศาสตร์ (Evidence-based) เป็นสำคัญ เลือกที่จะใช้และแนะนำแนวทาง Reward-based ในการฝึกและปรับพฤติกรรมสัตว์มากกว่าแนวทางอื่น ๆ ที่มีในปัจจุบัน
ในบทความถัดไป เรามาดูแนวทางการฝึกแบบอื่น ๆ กันบ้างครับ ว่าคืออะไร และควร หรือไม่ควรใช้ เพราะอะไร ติดตามกันได้ในตอนต่อไปนะครับ
บทความโดย อ.ดร.น.สพ.ปรารมภ์ ศรีภวัศราคม
Prarom Sriphavatsarakom, DVM (Hons), MScStud, PhD
Faculty of Veterinary Science Mahidol University
- Animal Behaviour Clinic, Pasu-arthorn Animal Hospital, Mahidol University