ประวัติสายพันธุ์
สุนัขพันธุ์ เวสต์ ไฮแลนด์ ไวท์ เทอร์เรีย หรือมีชื่อที่รู้จักกันว่าเวสตี้ (Westie) มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศสกอตแลนด์ (Scotland) มักนำมาเป็นสุนัขนักล่าสัตว์เล็ก เช่น กบ (Foxes), แบดเจอร์ (Badgers), และศัตรูพืช (Vermin)
ในปี ค.ศ. 1600 กษัตริย์ประเทศฝรั่งเศส ได้นำสุนัขพันธุ์นี้เข้ามาในประเทศฝรั่งเศส และได้ขนานนามว่าเป็นสุนัขทำงาน (Earthdog)
ในต่อมาได้มีการเลิกนำสุนัขพันธุ์เวสต์ ไฮแลนด์ ไวท์ เทอร์เรีย มาเป็นสุนัขนักล่า เพราะสุนัขมีสีขนค่อนข้างคล้ายกับสุนัขจิ้งจอก จึงทำให้นายพรานยิงพลาดบ่อย ๆ สุนัขพันธุ์นี้ จึงไม่เหมาะที่จะใช้ในการล่าสัตว์ ดังนั้นลูกสุนัขที่เกิดขึ้นจะถูกเก็บไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงการยิงพลาดไปโดนสุนัขโดยไม่ตั้งใจ จึงนิยมนำสุนัขมาใช้เพื่อควบคุมสัตว์ศัตรูพืช หรือสัตว์ตัวเล็กเช่น กระต่ายป่า
ในช่วงแรกของศตวรรษที่ 20 ประเทศอังกฤษ ได้มีการขึ้นทะเบียนสุนัขสายพันธุ์นี้เป็นครั้งแรก
ในปี ค.ศ. 1908 สหรัฐอเมริกา และสมาคม The American Kennel Club (AKC) ได้จดทะเบียนสายพันธุ์จัดอยู่ในกลุ่มสายพันธุ์เทอร์เรีย
ลักษณะทางกายภาพ
สุนัขพันธุ์เวสต์ ไฮแลนด์ ไวท์ เทอร์เรีย มีหัวขนาดใหญ่, จมูกใหญ่ สีดำ, ขากรรไกรสั้น, ฟันสบแบบกรรไกร (Scissors bite) คือฟันเขี้ยวล่างจะอยู่ข้างหน้าฟันเขี้ยวบน และฟันตัดบนจะยื่นมากกว่าฟันตัดล่าง, ดวงตามีสีดำ เป็นรูปทรงเมล็ดอัลมอนด์ (Almond shaped), หูเล็กและตั้ง เป็นรูปทรงสามเหลี่ยม, อกกว้างลึก
ขนยาวประมาณ 2 นิ้ว หรือ 5 เซนติเมตร มีสีขาวสว่าง ปกคลุม 2 ชั้น โดยขนชั้นในจะหนานุ่ม แต่ขนชั้นนอกจะหยาบ แข็งแรงสามารถสลัดสิ่งสกปรกที่ติดขนได้ง่าย แต่สุนัขจำเป็นต้องตัดเล็ม หรือดึงขนที่ตายออก เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกที่ติดค้างอยู่บริเวณขน และในลูกสุนัข ขนจะบางกว่าสุนัขโต ไม่สามารถผลัดขนเองได้ จำเป็นต้องตัดเล็มให้สุนัข
8 สุนัขสายพันธุ์ขนสีขาว ที่น่ารักราวกับตุ๊กตาหิมะที่มีชีวิต
ทั้งสุนัขเพศผู้และสุนัขเพศเมียมีความสูงมาตรฐานอยู่ที่ 9-11 นิ้ว หรือ 23-28 เซนติเมตร วัดจากหัวไหล่ถึงพื้น สุนัขเพศผู้มีน้ำหนักมาตรฐานอยู่ที่ 15-20 ปอนด์ หรือ 6.8-9.1 กิโลกรัม และสุนัขเพศเมียมีน้ำหนักมาตรฐานอยู่ที่ 13-16 ปอนด์ หรือ 5.9-7.3 กิโลกรัม โดยสมาคม The Kennel Club ได้ระบุถึงลักษณะหาง คือหางมีรูปทรงแครอท (Carrot shaped) ความยาวหางควรอยู่ระหว่าง 5-6 นิ้ว หรือ 13-15 เซนติเมตร
อายุขัย
สุนัขพันธุ์เวสต์ ไฮแลนด์ ไวท์ เทอร์เรีย โดยทั่วไปมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 12-16 ปี
ลักษณะนิสัย
สุนัขพันธุ์เวสต์ ไฮแลนด์ ไวท์ เทอร์เรีย มีนิสัยอ่อนโยน ซื่อสัตย์ มั่นใจ เป็นมิตรไม่ดื้อและไม่เป็นอันตรายต่อผู้คน หรือสัตว์ตัวอื่น มีความกระตือรือร้น คล่องแคล่ว แข็งแรง ฉลาดกว่าสุนัขพันธุ์เล็กพันธุ์อื่น และมักคอยระแวดระวังรอบตัว เหมาะกับการนำมาเลี้ยงในบ้าน สามารถพาไปไหนได้สะดวก
เป็นสุนัขที่ต้องการความรัก และการเอาใจใส่จากสมาชิกในครอบครัว รวมถึงเป็นสุนัขรักการผจญภัย เมื่อได้ยินเสียงกุญแจ หรือเสียงที่ประตู รวมถึงเสียงที่เป็นเอกลักษณ์การออกนอกบ้าน จะทำให้สุนัขเตรียมพร้อมที่จะออกจากบ้าน
เวสต์ ไฮแลนด์ ไวท์ เทอร์เรีย จัดเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่มีความโดดเด่นในแต่ละเพศ โดยสุนัขเพศผู้จะว่านอนสอนง่าย ฉลาด กล้าหาญ สามารถฝึกสอนได้ แต่ชอบกัดของภายในบ้าน และเห่า หรือขู่บ่อย ในสุนัขเพศเมียจะมีความนิ่ง และว่านอนสอนง่ายมากกว่าเพศผู้
การเข้ากับเด็ก
สุนัขพันธุ์เวสต์ ไฮแลนด์ ไวท์ เทอร์เรีย สามารถเข้าได้ดีกับเด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป ไม่เหมาะกับเด็กเล็ก เพราะสุนัขสายพันธุ์เทอร์เรียดั้งเดิมเป็นสุนัขนักล่า เวลาเล่นกับเด็กเล็กอาจใช้แรงมากเกินไปทำให้เด็กเล็กบาดเจ็บได้ หรือขณะสุนัขเล่นแล้วรู้สึกไม่ปลอดภัย อาจมีพฤติกรรมก้าวร้าวเกิดขึ้นได้
การดูแล
การออกกำลังกาย
สุนัขพันธุ์เวสต์ ไฮแลนด์ ไวท์ เทอร์เรีย จำเป็นต้องออกกำลังกาย ควรให้สุนัขออกกำลังกายประมาณ 20 นาทีต่อวัน ด้วยการให้สุนัขเดินเร็วบริเวณสนามหลังบ้าน หรือบริเวณที่เหมาะสม นอกจากนั้นยังสามารถกระตุ้นได้ด้วยการให้ออกนอกบ้าน เพราะดั้งเดิมเป็นสุนัขนักล่า มีความชอบอากาศ และสภาพแวดล้อมนอกบ้าน รวมถึงมีนิสัยชอบวิ่งจับนกในทุกวัน
หากสุนัขเหนื่อย จะเลิกออกกำลังกาย และวิ่งเข้าบ้านทันที จะพบพฤติกรรมกระวนกระวาย ขู่ และก้าวร้าว ซึ่งอายุสุนัขมีผลมากในการออกกำลังกาย หากอายุมากจะทำให้ทนสภาพอากาศภายนอกบ้านได้น้อยลง และมีความกระตือรือร้นลดลง
อาหาร
สุนัขพันธุ์เวสต์ ไฮแลนด์ ไวท์ เทอร์เรีย ควรให้อาหารที่มีคุณภาพ และปริมาณที่แนะนำสำหรับสุนัขพันธุ์นี้คือ 1/2 – 1 ถ้วยต่อวัน แบ่งเท่ากัน 2 มื้อ เป็นสุนัขที่เลือกอาหาร เจ้าของจำเป็นต้องลองเทสต์ดูว่าสุนัขชอบอาหารแบบไหน นอกจากนั้นสามารถปรับปริมาณอาหารให้สมดุลก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ได้แก่ อายุ, กระบวนการเมตาบอลิซึม (Metabolism), น้ำหนักตัว, และกิจกรรมประจำวัน
โรคประจำพันธุ์
- โรคระบบประสาท
- โรควิตกกังวลต่อการแยกจาก (Separation anxiety)
- โรคระบบทางเดินหายใจ
- โรคพังผืดสะสมในปอด (Pulmonary fibrosis : IPF)
- โรคระบบโครงกระดูก ข้อต่อ และโครงสร้าง
- โรคขากรรไกรด้านล่างและกระดูกบริเวณหูเจริญผิดปกติ (Craniomandibular osteopathy)
- โรคหัวกระดูกต้นขาตายจากการขาดเลือด (Legg–Calvé–Perthes disease : LCPD)
- โรคกระดูกสะบ้าเคลื่อน (Patellar luxation)
- โรคตา
- โรคต้อกระจก (Cataracts)
เรื่อง : ทรงภูมิ อานันทคุณ