Siamese Fighting Fish ปลากัด : นักสู้แห่งแดนสยาม

ปลากัด หรือ เบ็ตต้า (Betta) หรือรู้จักกันในชื่อ Siamese Fighting Fish  เป็นปลาสีสันสวยงามที่เรามักเห็นว่ายอย่างโดดเดี่ยวในขวดซึ่งครั้งหนึ่งเคยใส่เหล้าหรือแจกันที่ตั้งไว้ในบ้านหรือสำนักงาน ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ปลากัดเป็น สัตว์น้ำประจำชาติไทย 

ความเป็นมา: ปลากัดพบครั้งแรกในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาศัยอยู่ตามท้องไร่ท้องนา หรือแอ่งน้ำในเขตที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง ปลากัดจึงคุ้นเคยกับสภาวะน้ำท่วมและความแห้งแล้งที่รุนแรงได้ จากวงจรความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมเช่นนี้ทำให้ปลากัดปรับตัวและกลายเป็น labyrinth fish คือมีอวัยวะช่วยหายใจบนผิวน้ำได้ ใช้ปากฮุบอากาศโดยไม่ต้องผ่านเหงือกเหมือนปลาทั่วไป สิ่งนี้จึงทำให้ปลากัดและปลาอีกหลายชนิดมีชีวิตอยู่ได้ในเวลามีน้ำน้อย นี่เป็นการอธิบายว่า ทำไมปลากัดจึงอยู่นิ่งๆ ในเวลาที่ขาดน้ำ ทั้งยังทนอยู่ในพื้นที่เล็กๆ และบริเวณที่มีน้ำไม่สะอาดได้ดี การเลี้ยงปลากัดจึงใช้น้ำน้อยมากเมื่อเทียบกับปลาชนิดอื่น และชอบอยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิประมาณ 28-30  องศาเซลเซียส

ปลากัดสยาม
ปลากัดคราวน์เทล

ชื่อ: ปลากัดหรือเบ็ตต้าได้ชื่อมาจากนักรบเอเชียโบราณ “เบ็ตตาช” (Bettah) ที่เรียกเช่นนี้ก็เพราะการต่อสู้อันดุเดือดของมัน ปลากัดเป็นที่นิยมมาก จากข้อมูลในช่วงศตวรรษที่ 18  พบว่าการกัดปลาเป็นกีฬาที่มีชื่อเสียงของไทย ในอดีตพระมหากษัตริย์สยามจัดตั้งบ่อนกัดปลา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือเก็บภาษี นอกจากนี้ยังพบหลักฐานที่บันทึกถึงการนำปลากัดไทยไปเลี้ยงในยุโรปเมื่อปี พ.ศ. 2414  เพาะพันธุ์สำเร็จที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2436 และนำไปในเยอรมันนีครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2439 และเข้าสู่สหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2453

สายพันธุ์ปลากัด

1 ปลากัดจีน เรียกอีกอย่างว่าปลากัดครีบยาว หางกรุยกรายโคนห่างมีขนาดใหญ่แล้วแล้วค่อยๆเรียวเล็ก

2 ปลากัดหม้อ ลำตัวเป็นสีดำคล้ำ ดูหนา และบึกบึน

3 ปลากัดฮาล์ฟมูน เป็นสายพันธุ์ที่ถูกพัฒนาโดยชาวยุโรป ขอบหางเรียบ ก้านหางแตกออกมา 4 ก้าน เหยียดออกมาคล้ายพระจันทร์ครึ่งดวง

4 ปลากัดคราวน์เทล เป็นสายพันธุ์ที่ถูกพัฒนาโดยชาวอินโดนีเซีย มีครีบและห่างที่ได้สัดส่วน ขอบหางจักเป็นริ้วเว้าลึกคล้ายกับมงกุฎ

5 ปลากัดดับเบิลเทล หรือปลากัดสองหาง มีแฉกหางบนกับหางล่างดูคล้ายรูปหัวใจ

6 ปลากัดยักษ์ ถูกพัฒนาสายพันธุ์โดยชาวไทย ลำตัวมีขนาดใหญ่กว่าธรรมดาถึง 2 เท่า

7 ปลากัดหูช้าง  มีเอกลักษณ์คือ มีครีบหูขนาดใหญ่

 

อาหาร: ปลากัดเป็นปลาที่ขึ้นมาฮุบอาหารที่ผิวน้ำ อาหารที่เหมาะกับปลากัดก็เช่น ลูกน้ำ ทั้งแบบสดและแห้ง ไรทะเล ไรแดง หนอนแดง และอาหารเม็ดสำเร็จรูป แต่อาหารสดจะทำให้ปลามีสีสันสวยกว่า

เพื่อน: ปลากัดชอบการต่อสู้ จึงไม่ชอบอาศัยร่วมกับปลาอื่นๆ การเลี้ยงจึงต้องแยกปลากัดให้อยู่ตามลำพัง อาจทำที่หลบ หรือใส่ไม้น้ำไว้เล็กน้อย เพื่อให้ปลารู้สึกปลอดภัย ในกรณีที่เลี้ยงหลายตัว ควรทำที่กั้นระหว่างภาชนะเพื่อไม่ให้มองเห็นกัน

Animal’s tips

  • ปลากัดชอบน้ำที่เป็นกรดอ่อน หรือมีค่า pH 6.5-7 อุณหภูมิของน้ำไม่ควรเย็นเกินไปเพราะมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน และทำให้เจ็บป่วย
  • ปลากัดมีหลายชนิด เช่น ปลากัดจีน ปลากัดหม้อ ปลากัดสองหาง ปลากัดฮาล์ฟมูน ปลากัดคราวน์เทล ซึ่งมีลักษณะครีบหางแตกต่างกัน
  • ปลากัดมีอายุประมาณ 2-3 ปีแต่ก็มีบ้างที่อายุยืนกว่านี้
  • ในปี พ.ศ.2452  ซี. เท็ด เรแกน และได้ให้ชื่อทางวิทยาศาสตร์แก่ปลากัดว่า Betta splendens หมายถึง นักรบผู้สง่างาม
•รวม พรรณไม้น้ำ ยอดนิยมเลี้ยงง่ายและเทคนิคการเลือกซื้อ
•สนุกกับสวนเทคโนโลยีสุดล้ำ

betta

อ่านเรื่องราวของปลากัดได้แล้ววันนี้ใน My Little Farm Vol.4 มาเลี้ยงปลากัดกัน โดย ภวพล ศุภนันทนานันท์