แมวตัวผู้ร้องไม่หยุด อาจกลายเป็นหนึ่งในปัญหาที่นำพาไปสู่ความบาดหมางกับเพื่อนบ้านได้ สัตว์แพทย์กล่าวถึงสาเหตุนี้ว่าอย่างไรบ้าง มาติดตามกันค่ะ
ผู้ปกครองหลายบ้านที่ตกหลุมรักแมวอาจเป็นเพราะหลงรักเสียงร้องเหมียว ๆ หรือเสียงเพอร์ (purring) ที่ช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลาย อย่างไรก็ตาม เมื่อ แมวตัวผู้ร้องไม่หยุด อาจทำให้ความผ่อนคลาย กลายเป็นความไม่สงบได้
แม้ว่าการสื่อสารด้วยการใช้เสียง (Vocal communication) เป็นวิธีการสื่อสารตามปกติของแมว แต่เมื่อน้องร้องหนักเกินไป อาจมีสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้
1. แมวตัวผู้เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์
น้องแมวตัวผู้ที่ยังไม่ได้ทำหมัน เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 6 – 8 เดือน น้องจะเกิดความต้องการผสมพันธุ์ โดยการส่งเสียงร้องหง่าว ๆ และเดินไปเดินมารอบบ้าน หรือบางครั้งน้องอาจปัสสาวะตามจุดต่าง ๆ นอกกระบะทราย เพื่อสร้างอาณเขต
นอกจากนี้ น้องจะส่งเสียงร้องดังขึ้นเมื่อได้กลิ่น หรือได้ยิน เสียงตัวเมีย มาป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้ ๆ บ้าน ซึ่งการส่งเสียงร้องในลักษณะนี้เป็นเรื่องปกติของแมวตัวผู้ที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์
2. น้องป่วย หรือมีความเจ็บปวดในร่างกาย
น้องแมวตัวผู้บางตัวอาจส่งเสียงร้องไม่หยุด เนื่องจากเกิดความไม่สบายตัว หรือได้้รับความเจ็บปวดทางร่างกาย เช่น แมวมีอาการเจ็บปวดบริเวณกระดูกหรือข้อ ปวดบริเวณช่องท้อง และมีบาดแผลตามร่างกาย เป็นต้น
รวมไปถึง แมวตัวผู้บางตัวได้ออกไปต่อสู้กับแมวตัวอื่น เพื่อวางอาณาเขต และเกิดบาดแผล หรือฝี ที่สร้างความเจ็บปวด ทำให้น้องร้องอย่างต่อเนื่อง
3. น้องมีความเครียด และวิตกกังวล
ภาวะความเครียด (stress) และภาวะวิตกกังวล (Anxiety) เป็นสาเหตุที่กระตุ้นการส่งเสียงร้องอย่างต่อเนื่องของแมวได้
ปัจจัยกระตุ้นความเครียดของแมว อาจเป็นไปได้ทั้งสิ่งแวดล้อมภายในบ้านเปลี่ยนแปลงไป มีคนแปลกหน้า หรือสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ เข้ามาในบ้าน มีแมวตัวผู้จากบ้านอื่นมาเดินอยู่รอบ ๆ บ้าน บรรยากาศภายในบ้านมีเสียงดังตลอดเวลา หรือเกิดสิ่งกระตุ้นที่ทำให้น้องตกใจอย่างรุนแรง และจนเกิดความกลัว
4. แมวรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว
แมวจัดว่าเป็นสัตว์สังคมที่มีความเป็นอิสระ มีความเฉพาะตัว มีพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมที่ตนเองอยู่ และแมวมีความเป็นนักล่า
แมวที่เลี้ยงในระบบปิดอาจเกิดความรู้สึกเหงา เพราะไม่ได้มีกิจกรรมตามธรรมชาติ เช่ นการล่าเหยื่อ การปีนป่ายในแนวสูง หรือช่วงที่เจ้าของมีปฏิสัมพันธ์กับแมวน้อยอาจเกิดการทำให้แมวรู้สึกเหงา ดังนั้น แมวบางตัวที่เลี้ยงตัวเดียวในบ้าน จะแสดงออกด้วยพฤติกรรมการส่งเสียงร้องได้
5. แมวกำลังเรียกร้องความสนใจ
เมื่อแมวตัวผู้พบเจอสิ่งเร้านอกบ้าน อย่างนกบินมาเกาะขอบระเบียงบ้าน น้องอาจส่งเสียงร้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเดินไปดู
บางครั้ง แมวกำลังรู้สึกอยากชวนให้เราไปเล่นด้วย น้องจึงส่งเสียงร้อง และจ้องมาที่ผู้ปกครอง เพื่อให้เข้าไปเล่น หรือลูบคลำตามลำตัว
หรือในกรณีที่น้องไปคาบสิ่งของ หรือสิ่งมีชีวิตบางอย่างมา และส่งเสียงร้องเรียกเพื่อให้เราไปดู โดยพฤติกรรมนี้หมายถึง การไปล่าเหยื่อแล้วนำมาให้ฝูงตัวเอง หรือเป็นการสอนให้ดูวิธีการล่าเหยื่อของแมว เป็นต้น
6. ร้องเพื่อขออาหาร
แมวอาจส่งเสียงร้อง เพราะความหิว และต้องการอาหาร แมวบางตัวจะส่งเสียงร้องไม่หยุดเมื่อมีคนเดินเข้าไปในครัว หรือเมื่อเรากำลังทำอาหารอยู่ หรือส่งเสียงร้องเรากำลังรับประมานอาหาร
แมวบางตัวอาจส่งเสียงร้องต่อเนื่อง เมื่อได้รับขนม หรืออาหารที่ชอบ และต้องการกินอีก หรือบางตัวสามารถจดจำเวลาการให้อาหารได้ และส่งเสียงร้องเรียกก่อนถึงเวลาให้อาหารเล็กน้อย
7. ต้องการร้องเพื่อทักทาย
แมวบางตัวชอบที่จะส่งเสียงร้องทักทายเจ้าของเวลาที่เจ้าของกลับบ้าน หรือแม้กระทั่งเวลาที่แมวเจอเจ้าของตามที่ต่าง ๆ ในบ้าน เนื่องจากต้องการสื่อสารกับเรา และต้องการให้เรามีปฏิสัมพันธ์ด้วย
8. แมวตัวผู้ที่สูงอายุ และมีภาวะสมองเสื่อม (Cognitive dysfunction syndrome)
แมวสูงอายุส่วนใหญ่มีแนวโน้มเกิดโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ มีชื่อเรียกในทางสัตวแพทย์ว่า Cognitive dysfunction syndrome (CDS)
โรคสมองเสื่อมในแมวเป็นโรคความเสื่อมตามอายุที่เกิดขึ้นได้ โดยจะส่งผลให้เกิดความผิดปกติของสมอง และการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของแมว เช่น มีอาการส่งเสียงร้องมากอย่างผิดปกติ มีอาการเดินวนไปมา พฤติกรรมการนอนเปลี่ยนแปลงไป ขับถ่ายไม่เป็นที่ หรือจดจำคนในบ้านหรือแมวที่เลี้ยงด้วยกันเองไม่ได้ ซึ่งภาวะนี้ควรพบสัตวแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม และวางแผนรักษาแบบประคับประคอง
เมื่อทราบถึงสาเหตุที่อาจทำให้แมวตัวผู้ร้องไม่หยุดแล้ว คุณผู้ปกครองควรสังเกตปัจจัยที่แท้จริงว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้น้องร้องไม่หยุด เพื่อการดูแลน้องได้อย่างตรงจุดต่อไปค่ะ
เรื่อง สพ.ญ.ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์ สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลแมว PURRfect Cat Hospital