สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินมาตรการป้องกันผลกระทบทางด้านสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อม โดยให้ผู้ประกอบกิจการค้าสัตว์เลี้ยงหรือ ร้านจำหน่ายสัตว์เลี้ยง จะต้องขอใบอนุญาตอย่างถูกต้อง
ในปัจจุบัน ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และประชาชนก็มีแนวโน้มรับสัตว์เลี้ยงเป็นลูกเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ ร้านจำหน่ายสัตว์เลี้ยง ได้รับความนิยมตามไปด้วย
สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ที่มีหน้าที่รับผิดชอบควบคุม กำกับ ติดตาม และป้องกันผลกระทบทางด้านสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกโดยให้สำนักงานเขตสำรวจกิจการที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เพื่อลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ ให้เจ้าของกิจการมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ขณะเดียวกัน สนอ.ได้แนะนำประชาชนในการเลี้ยงสัตว์อย่างถูกต้อง เหมาะสมและมีความรับผิดชอบ โดยผู้ที่สนใจจะซื้อสัตว์มาเลี้ยงควรพิจารณาเลือกซื้อสัตว์จากร้านจำหน่าย หรือฟาร์มที่ได้มาตรฐาน และมีใบอนุญาตถูกต้อง เพื่อความมั่นใจว่า สถานประกอบการนั้นไม่มีโรคระบาด ถูกสุขลักษณะสิ่งแวดล้อม และเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม ลูกสัตว์ที่ยังมีอายุน้อย จะมีภูมิคุ้มกันไม่สูงเท่าช่วงโตแต็มวัย และง่ายต่อการรับเชื้อเข้ามาในร่างกาย เมื่อเกิดความเครียดจากการเปลี่ยนที่อยู่ หรือเจ้าของใหม่ อาจทำให้ภูมิคุ้มกันลดต่ำลง ทำให้ติดเชื้อและป่วยได้ง่าย หากติดเชื้อที่มีความรุนแรง อาจทำให้สัตว์เสียชีวิต
ดังนั้น เมื่อซื้อสัตว์ใหม่มาเลี้ยง ควรนำไปตรวจสุขภาพและรับวัคซีนป้องกันโรคจากสัตวแพทย์ จะช่วยลดความเสี่ยงของการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตได้
นอกจากนี้ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ยังได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงให้ดำเนินการขอใบอนุญาตต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ได้แก่
- ใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
- ใบอนุญาตทำการค้า หรือหากำไรในลักษณะคนกลางซึ่งสัตว์ หรือซากสัตว์
- กรณีสัตว์ป่าให้ขอใบอนุญาตให้ค้าสัตว์ป่า
โดยการขึ้นทะเบียนดังกล่าวเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสถานประกอบการ ป้องกันการเกิดปัญหาด้านสุขลักษณะสิ่งแวดล้อม และปัญหาโรคระบาดสัตว์ การจัดการด้านสถานที่ของสถานประกอบกิจการให้ถูกต้องตามสุขลักษณะ และหลักสวัสดิภาพสัตว์
รวมถึงการดูแลสัตว์ในสถานประกอบกิจการควรคำนึงถึงความหนาแน่นของสัตว์ต่อพื้นที่ การจัดหาอาหารและน้ำที่สะอาด เพียงพอและมีสารอาหารที่ตรงกับความต้องการของสัตว์ การป้องกันโรคโดยการฉีดวัคซีนและถ่ายพยาธิตามโปรแกรมที่เหมาะสม ตลอดจนคัดแยกสัตว์ป่วยออกจากสัตว์ปกติ เพื่อป้องกันการเกิดโรคระบาดสัตว์ โดยขอคำปรึกษาและอยู่ในความดูแลของสัตวแพทย์
ทั้งนี้ สุนัขควรฉีดฝังไมโครชิปและจดทะเบียนสุนัขให้ถูกต้องตามข้อบัญญัติ กทม. เรื่องการควบคุมการเลี้ยง หรือปล่อยสุนัข พ.ศ. 2548 เพื่อใช้ยืนยันตัวตนของสุนัขและสามารถตามหาเจ้าของได้เมื่อเกิดการพลัดหลง ซึ่งสามารถรับบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่คลินิกสัตวแพทย์ กทม. ทั้ง 8 แห่ง และหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ของ กทม. ที่จะออกให้บริการในพื้นที่ 50 เขตทั่วกรุงเทพฯ
โดยสามารถติดตามข้อมูลการออกหน่วยฯ ได้ที่
เพจเฟชบุ๊ก: สำนักอนามัย
เพจเฟซบุ๊ก: สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข
และเพจเฟซบุ๊ก: กลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ: 3 เกร็ดข้อ กฎหมายที่เกี่ยวกับสุนัขเร่ร่อน