แมวเครียด จะแสดงอาการอย่างไร

แมวเครียด เมื่อต้องเผชิญภาวะคับขัน หรือสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด อาจทำให้แมวเกิดปัญหาด้านสุขภาพตามมาได้

ตามธรรมชาติ แมวเป็นสัตว์ที่มีความไวต่อการเปลี่ยนแปลง สามารถรับรู้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้ แมวเครียด ได้ง่าย

เมื่อแมวที่เคยอยู่ในป่า กลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้าน สัญชาตญาณเรื่องการปกป้องอาณาเขตจึงยังคงติดตัวมาด้วย แมวทั้งหลายจึงคิดว่าพื้นที่ภายในบ้านเป็นอาณาเขตของตัวเอง

แมวจึงเกิดความรู้สึกไวต่อการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยที่เกิดขึ้นภายในบ้าน เช่น เจ้าของซื้อเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่เข้าบ้าน เจ้าของนำสมาชิกใหม่ หรือเพิ่งย้ายแมวเข้ามาอยู่ในบ้านหลังใหม่

โดยอาการเบื้องต้นเมื่อแมวเกิดความเครียด พวกเขาจะแสดงอาการนั่งหมอบ ตัวสั่น ส่งเสียงขู่ฟู่ หายใจเร็ว และเก็บขา หรืองอขา

โรคเครียดในแมว, อาการเครียดในแมว, เป็นอย่างไร, แมวเครียด, ได้อย่างไร, อาการแมวเครียด, ความเครียดในแมว, อาการนั่งหมอบ
ภาพถ่าย Anna Ogiienko

เราจะสังเกตอย่างไรว่า เจ้าเหมียวของเรากำลังเครียด

ความเครียดในแมว เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาพฤติกรรมที่ผิดปกติ หรือกระตุ้นให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมาได้ แมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่ความรู้สึกเร็วต่อการเปลี่ยนแปลง และมักจะเก็บซ่อนการแสดงอารมณ์ของตัวเอง เมื่อเทียบกับสัตว์ชนิดอื่น ๆ

การเรียนรู้เรื่องความเครียดที่เกิดขึ้นในแมว จะสามารถนำไปสู่การปรับแก้ปัญหาด้านพฤติกรรมและสุขภาพของแมวได้ ดังนั้น วันนี้เราจะมาร่วมสังเกตอาการ หรือพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงความเครียดในแมว

ความเครียดในแมวแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ ความเครียดแบบเฉียบพลันและความเครียดแบบเรื้อรัง โดยแต่ละกลุ่มมีอาการแสดงออก ดังนี้

ความเครียดแบบเฉียบพลัน (Acute stress)

ความเครียดแบบเฉียบพลันในแมวมักเกิดจากการเหตุการณ์ที่แมวไม่คาดคิด หรือเหตุการณ์ที่ทำให้แมวเกิดความหวาดกลัวในช่วงเวลานั้น อาการและการแสดงออกที่บ่งบอกว่าแมวเกิดความเครียดแบบเฉียบพลัน คือ

  • แมวจะไม่ยอมออกมาเคลื่อนตัว หลบอยู่นิ่งๆ
  • นั่งหมอบ ตัวสั่น นั่งเก็บขา นั่งงอขา
  • หายใจเร็ว สังเกตเห็นได้จากบริเวณช่องท้องหรืออกยุบเข้าออกเร็ว
  • หางม้วนลงด้านล่าง
  • ศีรษะก้มกดลงต่ำกว่าลำตัว ไม่เคลื่อนไหว
  • ดวงตาเปิดเต็มที่ และรูม่านตาขยายใหญ่เต็มที่
  • หูลู่แบนราบไปด้านหลังศีรษะ
  • หนวดลู่ไปทางด้านหลัง
  • มีการเปล่งเสียงเหมียว ร้องโหยหวน คำราม
  • มีเสียงขู่ฟู่ คำราม ตัวสั่น น้ำลายไหล
  • ปัสสาวะและอุจจาระราด โดยไม่ตั้งใจ
  • แสดงพฤติกรรมความก้าวร้าวเมื่อสิ่งกระตุ้นเข้าใกล้
โรคเครียดในแมว, อาการเครียดในแมว, เป็นอย่างไร, แมวเครียด, ได้อย่างไร, อาการแมวเครียด, ความเครียดในแมว, อาการนั่งหมอบ
ภาพถ่าย Chris Yang

ความเครียดแบบเรื้อรัง (Chronic stress)

ความเครียดแบบเรื้อรังจะสังเกตได้ยากกว่า เพราะมักเกิดจากการค่อยๆสะสมความเครียดอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาที่นานจนแสดงอาการทางร่างกายต่างๆออกมา โดยมักจะส่งผลกระทบต่อกิจวัตรประจำวันและพฤติกรรมของแมว แมวที่มีความเครียดสะสมมักจะแสดงอาการดังนี้

  • กินอาหารลดลง ไม่กินอาหาร หรือบางตัวอาจแสดงออกในทางตรงกันข้ามคือ กินอาหารมากกว่าปกติ
  • เลียขนตัวเองน้อยลง หรือไม่เลียเลย หรือบางตัวมีพฤติกรรมเลียขนตัวเองมากกว่าปกติ
  • นอนมากขึ้น หรือเก็บตัว ซ่อนตัวมากขึ้น
  • เข้าสังคม หรือรวมฝูง น้อยลง
  • มีความระแวง ก้าวร้าวกับมนุษย์ และแมวด้วยกันเอง
  • ตื่นตกใจง่าย บางครั้งกระโดดสะดุ้ง แม้จะเป็นเสียงกระตุ้นที่เบามาก ๆ
  • ปัสสาวะ อุจจาระผิดปกติ เช่น ปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะไม่เป็นที่
  • พ่นปัสสาวะทำเครื่องหมายในบ้านบ่อยขึ้น
  • เลียกินอุจจาระตัวเอง
  • ก้าวร้าวต่อสิ่งรอบ ๆ ตัว ที่ไม่ใช่สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความเครียด

เราจะช่วยลดความเครียดของแมว ได้อย่างไร

ทำความเข้าใจอารมณ์ของแมว ด้วยการเอาใจใส่ และสังเกตพฤติกรรมของแมว เมื่อสังเกตเห็นว่า แมวเริ่มแสดงพฤติกรรมแปลกไปจากปกติ เจ้าของควราสาเหตุที่กระตุ้นให้แมวเกิดความเครียด และจัดการนำตัวกระตุ้นออกไปให้ห่างจากแมว หรือจัดพื้นที่ส่วนตัวให้แมวไม่พบเจอกับสิ่งกระตุ้นนั้น ๆ

ในกรณีที่เจ้าของได้กำจัดสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดความเครียดของแมวแล้ว แต่แมวยังคงแสดงอาการเครียดอยู่ เจ้าของควรไปปรึกษาสัตวแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรม เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม

โดยในระหว่างนี้ เจ้าของควรหลีกเลี่ยงลงโทษ หรือใชัพฤติกรรมรุนแรงกับแมว โดยผู้เชี่ยวชาญจะช่วยให้คุณเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน รวมถึงช่วยค้นหาสาเหตุของความเครียดและวิธีแก้อาการแมวเครียดอย่างเหมาะสมด้วย

เรื่อง สพ.ญ. ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์ สัตวแพทย์ประจำ PURRfect Cat Hospital


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ: แมวเลียขนตัวเอง มากกว่าปกติ เกิดจากสาเหตุอะไร