แมวเลียขนตัวเอง มากกว่าปกติ เกิดจากสาเหตุอะไร

แมวเลียขนตัวเองเป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติ แต่ถ้า แมวเลียขนตัวเอง มากกว่าปกติ อาจกำลังเกิดความผิดปกติขึ้นกับพวกเขาก็ได้

แมวเลียขนตัวเอง เป็นการทำความสะอาดตัวเอง เพื่อช่วยกระตุ้นการผลัดเซลล์ของผิวหนัง และยังช่วยระบายความร้อนด้วย

แต่ในบางกรณี ถ้าเจ้าของพบว่า น้องแมวเลียขนตัวเองมากเกินไป เส้นขนหลุดร่วงมาก หรือเส้นขนบางในตำแหน่งที่เลียซ้ำ ๆ จนกลายเป็นความผิดปกติ ที่เรียกว่า ภาวะขนร่วงแบบสมมาตร (feline symmetrical alopecia) หรือในแมวบางตัวอาจพบการสำรอกก้อนขนออกมาด้วย

แมวเลียขนตัวเอง, มากเกินไป,

ความผิดปกติที่แมวเลียขนตัวเองมากเกินไป หรือที่เรียกว่า Over-grooming ส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุเหล่านี้

1. ความผิดปกติของโรคเกี่ยวกับผิวหนัง เช่น การติดเชื้อที่ผิวหนัง การเกิดเชื้อราบนผิวหนัง ปรสิตภายนอกบนเส้นขน และผิวหนัง เช่น เห็บ หมัด และไรขน ภาวะภูมแพ้ เช่น แพ้อาหาร หรือแพ้สิ่งกระตุ้นในสิ่งแวดล้อม หรือโรคที่เกี่ยวกับระบบฮอร์โมน อย่างไฮเปอร์ไทรอยด์ในแมว (Feline Hyperthyroidism) เป็นต้น

2. ความผิดปกติทางจิตใจ (Psychogenic alopecia) สาเหตุเกี่ยวกับปัญหาทางพฤติกรรมมักจะมีความเชื่อมโยงกับความเครียด ความวิตกกังวลในแมว หรืออาจมีปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกระตุ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในบ้าน มีคนแปลกหน้า หรือแมวตัวใหม่อยู่ในบ้าน รวมถึงความเครียดที่เกิดจากแมวในบ้านที่เลี้ยงรวมกัน

นอกจากนี้ บ้านที่ไม่ได้จัดพื้นที่ให้แมวได้แสดงออกตามธรรมชาติ เช่น การปีนป่าย หรือการล่าเหยื่อ ก็อาจเป็นสาเหตุกระตุ้นความเครียดได้ โดยแมวจะแสดงออกด้วยการเลีย กัด หรือแทะไปตามผิวหนังและเส้นขนมากกว่าปกติ ในกรณีนี้ สัตวแพทย์จะรักษาด้วยการใช้ยา ร่วมกับการปรับพฤติกรรม และสิ่งแวดล้อม

แมวเลียขนตัวเอง, มากเกินไป,

3. มีภาวะความเจ็บปวดในร่างกาย (Pain) ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาการปวดข้อเรื้อรัง ที่ส่งผลให้แมวเลียซ้ำ ๆ ในบริเวณที่รู้สึกเจ็บปวด หรืออาการบาดเจ็บตามเส้นประสาทในร่างกาย โดยเฉพาะระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง ซึ่งทำให้เกิดความเจ็บปวดบริเวณกระเพาะปัสสาวะ จึงทำให้แมวเลียบริเวณส่วนล่างของลำตัวมากกว่าปกติได้

4. ภาวะความรู้สึกสัมผัสไวเกิน (Feline hyperesthesia syndrome) สาเหตุของอาการในกลุ่มนี้ยังไม่ชัดเจน อาการส่วนใหญ่ที่พบคือ แมวจะเลีย หรือเกา บริเวณผิวหนังอย่างรุนแรง โดยเฉพาะช่วงบริเวณเอว หรือสะโพก

ในบางรายอาจมีอาการร่วมกับการกัด หรือแทะหางตัวเอง ผิวหนังกระเพื่อม มีอาการกระวนกระวาย วิ่งไปมาคล้ายกับการสะดุ้งตกใจ วิ่งกระโดด ส่งเสียงร้อง สะบัดหางรุนแรง การศึกษาที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มโรคนี้อาจจะสัมพันธ์กับความผิดปกติกับ 3 ระบบ คือระบบผิวหนัง ระบบประสาท และทางพฤติกรรม เป็นต้น

แมวเลียขนตัวเอง, มากเกินไป,

พฤติกรรมการเลียตัวเองมากเกินไปเป็นปัญหาที่อาจนำไปสู่ปัญหาทางสุขภาพได้ เจ้าของควรพาน้องแมวไปพบสัตวแพทย์ เพื่อการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง และวางแผนการดูแลรักษา เพื่อช่วยให้อาการดีขึ้น หรือหายจากอาการที่ผิดปกติได้

เรื่อง – สพ.ญ.ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์ สัตวแพทย์ ประจำโรงพยาบาลแมว PURRfect Cat Hospital


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ: สัตวแพทย์เผย เคล็ดลับการดูแล แมวแก่

แมวแก่, การดูแลแมวแก่