หนูแกสบี้ หรือ Guinea pig สัตว์ฟันแทะรูปร่างกะทัดรัด ที่มีต้นกำเนิดในอเมริกาใต้ เป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงทางเลือกที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก
หนูแกสบี้ หรือหนูตะเภา หรือ Guinea pig หรือชื่อสามัญในภาษาอังกฤษเป็นที่รู้จักในชื่อ cavies เป็นสัตว์สังคม ที่มีรูปร่างกะทัดรัด ตัวกลม ขาสั้น และไม่มีหาง สัตว์เลี้ยงชนิดนี้มีบรรพบุรุษเป็นสัตว์ป่ามาก่อน ที่แพร่กระจายไปทั่วทุ่งหญ้าในเทือกเขาแอนดีสของอเมริกาใต้ ปัจจุบัน พวกเขาได้กลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์ มีหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งในแง่ของรูปร่าง และสีขน
ข้อมูลทั่วไปของหนูแกสบี้ที่ควรทราบก่อนเลี้ยง
- หนูแกสบี้มีอายุขัยเฉลี่ย 5 – 6 ปี หรือบางตัวอาจมากกว่านั้น
- หนูแกสบี้เป็นสัตว์เลี้ยงที่ตื่นตัวสูง และนอนงีบเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ในหนึ่งวัน
- หนูแกสบี้เป็นสัตว์สังคมโดยสัญชาตญาณ บรรพบุรุษของพวกเขาที่อยู่ในธรรมชาติจะอาศัยอยู่รวมฝูงกัน 5 – 10 ตัว
- หนูแกสบี้จะรู้สึกเหงาถ้าอยู่ตัวเดียว ดังนั้น ควรเลี้ยงรวมกันอย่างน้อย 2 ตัว ขึ้นไป
- หนูแกสบี้เป็นสัตว์ฟันแทะที่ต้องการใยอาหาร และวิตามินซี สูงมาก เนื่องจากร่างกายของพวกเขาไม่สามารถสังเคราะห์วิตามินซีได้เอง
ก่อนเลี้ยงต้องเตรียมบ้านให้เหมาะสมกับแกสบี้
หนูแกสบี้เป็นสัตว์เลี้ยงไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิภายนอก การจัดวางกรงของพวกเขาจึงควรอยู่ในจุดที่แสงแดดส่องไม่ถึง และเป็นบริเวณที่มีการถ่ายเทอากาศได้ดี อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับพวกเขาอยู่ที่ 25 – 27 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิสูงมาก ๆ จะทำให้เกิดอาการฮีตสโตรก ซึ่งเกิดขึ้นได้ง่ายมากในสัตว์เลี้ยงชนิดนี้
กรงของแกสบี้ควรมีขนาดใหญ่เพียงพอให้เป็นทั้งพื้นที่ออกกำลังกายและพักผ่อน ในกรงจึงควรมีวัสดุที่ให้ความอบอุ่น และมีลักษณะเป็นที่หลบภัยได้ด้วย เพื่อให้พวกเขารู้สึกปลอดภัย พร้อมกับจัดวางอยู่ในจุดที่ปลอดภัย ไม่มองเห็นสัตว์เลี้ยงผู้ล่า อย่างสุนัข และแมว
วัสดุปูรองภายในกรงควรเป็นวัสดุที่ไม่ทำให้เกิดฝุ่นละออง เพราะจะทำให้หนูแกสบี้เกิดอาการภูมิแพ้ได้ รวมไปถึงควรหลีกเลี่ยงวัสดุจากไม้สน และวัสดุเส้นใยจากฝ้าย เนื่องจากมีความเสี่ยงที่หนูแกสบี้อาจเผลอกินเข้าไป และทำให้เกิดอันตรายต่อระบบทางเดินอาหารได้
การออกแบบพื้นที่ภายในกรงควรเน้นการส่งเสริมให้พวกเขาได้ออกกำลังกาย ด้วยการติดตั้งท่อที่มีลักษณะคล้ายอุโมงค์ ให้หนูแกสบี้ได้มุดลอด รวมไปถึงมีของเล่นที่ปลอดภัยสำหรับหนูแกสบี้ โดยหลีกเลี้ยงของเล่นที่ทำจากพลาสติก
โภชนาการที่เหมาะสมกับหนูแกสบี้
1. หญ้าแห้ง และหญ้าสด
หญ้าคุณภาพดีเป็นอาหารหลักของหนูแกสบี้ ที่เจ้าของต้องจัดเตรียมให้มีพร้อมอยู่ในกรงตลอดเวลา โดยในช่วงวัยเด็ก ตั้งแต่แรกเกิดถึงหกเดือน สามารถให้หญ้าอัลฟาฟ่าที่มีแคลเซียมสูง เป็นอาหารหลักได้ หลังจากพ้นหกเดือนไปแล้วจึงเปลี่ยนเป็นหญ้าทิโมธี หรือหญ้าถั่วคาวาลเคด และที่สำคัญต้องมีน้ำะอาดให้พวกเขาตลอดเวลา
2. อาหารเม็ด
หนูแกสบี้จำเป็นต้องได้รับวิตามินซีที่เพียงพอประมาณ 10 – 20 มิลลิกรัมต่อวัน อาหารเม็ดจึงเป็นแหล่งของวิตามินเสริมที่ดี เจ้าของควรคำนวนปริมาณอาหารเม็ดให้เหมาะสมกับการกินของหนูแกสบี้ โดยกำหนดปริมาณที่หนูแกสบี้กินหมดได้ภายในหนึ่งวัน เพราะถ้าเจ้าของเทอาหารเม็ดทิ้งไว้นานเกินไป วิตามินซีในอาหารเม็ดจะเสื่อมประสิทธิภาพ
3. ผักและผลไม้สด
หนูแกสบี้สามารถกินผักชนิดต่าง ๆ ได้ ดังนี้ ผักคะน้า บรอกโคลี ผักโขม ตำลึง หน้าไม้ฝรั่ง โหระพา แครอท และใบชะพลู อย่างไรก็ตาม หนูแกสบี้ไม่ควรกินผักสดเหล่านี้ได้ทุกวัน เจ้าของควรให้กินในปริมาณเล็กน้อยเป็นอาหารว่าง เพียง 2 – 3 ครั้ง ต่อสัปดาห์ และควรล้างผักให้สะอาดทุกครั้งก่อนนำไปให้หนูแกสบี้
ส่วนผลไม้ที่ปลอดภัยสำหรับหนูแกสบี้ คือ ชมพู่ สาลี่ ฝรั่ง แอปเปิ้ล มะละกอ แตงโม กล้วย สตรอเบอรี่ และส้ม โดยยึดหลักการเดียวกับการให้ผักสด โดยให้ในปริมาณน้อย ล้างให้สะอาด แคะเมล็ดออกให้หมด และให้เป็นอาหารว่างเพียง 2 – 3 ครั้งต่อสัปดาห์
วงจรการสืบพันธุ์ของหนูแกสบี้
หนูแกสบี้โตเต็มวัยมีน้ำหนักประมาณ 1 – 1.5 กิโลกรัม โดยหนูแกสบี้ตัวเมียสามารถตั้งท้องได้ตั้งแต่อายุ 1.5 เดือนขึ้นไป อย่างไรก็ตามอายุที่เหมาะสมของการตั้งท้องคือ 3 – 5 เดือน
โดยทั่วไปแล้ว หนูแกสบี้ตัวเมียจะอุ้มท้องประมาณโดยเฉลี่ย 65 วัน มีวงรอบการเป็นสัด 14 – 19 วัน ตกลูกครั้งละ 1 – 3 ตัว และลูกหนูจะหย่านมได้ภายใน 14 – 18 วัน แต่ที่เหมาะสมควรประมาณ 21 วัน
ปัญหาด้านสุขภาพของหนูแกสบี้
ความผิดปกติด้านสุขภาพที่พบได้บ่อยในหนูแกสบี้ เช่น หายใจแรง ท้องเสีย มีน้ำมูก ซึมไม่กินอาหาร และเจ็บขา เป็นต้น และอีกหนึ่งปัญหาที่พบได้บ่อย แต่สัตวแพทย์ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่ชัดเจนได้ คือ ปัญหาขนร่วงเป็นหย่อม ๆ หรือขนร่วงทั้งตัว โดยไม่แสดงอาการคัน ไม่มีรอยแดงเป็นสะเก็ดที่ผิวหนัง หรือไม่มีการติดเชื้อและอักเสบบนผิวหนัง
หนูแกสบี้เป็นสัตว์เลี้ยงที่มีความน่ารัก ไม่ส่งเสียงดัง ต้องการพื้นที่ในบ้านไม่มากเมื่อเทียบกับกระต่าย แต่ก็ต้องการความใส่ใจเรื่องอาหารการกินเป็นพิเศษมากกว่าสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น ๆ เจ้าของควรพิจารณาเรื่องเวลาในการดูแลทำความสะอาดกรง และความพร้อมของเรื่องแหล่งอาหาร และโรงพยาบาลสัตว์ที่ใกล้เคียงไว้ด้วย
ข้อมูลอ้างอิง
Smithsonian’s National Zoo & Conservation Biology Institute – Guinea pig (Cavia porcellus)
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ: ความน่ารักแบบย่อส่วนของ สัตว์เลี้ยงตัวจิ๋ว หรือ สัตว์เลี้ยงแคระ