สุนัขไม่ชอบเข้าสังคม แก้ไขได้อย่างไร

เจ้าของหลายท่านอาจะกำลังประสบปัญหา สุนัขไม่ชอบเข้าสังคม ซึ่งเมื่อเราพาพวกเขาออกไปข้างนอกบ้านแล้ว สุนัขมักจะแสดงนิสัยก้าวร้าวกับสุนัขด้วยกัน หรือกับคนแปลกหน้า

จากข้อมูลในปัจจุบันที่เผยแพร่กันบนโลกออนไลน์ ข้อมูลจากหลายแหล่งได้แนะนำว่า สุนัขไม่ชอบเข้าสังคม สามารถแก้ไขได้โดยพาพวกเขาออกไปพบปะกับหมาตัวอื่นบ่อย ๆ ก็จะสามารถช่วยแก้ไขพฤติกรรมนี้ได้

ในความเป็นจริง ตามหลักพฤติกรรมสัตว์เลี้ยงแล้ว หากเจ้าของพาสุนัขที่ไม่ชอบเข้าสังคม ออกไปพบเจอกับสุนัขตัวอื่นเยอะ ๆ บ่อย ๆ แล้วจะแก้ปัญหาพฤติกรรมนี้ได้ จริงหรือ วันนี้ เรามาหาคำตอบไปพร้อมกันครับ

สุนัขไม่ชอบเข้าสังคม, พฤติกรรมสุนัข

เจ้าของควรทำความเข้าใจพฤติกรรมของสุนัข

ตามหลักการศึกษาพฤติกรรมสัตว์เลี้ยง เมื่อเราให้สุนัขเจอกับสิ่งที่พวกเขาไม่ชอบซ้ำ ๆ เพื่อหวังจะให้การตอบสนองต่อสิ่งเร้าลดลง เรียกว่า ความเคยชิน หรือ Habituation ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ สิ่งเร้านั้น ๆ ไม่ใช่ความรุนแรงในมุมมองของสุนัข และไม่ได้ทำให้เกิดอันตราย หรือบาดเจ็บต่อสุนัข รวมไปถึง สุนัขเผชิญกับสิ่งเร้านั้นบ่อยครั้ง และสม่ำเสมอ

ในทางกลับกัน ถ้าสุนัขต้องพบเจอกับสิ่งเราที่มีความรุนแรงสูงมาก เป็นสิ่งเร้าที่ทำให้สุนัขรู้สึกว่าเป็นอันตรายต่อชีวิต หรือเป็นสิ่งที่ไม่มีความรุนแรง แต่สุนัขคาดเดาไม่ได้ รวมถึงสุนัขไม่ได้พบเจอกับสิ่งเร้าชนิดนั้นอย่างเพียงพอ สิ่งกระตุ้นเหล่านี้จะส่งผลให้สุนัขเกิดภาวะที่เรียกว่า Sensitization หรือไวต่อสิ่งเร้า ซึ่งแตกต่างกับพฤติกรรมความเคยชิน หรือ Habituation

สุนัขไม่ชอบเข้าสังคม, พฤติกรรมสุนัข

เมื่อสุนัขเกิดภาวะ Sensitization สุนัขจะไวต่อการกระตุ้นจากสิ่งเร้าภายนอกมากขึ้น กล่าวคือ เมื่อเจ้าของพาสุนัขออกไปพบเจอกับสิ่งเร้าที่ไม่คุ้นเคยบ่อย ๆ อย่างเช่นในประเด็นที่เรากำลังพูดถึงอยู่คือ สุนัขไม่ชอบเข้าสังคม แล้วพาเขาไปพบเจอสุนัขตัวอื่น ๆ เพื่อหวังจะแก้ปัญหานี้ได้ ผมขอตอบว่า “ไม่เสมอไป” ครับ

ที่ต้องตอบแบบนี้เนื่องจากในหลักทางพฤติกรรมสัตว์ที่ได้อธิบายไปข้างต้นแล้วว่า สุนัขอาจเกิดความคุ้นชินกับสิ่งเร้า ที่เรานำพาเขาออกไปเจอสุนัขตัวใหม่ หรือในทางตรงกันข้าม ก็มีความเป็นไปได้ว่า สุนัขอาจมีพฤติกรรมที่ไวต่อสถานการณ์ที่ไม่คุ้นชิน และกลายเป็นว่า ปัญหาด้านพฤติกรรมที่กำลังเป็นอยู่ไม่ได้รับการแก้ไข แต่กลับซับซ้อนขึ้นกว่าเดิม

สุนัขแต่ละตัวตอบสนองสิ่งเร้าในระดับที่แตกต่างกัน

สำหรับมุมมองจากสัตวแพทย์ มาถึงตรงนี้ เจ้าของมักจะสอบถามว่า “แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่า ตัวกระตุ้น หรือสิ่งเร้าแบบไหน ที่เรียกว่ารุนแรง หรือ ไม่รุนแรง”

“สัตวแพทย์เองก็บอกได้ยากครับ” เนื่องจากสุนัขแต่ละตัวมีความรู้สึกต่อสิ่งเร้าชนิดเดียวกัน ในรดับที่แตกต่างกันออกไป นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ส่งผลต่อระดับความรู้สึกของสุนัข จึงเป็นเรื่องยากที่จะระบุอย่างชัดเจนว่า สิ่งเร้านั้น ๆ รุนแรง หรือไม่รุนแรง

สุนัขไม่ชอบเข้าสังคม, พฤติกรรมสุนัข

ดังนั้น ผมขอให้คำแนะนำในเบื้องต้นว่า สำหรับสุนัขที่มีปัญหาพฤติกรรมด้านการเข้าสังคมกับสุนัขตัวอื่น เจ้าของควรหลีกเลี่ยงการพาสุนัขออกไปพบเจอกับสุนัขตัวอื่นบ่อยๆ เพราะเราไม่รู้เลยว่า สุนัขกำลังเรียนรู้ที่จะเคยชิน หรือกำลังจะกลายเป็นปัญหาที่ซันซ้อนขึ้น

เหตุผลที่แนะนำเช่นนี้ เนื่องจาก เป็นการป้องกันไม่ให้สุนัขเจอกับสิ่งกระตุ้นใหม่ ๆ และเพื่อให้แน่ใจว่าพฤติกรรมความก้าวร้าวที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้มีสาเหตุมาจากปัญหาทางด้านร่างกาย จากนั้น เจ้าของควรขอคำแนะนำจากสัตวแพทย์ด้านพฤติกรรมสัตว์ เพื่อหาสาเหตุของปัญหา และหาแนวทางการจัดการ และบำบัดปัญหาที่เกิดขึ้น ตามหลักวิชาการต่อไป

สุนัขไม่ชอบเข้าสังคม, พฤติกรรมสุนัข

ถ้าอยากพาสุนัขเข้าสังคม ควรเริ่มตอนอายุเท่าไร และอย่างไร

สุนัขเป็นสัตว์สังคมโดยธรรมชาติ เช่นเดียวกับมนุษย์ ไม่ได้หมายความว่า สุนัขของเราจำเป็นต้องทักทาย หรือทำความรู้จัก สุนัขตัวอื่น หรือคนแปลกหน้าเสมอไป ในทำนองเดียวกัน ไม่ใช่สุนัขทุกตัวบนโลกจะชอบหรือต้องการให้คนที่เพิ่งเคยเห็นครั้งแรก เดินเข้ามาลูบหัวเสมอไป

สิ่งที่ผมกำลังพูดถึงเรียกว่า ระดับการเข้าสังคมของสุนัข ซึ่งแตกต่างกันในสุนัขแต่ละตัว โดยมีปัจจัยมากมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องระดับการเข้าสังคม และหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญมากกับเรื่องนี้คือ ประสบการณ์ในวัยเด็ก หรือช่วงที่วัยเรียกว่า ช่วงการเข้าสังคม (socialization period)

ช่วงการเข้าสังคมของสุนัขอยู่ระหว่างช่วงอายุ 3-12 สัปดาห์ ซึ่งจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับสุนัขแต่ละตัว และการเข้าสังคมของสุนัขก็ไม่เหมือนการเปิดปิดสวิตช์ไฟ แต่จะค่อย ๆ เกิดขึ้น และค่อย ๆ ลดลง ตามลำดับ

ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า ในสุนัขบางตัวอาจอาจสิ้นสุดระยะการเข้าสังคมที่หลัง 12 สัปดาห์ หรืออาจจะช้า หรือเร็วกว่านั้น

ช่วงอายุของสุนัขที่ต้องเรียนรู้เรื่องการเข้าสังคม เป็นเรื่องสำคัญมาก

ช่วงการเข้าสังคมของสุนัขเป็นช่วงที่สำคัญต่อลูกสุนัขมาก เนื่องจากเป็นช่วงที่ระบบประสาทและสมองพัฒนาอย่างรวดเร็ว ลูกสุนัขจะเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ รอบตัว และเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว ช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นช่วงนาทีทอง ที่เจ้าของควรให้ลูกสุนัขได้พบเจอกับสิ่งเร้าต่าง ๆ ในสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด

โดยเจ้าของจำเป็นต้องทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุม และเลือกเฉพาะประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกสุนัขในช่วงวัยนี้ เช่น ให้ขนม ของเล่น สิ่งเร้าต่าง ๆ หรือพาเขาไปในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่พวกเขาต้องพบเจอเป็นครั้งแรก เป็นต้น

หากในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ลูกสุนัขไม่ได้มีโอกาสพบกับสิ่งเร้าใหม่ ๆ ในสิ่งแวดล้อม หรือพบเจอสิ่งเร้าที่สร้างประสบการณ์เชิงลบให้กับพวกเขา เมื่อลูกสุนัขโตขึ้นและไปเผชิญกับสิ่งเร้าดังกล่าว ก็มีแนวโน้มที่จะมีความกลัว และนำไปสู่การแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว กลายเป็นปัญหาพฤติกรรมตามมาได้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงวัยที่ลูกสุนัขพร้อมเข้าสังคม เป็นช่วงอายุที่ลูกสุนัขส่วนใหญ่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบ ดังนั้น การพาลูกสุนัขออกไปพบเจอกับสิ่งเร้าในสิ่งแวดล้อม ควรทำด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการพาไปเล่นกับสุนัขป่วย หรือพาไปในบริเวณที่อาจมีความเสี่ยงทำให้ลูกสุนัขติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ อย่างบริเวณที่มีสุนัขอื่นมาถ่ายทิ้งไว้ เป็นต้น

เจ้าของอาจพาลูกสุนัขออกจากบ้าน ด้วยการอุ้ม หรือการใช้รถเข็น เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการสัมผัสกับเชื้อโรคต่าง ๆ โดยยังสามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกสุนัขที่ได้ออกไปพบเจอกับสิ่งเร้าต่าง ๆ ในธรรมชาติได้ด้วยการให้ขนม หรือเล่นของเล่นกับลูกสุนัข เมื่อเจอกับสิ่งเร้าเหล่านั้น

เจ้าของสุนัขเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการเข้าสังคมของสุนัข

ในการเข้าสังคม ลูกสุนัขไม่จำเป็นจะต้องเข้าไปเล่นคลุกคลีกับสุนัขตัวอื่น เพียงแค่มีประสบการณ์ที่ดีที่พบเจอและเห็นสุนัขตัวอื่น ๆ ก็นับว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการเข้าสังคมเช่นกัน

นอกจากการได้พบเจอกับสุนัขด้วยกันแล้ว เจ้าของควรเปิดโอกาสให้สุนัขได้พบเจอกับสิ่งเร้าอย่างหลากหลาย อย่างคนแปลกหน้า หรือสถานที่ใหม่ ๆ เช่น ชายทะเล สนามหญ้าในสวนสาธารณะ พานั่งรถยนต์ หรือโรงพยาบาลสัตว์ เป็นต้น

การเปิดโอกาสให้สุนัขไปพบเจอสิ่งเร้าต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อให้สุนัขเกิดการเรียนรู้ และเชื่อมโยงกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจจะต้องเผชิญในอนาคต วิธีนี้ก็จะช่วยลดแนวโนมการเกิดปัญหาด้านพฤติกรรมได้ โดยเฉพาะพฤติกรรมก้าวร้าวเมื่อสุนัขโตขึ้น

ในกรณีที่สุนัขมีอายุมากกว่า 4 – 5 เดือน เจ้าของควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษในการพาสุนัขเข้าสังคม เนื่องจาก สุนขับางตัวอาจเคยมีประสบการณ์ไม่ดีกับสุนัขตัวอื่นมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งหากเป็นกรณีนี้ เมื่อเจ้าของพาสุนัขไปเข้าสังคม หรือไม่เจอกับสุนัขตัวอื่น ๆ ก็มีความเป็นไปได้ว่า อาจจะเกิดผลเสียมากกว่าผลลัพธ์ที่ดี

บทความโดย อ.ดร.น.สพ.ปรารมภ์ ศรีภวัศราคม

Prarom Sriphavatsarakom, DVM (Hons), MScStud, PhD

Faculty of Veterinary Science Mahidol University

  • Animal Behaviour Clinic, Pasu-arthorn Animal Hospital, Mahidol University

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ บุคลิกภาพของสุนัข มีแบบใดบ้าง