การให้ขนมแก่สัตว์เลี้ยง เพื่อประโยชน์ทางด้านพฤติกรรม

การให้ขนมแก่สัตว์เลี้ยง เป็นกิจกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ทำกันจนเป็นเรื่องปกติ เพราะขนมเป็นสิ่งที่สัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่ต้องการและอยากได้ นอกจากนี้ เราสามารถนำขนมมาใช้ในการฝึกพฤติกรรม หรือปรับพฤติกรรมได้อย่างหลากหลาย

การให้ขนมแก่สัตว์เลี้ยง หากใช้ขนมที่ไม่ได้ผลิตมาเพื่อสัตว์เลี้ยงโดยตรง หรือไม่ได้มีการควบคุมมาตรฐานคุณภาพ หรือให้ในปริมาณที่มากจนเกินไป ก็อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยงได้ ดังนั้น เรามาดูกันครับว่า ควรให้ขนมแก่สัตว์เลี้ยงของเรา อย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุนัขมากที่สุด

แน่นอนว่า ขนมที่เราเลือกใช้ควรเป็นขนมที่มีขบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน มีข้อมูลที่สำคัญต่าง ๆ ระบุไว้อย่างชัดเจน เช่น ข้อมูลทางโภชนศาสตร์ มีรายละเอียดของส่วนประกอบต่าง ๆ มีรายละเอียดของผู้ผลิต หรือผู้นำเข้า สถานที่ติดต่อ และปริมาณที่สามารถรับประทานได้ต่อวัน เป็นต้น

ควรหลีกเลี่ยงขนม และอาหารเป็นของมนุษย์ เนื่องจากอาจมีส่วนผสมที่เป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงของเราได้

การให้ขนมแก่สัตว์เลี้ยง, ขนมสุนัข, การฝึกสุนัข

ข้อควรคำนึงในการให้ขนมแก่สัตว์เลี้ยงของเรา เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้เลี้ยงควรให้ความใส่ใจ โดยเราควรหลีกเลี่ยงการให้ขนมตามใจเจ้าของ เช่น หลังจากตื่นนอนตอนเช้าก็ให้ขนมหนึ่งชิ้นกับสุนัขทันที โดยไม่ได้มีเหตุผลใด ๆ

ในทางกลับกัน ควรให้ขนมแก่สัตว์เลี้ยง เมื่อพวกเขาแสดงพฤติกรรมที่เราต้องการ ตัวอย่างเช่น สุนัขนั่งคอยเมื่ออยากกินขนมที่อยู่ในมือเรา หรือสุนัขของเราเดินผ่านสุนัขตัวอื่นแล้วไม่เห่าใส่ เป็นต้น รวมไปถึง เมื่อสุนัขออกไปอยู่ในสถานที่ที่มีสิ่งเร้าที่สุนัขไม่ชอบ เราก็สามารถให้ขนมได้เช่นกัน

โดยในกรณีหลังนี้ นอกจากการให้ขนมจะเป็นการช่วยปรับสภาวะอารมณ์ให้ดีขึ้นแล้วนั้น ยังเป็นวิธีในการตรวจสอบระดับความเครียดของสุนัขได้อีกด้วย

การให้ขนมแก่สัตว์เลี้ยง, ขนมสุนัข, การฝึกสุนัข

โดยเจ้าสามารถสังเกตได้ว่า ถ้าสุนัขไม่กินขนมที่ชอบมาก ๆ ในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง นั่นแสดงว่า สุนัขรู้สึกเครียดมาก ๆ แล้ว แม้แต่ขนมที่ชอบก็ยังไม่กิน เราควรพาสุนัขออกจากบริเวณดังกล่าว หรือกำจัดตัวกระตุ้นที่ทำให้สุนัขรู้สึกเครียดออกไป

ถ้าสุนัขยังกินขนมได้อยู่ เจ้าของก็ควรสังเกตด้วยว่า พฤติกรรมการกินขนม เร็ว และดูรุนแรงกว่าปกติ หรือไม่ ถ้าสุนัขกินขนมเร็วและแรงกว่าปกติ สิ่งนี้ก็เป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงระดับความเครียดที่สูงเช่นกัน เราควรช่วยน้องหมาของเราให้ออกมาจากสถานการณ์ดังกล่าว

แต่ถ้าสุนัขยังคงกินขนมได้ด้วยพฤติกรรมปกติ ก็เป็นการสะท้อนให้เราเห็นว่า สุนัขยังอยู่ในสภาวะที่ไม่ได้มีความเครียดที่สูงมากจนเกินไป

นอกจากนี้ เรายังสามารถให้ขนมแก่สุนัขเมื่อแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น เมื่อมีมอเตอร์ไซต์วิ่งผ่านหน้าบ้าน แต่สุนัขไม่มีได้มีการวิ่งไปเห่า หรือวิ่งไล่ แต่กลับนอนเฉย ๆ การให้ขนมในกรณีดังกล่าวเป็นการบอกให้สุนัขรู้ว่า หากมีมอเตอร์ไซต์หรือตัวกระตุ้นผ่านหน้าบ้าน แล้วสุนัขไม่ได้แสดงพฤติกรรมการเห่า หรือวิ่งไล่ สุนัขจะได้ขนมเป็นรางวัล

การให้ขนมแก่สุนัขในลักษณะดังกล่าว เป็นหนึ่งในแนวทางที่ใช้ในการจัดการกับปัญหาพฤติกรรมของสุนัขได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับหลักสวัสดิภาพสัตว์ และหลักวิชาการในปัจจุบัน

ทั้งนี้ปริมาณขนมที่ให้ในแต่ละครั้ง ควรมีปริมาณที่น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น หักขนมเป็นชิ้นเล็ก ๆ ขนาดไม่เกิน 2-3 ลูกบาศก์มิลลิเมตร และไม่ควรใช้ขนมบ่อย ๆ โดยไม่จำเป็น ควรเก็บไว้ใช้ในสถานการณ์ที่จำเพาะเท่านั้น เนื่องจากการให้ขนมในปริมาณมาก ๆ หรือให้บ่อย ๆ ในหลาย ๆ สถานการณ์ จะเป็นการลดมูลค่าของขนมลง

เมื่อมูลค่าของขนมลดลง ประสิทธิภาพที่จะนำมาใช้ในการปรับพฤติกรรมก็จะลดลงตามไปด้วยเช่นกัน การให้ขนมในลักษณะนี้ นอกจากจะช่วยรักษามูลค่าของขนมไว้ ยังเป็นการช่วยลดปริมาณขนมที่ให้สุนัขในแต่ละวัน เพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพอีกด้วย

การให้ขนมแก่สัตว์เลี้ยง, ขนมสุนัข, การฝึกสุนัข

กล่าวโดยสรุปคือ เราควรให้ขนมที่ผลิตขึ้นมาสำหรับสัตว์เลี้ยงโดยตรง โดยใช้ขนมที่มีมาตรฐาน เชื่อถือได้ ให้ขนมแก่สัตว์เลี้ยง เมื่อสัตว์เลี้ยงแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมที่เราต้องการ หรือให้ในสถานการณ์ที่สัตว์เลี้ยงของเราไม่ชอบ เพื่อเป็นการช่วยปรับอารมณ์

ทั้งนี้ ขนมที่ให้ควรให้เพียงปริมาณเล็กน้อย ให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ และหากเรากำลังใช้ขนมในการทำพฤติกรรมบำบัด เราควรให้ขนมสุนัขในลักษณะที่มีความจำเพาะกับสถานการณ์ กล่าวคือให้เฉพาะเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ต้องการบำบัดเท่านั้น ในเวลาอื่น ๆ ไม่ควรใช้ขนมชนิดเดียวกัน เพื่อเป็นการรักษามูลค่าของขนมไว้

ท้ายที่สุด ควรคำนึงถึงปริมาณของขนมที่ให้โดยรวมในแต่ละวัน โดยควบคุมไม่ให้มีปริมาณมากเกินกว่าที่ทางผู้ผลิตกำหนดไว้ เพื่อลดผลกระทบที่จะมีต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยงในระยะยาว

บทความโดย อ.ดร.น.สพ.ปรารมภ์ ศรีภวัศราคม

Prarom Sriphavatsarakom, DVM (Hons), MScStud, PhD

Faculty of Veterinary Science Mahidol University

  • Animal Behaviour Clinic, Pasu-arthorn Animal Hospital, Mahidol University

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – วิธีฝึกสุนัข แบบ Reward-based training หรือการฝึกโดยใช้รางวัล