เลี้ยงแมวตัวเดียว หรือควรหาเพื่อนให้น้องอีกสักตัว

หลาย ๆ ท่านที่เป็นทาสแมว ที่กำลัง เลี้ยงแมวตัวเดียว อยู่ในตอนนี้ ก็อาจจะมีความสงสัยว่า น้องแมวที่เราเลี้ยงอยู่จะเหงา หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเราออกไปทำงานนอกบ้านระหว่างวัน แล้วจำเป็นต้องทิ้งน้องไว้ที่บ้านตัวเดียว ก็ยิ่งเป็นแรงกระตุ้นให้เราถามตัวเองอยู่ซ้ำ ๆ ว่า เราควรหาแมวอีกสักตัวมาอยู่เป็นเพื่อนน้อง ดีไหมนะ

ก่อนที่จะเราจะตัดสินว่า เราจะ เลี้ยงแมวตัวเดียว หรือเพิ่มสมาชิกแมวเข้ามาในบ้าน เราลองเรียนรู้รายละเอียดเกี่ยวกับธรรมชาติความต้องการด้านสังคมของแมว กันดูก่อนครับ

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า แมวบ้านที่เราเลี้ยงกันอยู่ทุกวันนี้ มีลักษณะนิสัย และพฤติกรรม ที่คล้ายคลึงกับบรรพบุรุษที่เป็นแมวป่า เนื่องจากระยะเวลาที่มนุษย์นำแมวเข้ามาเป็นสัตว์เลี้ยง ไม่ได้ยาวนานมาก เมื่อเทียบกับสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น อย่างสุนัข

นอกจากนี้ ในการเพาะพันธุ์แมวออกมาเป็นสายพันธุ์ต่าง ๆ ผู้เพาะพันธุ์แมวส่วนใหญ่คัดเลือกลักษณะของสายพันธุ์ โดยเน้นที่รูปร่างและหน้าตาของแมวเป็นหลัก โดยที่ไม่ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการแสดงออกทางพฤติกรรมของแมว

แมวแต่ละสายพันธุ์ที่มีปรากฏอยู่ทุกวันนี้นั้น จึงมีลักษณะของพฤติกรรมโดยทั่วไปที่คล้ายคลึงกับแมวป่าในธรรมชาติค่อนข้างสูง ดังนั้น ในการทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของแมวบ้านที่เราเลี้ยงกันอยู่ทุวันนี้ จึงสามารถศึกษาความต้องการตามธรรมชาติของแมวป่า แล้วนำมาประยุกต์ใช้กับแมวบ้านได้เลย

เลี้ยงแมวตัวเดียว, การพาแมวตัวใหม่เข้าบ้าน

สังคมแบบแมวแมว

ที่ผ่านมา การศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างทางสังคมของแมว พบว่า แมวเป็นสัตว์ที่มีโครงสร้างทางสังคมที่แบบ “ยืดหยุ่น” สูง หมายความว่า โดยส่วนใหญ่ตามธรรมชาติ แมวเป็นสัตว์ที่อยู่เพียงลำพัง ใช้ชีวิตเพียงตัวเดียว เวลาล่าเหยื่อเพื่อหาอาหาร ก็ล่าเพียงตัวเดียว ไม่ได้มีการรวมกลุ่ม รวมฝูงในการอยู่ร่วมกัน หรือร่วมกันล่าเหยื่อเพื่อนำมาเป็นอาหาร

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงนี้ไม่ได้หมายความว่า แมวไม่สามารถอยู่รวมกันเป็นกลุ่มได้ แมวสามารถอยู่ร่วมกันได้หากมีทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างเพียงพอ โดยทรัพยากรดังกล่าว รวมถึง อาหาร น้ำ บริเวณที่ขับถ่าย ที่พักอาศัย บริเวณที่ซ่อน บริเวณปลอดภัย และอื่น ๆ

หากมีทรัพยากรต่าง ๆ เหล่านี้ ในปริมาณมากเพียงพอต่อความต้องการของแมวทุกตัว แมวก็สามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้ ทั้งนี้ ท้ายที่สุดแล้วก็จะขึ้นอยู่กับลักษณะนิสัย และความต้องการของแมวแต่ละกลุ่ม แต่ละตัวด้วยเช่นกัน

โดยพบว่า โอกาสในการรวมกลุ่มกันของแมวนั้นมักเกิดกับแมวเพศเมียมากกว่าเพศผู้ และแมวเด็กมีแนวโน้มจะอยู่ร่วมกันได้ดีกว่าแมวที่โตเต็มวัย อย่างไรก็ตาม แมวแต่ละตัวก็ยังมีความสามารถในการอยู่ร่วมกับแมวตัวอื่น (และสัตว์ชนิดอื่น) ได้ในระดับที่แตกต่างกันไป

เลี้ยงแมวตัวเดียว, การพาแมวตัวใหม่เข้าบ้าน

นอกจากนี้ แมวยังเป็นสัตว์ที่ให้ความสำคัญกับรื่องอาณาเขตเป็นอย่างมาก การรุกร้ำอาณาเขตหรือพื้นที่ของแมว เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้แมวเกิดความเครียดได้สูง โดยแมวอาจแสดงออกทางพฤติกรรม เช่น แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวต่อแมวที่เข้ามาใหม่ มีการขับถ่ายไม่เป็นที่ มีพฤติกรรมการเลียขนตัวเองมากจนเกินไป หรือบางตัวอาจถึงขั้นทำร้ายตัวเอง วิ่งไล่กัดหางตัวเอง หรือกัดขนตัวเองจนแหว่ง หรือเป็นแผล เป็นต้น

ดังนั้น หากเราพิจารณาโดยยึดความต้องการของแมวตามธรรมชาติเป็นหลัก แมวเป็นสัตว์ที่สามารถอยู่เพียงลำพังได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องอยู่รวมกลุ่ม หรืออยู่ร่วมกับแมวตัวอื่นแต่อย่างใด

หากเจ้าของเลี้ยงแมวเพียงตัวเดียว จึงอาจจะไม่จำเป็นต้องกังวลว่า แมวของเราจะเหงาเพราะไม่มีแมวตัวอื่นอยู่เป็นเพื่อน เพราะการนำแมวใหม่เข้ามาอยู่ร่วมกับแมวเดิม มีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาได้ค่อนข้างมาก

เลี้ยงแมวตัวเดียว, การพาแมวตัวใหม่เข้าบ้าน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นแมวตัวผู้เหมือนกัน และเป็นแมวที่โตเต็มวัยแล้วทั้งคู่ อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ได้หมายความว่าน้องแมวของเราจะไม่มีภาวะความเครียดเมื่อต้องอยู่เพียงลำพัง เพียงแต่ความเครียดที่เกิดขึ้น มักเกี่ยวข้องกับความต้องการอยู่ร่วมกับเจ้าของ หรือพูดง่าย ๆ ว่าน้องแมวติดเจ้าของ มากกว่าความต้องการแมวตัวอื่นมาอยู่เป็นเพื่อน อย่างที่เราอาจจะเข้าใจกันมาโดยตลอด

บทความโดย

อ.ดร.น.สพ.ปรารมภ์ ศรีภวัศราคม

Prarom Sriphavatsarakom, DVM (Hons), MScStud, PhD

Faculty of Veterinary Science Mahidol University

  • Animal Behaviour Clinic, Pasu-arthorn Animal Hospital, Mahidol University

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – แมวชอบกัดเล่นแรง เพราะอะไร

แมวชอบกัดเล่นแรง