ทุกวันนี้ ความเครียดในสัตว์เลี้ยง ถือเป็นสภาวะหนึ่งที่สามารถพบเจอได้ในสัตว์เลี้ยงที่อยู่ในความดูแลของเรา
ความเครียดในสัตว์เลี้ยง สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายเหตุปัจจัย โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมรอบตัวสัตว์ ทั้งเชิงกายภาพ เช่น เสียงก่อสร้าง ความร้อน การเปลี่ยนแปลงที่อยู่ การมีเฟอร์นิเจอร์ใหม่ในบ้าน หรือย้ายข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ไปจากตำแหน่งเดิม
ไม่ใช่เพียงปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ประสบการณ์ของสัตว์เลี้ยง ก็มีผลต่อการเกิดความเครียดได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่สัตว์เลี้ยงบางตัวมีประสบการณ์ที่ดีกับเด็ก เมื่อเจอเด็กก็จะเกิดความเครียดน้อยกว่า สัตว์เลี้ยงที่มีประสบการณ์ไม่ดีกับเด็ก เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความเครียดในสัตว์เลี้ยงคือ ปัจจัยที่เกี่ยวกับตัวสัตว์เลี้ยงเอง โดยสัตว์แต่ละตัวก็จะมีความสามารถในการรับมือกับความเครียดที่แตกต่างกัน
อย่างในกรณีที่สัตว์เลี้ยงคนแต่ละตัวไปอยู่ในสถานที่เดียวกัน ก็อาจจะตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมแตกต่างกันได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อสัตว์เลี้ยงของเรามีความเครียดเกิดขึ้น เราสามารถช่วยเหลือสัตว์เลี้ยงของเราโดยใช้แนวทางต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับสิ่งแวดล้อม การทำพฤติกรรมบำบัด รวมไปถึงการใช้ยา
นอกเหนือจากแนวทางในการจัดการกับความเครียดที่ได้กล่าวไปในข้างต้นแล้ว ในปัจจุบัน ผู้เลี้ยงสามารถใช้อาหารเสริมที่มีส่วนประกอบของสารบางประเภท เพื่อช่วยจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้ โดยสารที่มักนิยมนำมาผลิตเป็นอาหารเสริม เพื่อจัดการกับความเครียด และปัญหาพฤติกรรมในสัตว์เลี้ยง ได้แก่
1. แอล – ทริปโตแฟน (L-Tryptophan)
แอล – ทริปโตแฟน (L-Tryptophan) เป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นองค์ประกอบของโปรตีนทริปโตแฟน เป็นสารตั้งต้นของการผลิตสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า เซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสภาวะอารมณ์
หลักฐานจากงานวิจัยที่่ผ่านมา พบว่า ถ้าปริมาณของทริปโตแฟนในสมองต่ำ จะมีความสัมพันธ์กับปัญหาพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น ความก้าวร้าว เป็นต้น ดังนั้น การให้อาหารเสริมที่มี ทริปโตแฟนก็มีแนวโน้มที่จะช่วยในการบำบัด และจัดการกับปัญหาพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเครียด และอารมณ์เชิงลบได้ แต่อาจจะต้องใช้เวลา และควรจะต้องวางแผนการจัดการอย่างเป็นระบบควบคู่กันไปด้วย
2. แกมมา – อะมิโนบิวทีริกแอซิด หรือ กาบา (Gamma-aminobutyric acid, GABA)
กาบา เป็นสารสื่อประสาทชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการกระตุ้นระบบประสาท ในทางคลินิก จึงมีฤทธิ์ทำให้สัตว์ลดการตอบสนองต่อสิ่งเร้า และมีพฤติกรรมสงบมากขึ้น
3. แอลฟา – แคโสเซพีน (Alpha-casozepine)
เป็นสารสกัดโปรตีนหลักของน้ำนมวัว ออกฤทธิ์โดยการผ่านเข้าสู่สมองและยับยั้งกระแสประสาทเช่นเดียวกันกับกาบา มีรายงานพบว่า แอลฟา – แคโสเซพีน สามารถช่วยลดปัญหาพฤติกรรมที่เกี่ยวกับความกังวลในแมว และช่วยในการจัดการกับปัญหาความวิตกกังวลในสุนัขได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยช่วยลดพฤติกรรมกังวล และยังลดระดับฮอร์โมนความเครียด (cortisol) ในกระแสเลือดอีกด้วย
4. แอล – ธีอะนีน (L-theanine)
แอล – ธีอะนีน เป็นสารที่สกัดได้จากชาเขียว มีการศึกษาพบว่า แอล – ธีอะนีน ช่วยลดพฤติกรรมการขับถ่ายไม่เป็นที่ของแมวที่มีสาเหตุมาจากความเครียด ลดความกังวลในสุนัขที่ไวต่อเสียงฟ้าร้องฟ้าผ่า และลดความกลัวของสุนัขที่มีต่อคนแปลกหน้าได้อีกด้วย ดังนั้น แอล – ธีอะนีน จึงมีแนวโน้มที่จะช่วยลดความเครียด และจัดการกับพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความวิตกกังวลในสุนัขและแมวได้
สารอาหารต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไปข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของสารที่สามารถนำมาใช้เพื่อช่วยจัดการกับความเครียดในสุนัขและแมวได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยของตัวสัตว์เอง ผู้เลี้ยงควรขอคำแนะนำจากสัตวแพทย์ก่อนเริ่มใช้อาหารเสริมชนิดต่าง ๆ
ถึงแม้ว่า อาหารเสริมบางประเภทจะมีประสิทธิภาพในการช่วยจัดการกับความเครียดในสัตว์เลี้ยง ผู้เลี้ยงควรให้ความสำคัญกับการหาสาเหตุของความเครียด และมุ่งเน้นการจัดการไปที่ต้นเหตุของปัญหา
โดยหากพบว่า สัตว์เลี้ยงมีภาวะความเครียดเกิดขึ้น จนมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อการดำรงชีวิต หรือส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของตัวสัตว์เอง ผู้เลี้ยงควรขอคำปรึกษาจากสัตวแพทย์ หรือสัตวแพทย์ด้านพฤติกรรมสัตว์ เพื่อร่วมกันหาแนวทาง และวิธีการในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้อง และเป็นระบบต่อไป
บทความโดย
อ.ดร.น.สพ.ปรารมภ์ ศรีภวัศราคม
Prarom Sriphavatsarakom, DVM (Hons), MScStud, PhD
Faculty of Veterinary Science Mahidol University
- Animal Behaviour Clinic, Pasu-arthorn Animal Hospital, Mahidol University
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – น้อง หมาไม่ยอมกินข้าว เบื่ออาหาร เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง