การป้องกัน ปัญหาสัตว์จรจัด ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย กรุงเทพมหานครฯ (กทม.) จึงเร่งสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจ และสร้างแรงจูงใจ ในการจดทะเบียนสัตว์เลี้ยง
ร่างข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. … ที่จะมีการประกาศใชในอนาคตอันใกล้นี้ ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครฯ ต่างเกิดความกังวลว่า การจดทะเบียนสัตว์เลี้ยง และการจำกัดจำนวนสัตว์เลี้ยงต่อขนาดพื้นที่อาศัย อาจไม่ได้แก้ ปัญหาสัตว์จรจัด ได้ตามวัตถุประสงค์
นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กรุงเทพมหานครฯ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวถึง แนวทางการควบคุมและแก้ไขปัญหาสุนัขและแมวจรจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า
สนอ. ได้ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจดทะเบียนสุนัข ตามข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง การควบคุมการเลี้ยง หรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. 2550 อย่างต่อเนื่อง โดยประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น
- สัตวแพทยสภา
- สมาคมผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย
- ชมรมผู้ประกอบการสถานพยาบาลสัตว์แห่งประเทศไทย
เพื่อขอความร่วมมือสถานพยาบาลสัตว์เอกชนช่วยประชาสัมพันธ์การจดทะเบียนสัตว์เลี้ยง รวมถึงประสานภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้แก่เจ้าของสัตว์เลี้ยงในการจดทะเบียนสัตว์เลี้ยงและการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ
โดยร่างข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. … ที่จะประกาศใช้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เจ้าของสัตว์ดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่ก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญ แก่ชุมชน รวมถึงเป็นการป้องกันปัญหาสัตว์จรจัดจากการเพิ่มจำนวนและการปล่อยทิ้งสัตว์เลี้ยงเป็นสัตว์จรจัด
โดยมีการกำหนดจำนวนสัตว์ต่อพื้นที่การเลี้ยง เพื่อไม่ให้มีการเลี้ยงสัตว์ที่หนาแน่นจนก่อให้เกิดปัญหาเดือดร้อนรำคาญแก่ส่วนรวม มีการเลี้ยงดูแลสัตว์เลี้ยงในพื้นที่ของตนเองไม่ปล่อยออกสู่พื้นที่สาธารณะ
หากมีความจำเป็นต้องนำสัตว์เลี้ยงออกนอกพื้นที่ต้องควบคุมสัตว์เลี้ยงอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะสัตว์ควบคุมพิเศษที่ต้องควบคุมเพื่อให้เกิดความปลอดภัย รวมถึงการจดทะเบียนสุนัขและแมว โดยเจ้าของสุนัขและแมวสามารถนำสัตว์เลี้ยงมาฉีดไมโครชิปและจดทะเบียนสุนัขกับ กทม. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่คลินิกสัตวแพทย์ กทม. ทั้ง 8 แห่ง และที่หน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้ง 50 เขต
นอกจากนี้ สนอ. ได้ประสานการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานเขตในการประชาสัมพันธ์ และออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่เชิงรุกผ่าตัดทำหมัน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และฉีดไมโครชิปจดทะเบียนสุนัขให้แก่สัตว์เลี้ยงในพื้นที่กรุงเทพฯ 50 เขต พร้อมทั้งการให้บริการที่คลินิกสัตวแพทย์ กทม. ทั้ง 8 แห่ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ผลการดำเนินงานในปี 2567 กทม. ร่วมกับเครือข่ายในการผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมว 64,669 ตัว ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 209,085 ตัว และฉีดไมโครชิปและจดทะเบียนสุนัข 1,759 ตัว ซึ่งในปี 2568 ได้ตั้งเป้าหมายการผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมว 50,000 ตัว ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 170,000 ตัว และฉีดไมโครชิปจดทะเบียนสุนัข 3,500 ตัว
โดยสามารถติดตามแผนการออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก
“กลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า“
“สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข“
“สำนักอนามัย“
สำหรับการฉีดไมโครชิปและจดทะเบียนสุนัขมีเจ้าของในพื้นที่กรุงเทพฯ กทม. เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน มีสุนัขมีเจ้าของที่ได้รับการจดทะเบียนจำนวนทั้งสิ้น 115,814 ตัว และในปี 2567 ได้ประสานอาสาสมัครสาธารณสุขและศูนย์บริการสาธารณสุขสำรวจสุนัขและแมวในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่า มีจำนวนสุนัขที่มีเจ้าของ 53,991 ตัว จำนวนแมวมีเจ้าของ 115,827 ตัว จำนวนสุนัขจรจัด 8,945 ตัว และจำนวนแมวจรจัด 19,925 ตัว (ข้อมูล ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2567)
โดยข้อมูลดังกล่าว กทม. จะนำไปวิเคราะห์ เพื่อวางแผน การดำเนินการควบคุมประชากรและการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขและแมว รวมทั้งการจดทะเบียนสุนัขมีเจ้าของ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสุนัขและแมวจรจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ ต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง
สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานครฯ