แมวอ้วก แมวสำรอก และแมวไอ เป็นกลุ่มความผิดปกตที่แสดงอาการใกล้เคียงกัน แต่อาการเหล่านี้เกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกัน ดังนั้น เจ้าของควรสังเกตความแตกต่างของอาการเหล่านี้ได้ในเบื้องต้น
แมวอ้วก มักเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพหลายประการ ถ้าเจ้าของพบว่า แมวอ้วกโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรบันทึก หรือถ่ายภาพ อาการของแมว ลักษณะของก้อนอาเจียน ก่อนนำแมวไปพบสัตวแพทย์
ทำไม แมวอ้วก หรืออาเจียน
เมื่อเรานำแมวไปคลินิก หรือโรงพยาบาลสัตว์ สัตวแพทย์จะถามคำถามต่าง ๆ กับเจ้าของ เพื่อหาสาเหตุของอาการอาเจียน ซึ่งอาจเป็นคำถามเหล่านี้
- คุณเพิ่งเปลี่ยนอาหารให้แมว ใช่หรือไม่
- แมวเพิ่งได้รับยาจากการสั่งของสัตวแพทย์ หรือยาที่คุณไปซื้อมาเอง หรือไม่
- คุณมีแมวตัวอื่นในบ้าน หรือไม่ ถ้ามี … แมวตัวอื่น ๆ ในบ้านมีอาการอาเจียนด้วย หรือเปล่า
- คุณเลี้ยงแมวในระบบปิด หรือระบบเปิด
- ก่อนมาพบสัตวแพทย์ แมวอาเจียนไปแล้วกี่ครั้งลักษณะของอาเจียนเป็นอย่างไร
- แมวยังกินอาหารได้ตามปกติ หรือไม่ อาเจียนต่อเนื่องมานานแล้วหรือยัง
- มีอาการอื่น ๆ เช่น ท้องเสีย ร่วมด้วย หรือไม่
เหล่านี้คือแนวทางคำถาม ที่เจ้าของต้องให้ข้อมูลอย่างชัดเจนแก่สัตวแพทย์ เพื่อช่วยให้การวินิจฉัยหาสาเหตุมีความแม่นยำ โดยหลัก ๆ แล้ว แมวอาเจียนแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ สาเหตุที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร และสาเหตุที่ไมเเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร
ความแตกต่างระหว่างการสำรอก และอาเจียน
การสำรอก หรือขย้อน (Regurgitation) เป็นการไหลย้อนกลับเพื่อขับเอาสิ่งที่กินเข้าไปออกจากส่วนหลอดอาหาร ก่อนที่จะผ่านกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารลงไปสู่กระเพาะอาหาร โดยการสำรอกไม่ได้ใช้กำลังของกล้ามเนื้อหน้าท้อง และกระบังลม ในการขับสิ่งกินเข้าไปออกมา
แมวที่แสดงอาการสำรอก มักเกิดขึ้นแทบจะทันทีที่กินอาหาร หรือกินบางสิ่งบางเข้าไป ลักษณะของที่กินเข้าไปจะยังมีสภาพไม่เปลี่ยนไปมาก กล่าวคือ กินอะไรเข้าไปก็จะออกมาเป็นอย่างนั้น เนื่องจากยังไม่ได้สัมผัสกับน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร
ส่วนการอาเจียน เป็นการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ที่กระตุ้นให้สิ่งที่อยู่ในกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็ก ไหลผ่านหลอดอาหารออกมาทางปาก หรือทางจมูก โดยใช้กล้ามเนื้อท้อง และกระบัง ในการขับออกมา
โดยก่อนจะเกิดการอาเจียน เจ้าของอาจสังเกตพบอาการคลื่นไส้ ผะอืดผะอม หรือแมวแลบลิ้นเลียปาก จากนั้น กล้ามเนื้อท้อง และกระบังลม จะขยับเป็นจังหวะอย่างรุนแรง และลักษณะของอาเจียนมักมีน้ำย่อย หรือน้ำดีปนออกมาด้วย
อาการเจียนแบบเฉียบพลัน และเรื้อรัง ในแมว
อาการอาเจียนแบบเฉียบพลัน หมายถึง การอาเจียนอย่างกะทันหัน เพราะแมวกินสิ่งแปลกปลอมบางอย่างเข้าไป หรือมีอาการความผิดปกติบางอย่างในทางเดินอาหาร เช่น พยาธิในลำไส้ โรคตับอ่อนอักเสบ หรือการติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรียในทางเดินอาหาร เป็นต้น ซึ่งการอาเจียนแบบเฉียบพลันมักจะรักษาให้หายได้
ในทางกลับกัน อาการเรื้อรังมักเกิดขึ้นจากโรคประจำตัวของแมว เช่น โรคลำไส้อักเสบ โรคมะเร็งในทางเดินอาหาร โรคไต หรือโรคไทรอยด์เป็นพิษ โดยแมวจะอาเจียนเป็นระยะหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน
สาเหตุของการอาเจียนในแมว
แมวอ้วกหรืออาเจียนได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอาจรวมถึงสาเหตุต่อไปนี้
- อาหารที่กินอยู่ไม่ได้คุณภาพ หรือไม่ถูกสุขอนามัย
- กินสิ่งแปลกปลอมเข้าไป
- โรคลำไส้อักเสบ
- โรคตับอ่อนอักเสบ
- มะเร็ง
- ไทรอยด์เป็นพิษ
- โรคเบาหวาน
- โรคไต
- ปรสิตในลำไส้
- การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และทางเดินอาหาร
หากแมวอาเจียน ร่วมกับอาการเหล่านี้ เจ้าของควรรีบพาแมวไปพบสัตวแพทย์ทันที
- อาเจียนมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน
- อาเจียนมีเลือดสีแดง หรือสีดำปนออกมา
- มีอาการซึม อ่อนเพลีย ไม่มีแรง มีไข้ หรือ ไม่สามารถทานอาหารได้
- มีอาการปวดท้อง เช่น มีอาการร้องเมื่อกดท้อง หรือดูโก่งหลัง
- มีอาการท้องเสีย ร่วมด้วยมากกว่า 2 วัน หรืออึมีสีแดง หรือสีดำ
- สัตว์เลี้ยงในกลุ่มเสี่ยง เช่น สัตว์เลี้ยงที่อายุต่ำกว่า 6 เดือน สัตว์เลี้ยงที่ยังไม่ได้รับวัคซีน
- กลุ่มที่มีปัญหาโรคเรื้อรัง เช่น โรคตับ โรคไต
- มีอาการอาเจียนเรื้อรังเป็นๆ หายๆ หรือน้ำหนักลดลง
- มีประวัติเคยกินสิ่งแปลกปลอม สารเคมี หรือสารพิษ เข้าไป
การดูแลเบื้องต้นถ้าพบว่าแมวอ้วกที่บ้าน
- ถ้าเจ้าของเพิ่งเปลี่ยนอาหาร ที่แมวไม่เคยกินมาก่อน ควรหยุดให้อาหารนั้นก่อน และงดอาหารอย่างน้อย 12 – 24 ชั่วโมง สำหรับแมวโตเต็มวัย และงดอาหาร 4 – 6 ชั่วโมงในลูกลูกแมวอายุ 2 – 6 เดือน ในระหว่างการงดอาหาร เจ้าของสามารถให้แมวดื่มน้ำได้ ซึ่งควรให้ในปริมาณน้อย ๆ แต่บ่อย ๆ
- หลังจากนั้น ควรให้แมวเริ่มกินอาหารอ่อนและย่อยง่าย ประมาณ 2-3 วัน แบ่งเป็นมื้อย่อย 4 – 6 มื้อต่อวัน โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่ไขมันสูง หรือขนม แล้วจึงกลับมาให้อาหารปกติที่เคยกิน แนะนำว่าอย่าเปลี่ยนอาหารเร็วกินไป อาจจะทำให้อาการอาเจียนกลับมาได้
- เจ้าของควรดูแลภาชนะที่เกี่ยวกับอาหารและน้ำของแมวให้สะอาดอยู่เสมอ หรือทำความสะอาดบ่อยๆ
เมื่อแมวอ้วก หรืออาเจียน ย่อมสร้างความไม่สบายใจให้กับเจ้าของเสมอ ดังนั้น การดูแลพวกเขาให้ได้รับอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบถ้วน และสมดุล พร้อมทั้งรักษาความสะอาดของพื้นที่ที่แมวอยู่อาศัย ก็เป็นหนทางหนึ่งในการดูแลแมวของเราให้ห่างไกลจากความผิดปกติทางร่างกายได้
ข้อมูลอ้างอิง
petMD – Cat Vomiting: Causes, Types, and What to Do
โรงพยาบาลสัตว์อารักษ์ – การอาเจียนในน้องหมาและแมว เกิดจากอะไรได้บ้าง?
เรื่องอื่น ๆ ที่นจ่าสนใจ – แมวซึมและอาเจียน อาการเบื้องต้นของโรคไข้หัดแมว