โรคไข้หัดแมว, อาการโรคไข้หัดแมว, แมวซึมและอาเจียน

แมวซึมและอาเจียน อาการเบื้องต้นของโรคไข้หัดแมว

แมวซึมและอาเจียน ร่วมกับอาการเบื่ออาหาร มีไข้ ท้องเสีย และถ่ายเป็นมูกเลือดมีกลิ่นคาว แมวอาจเกิดเป็นโรคไข้หัดแมว

โรคไข้หัดแมว นอกจากพบได้ในแมวบ้านแล้ว ยังสามารถพบได้ในสัตว์ตระกูลแมวชนิดอื่นๆ ด้วย อาการที่สังเกตได้คือ แมวซึมและอาเจียน และมีการแสดงออกอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ เบื่ออาหาร ท้องเสีย ถ่ายเป็นมูกเลือดกลิ่นคาว เป็นต้น เมื่อพบอาการดังกล่าวควรรีบนำแมววไปพบสัตวแพทย์ทันที

อาการไข้หัดแมว, โรคไข้หัดแมว, โรคติดเชื้อในแมว, ไขัหัดแมว, แมวป่วย, อาการเป็นอย่างไร, เกิดจากอะไร
 ภาพถ่าย svklimkin

โรคไข้หัดแมวคืออะไร

โรคไข้หัดแมวเกิดจากเชื้อไวรัส กลุ่มพาร์โวไวรัสในแมว (Feline parvovirus) หรือ Feline distemper ซึ่งมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น “โรคไข้หัดแมว” (Cat distemper) และ “โรคลำไส้อักเสบในแมว” (Feline Parvovirus Enteritis) เป็นต้น

โรคติดเชื้อนี้สามารถพบในสัตว์ในตระกูลแมวชนิดอื่นๆ ด้วย เช่น เสือ สิงโต แมวป่า และแมวบ้านทุกพันธุ์ นอกจากนี้ยังพบได้ในสัตว์ตระกูลอื่นๆ เช่น สกังค์ เฟอร์เร็ต มิงค์ และแร็กคูน เป็นต้น

การติดเชื้อไวรัสชนิดนี้จะมีผลต่อระบบทางเดินอาหารของแมว และทำให้แมวมีอาการอาเจียนและท้องเสีย บางครั้งอาจมีอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ (หวัดแมว) แทรกซ้อนร่วมด้วย

อาการไข้หัดแมว, โรคไข้หัดแมว, แมวซึมและอาเจียน, โรคติดเชื้อในแมว, ไขัหัดแมว, แมวป่วย, อาการเป็นอย่างไร, เกิดจากอะไร
ภาพถ่าย Alexander

โรคนี้มีความน่ากลัวอย่างไร

มักพบในแมวอายุน้อยและก่อให้เกิดความรุนแรงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในลูกแมวที่อายุ ช่วง 3 – 5 เดือน และพบการเสียชีวิตแบบเฉียบพลันในลูกแมวอายุตั้งแต่ 4 สัปดาห์จนถึงอายุ 1 ปี

ในแมวโตก็พบการติดเชื้อได้เช่นกัน โดยโรคนี้มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ระหว่างร้อยละ 25-90 เป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูงโดยเฉพาะในกลุ่มแมวที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีน

อาการไข้หัดแมว, โรคไข้หัดแมว, แมวซึมและอาเจียน, โรคติดเชื้อในแมว, ไขัหัดแมว, แมวป่วย, อาการเป็นอย่างไร, เกิดจากอะไร
ภาพถ่าย Peter Lam

การติดต่อโรคนี้สามารถติดได้จากการสัมผัสแมวป่วยหรือสัมผัสกับอุจจาระ สิ่งคัดหลั่งต่างๆ หรือภาชนะเครื่องใช้ของแมวป่วย หรือติดผ่านจากมนุษย์เป็นพาหะนำโรคผ่านเสื้อผ้า อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ที่สัมผัสกับแมวป่วย และมีระยะการฟักตัวของโรค 2-7 วันก่อนที่จะแสดงอาการ แมวที่เลี้ยงระบบเปิดจะมีความเสี่ยงสูงต่อการติดโรคมากกว่าแมวที่เลี้ยงแบบระบบปิด

เราจะสังเกตอาการของแมวที่ติดโรคนี้ได้อย่างไร

อาการที่พบคือ ซึม มีไข้ เบื่ออาหาร อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายเป็นมูกเลือดกลิ่นคาว ร่างกายมีภาวะขาดน้ำ แมวบางตัวมีอาการตัวงอ บางครั้งอาจมีอาการเกร็ง ปวดช่องท้อง และพบลักษณะลำไส้หนาตัว ภายในมีแก๊สและของเหลว

การติดเชื้อในลูกแมวอาจมีผลต่อการทรงตัวของลูกแมวและทำให้ลูกแมวตาบอดได้ ส่วนในแม่แมวที่ตั้งท้องอาจทำให้เกิดการแท้งลูกหรือลูกเสียชีวิตหลังคลอดได้ ในแมวที่หายจากโรคนี้ในระยะแรกยังสามารถตรวจพบเชื้อไวรัสในอุจจาระได้หลายสัปดาห์

อาการไข้หัดแมว, โรคไข้หัดแมว, แมวซึมและอาเจียน, โรคติดเชื้อในแมว, ไขัหัดแมว, แมวป่วย, อาการเป็นอย่างไร, เกิดจากอะไร
ภาพถ่าย Sabrina

การตรวจวินิจฉัย

สัตวแพทย์จะซักประวัติและอาการ การตรวจเลือดมักจะพบภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำมาก จึงมีชื่อเรียกโรคนี้ว่า “Feline Panleukopenia” การตรวจหาแอนติเจนโดยใช้ตัวอย่างอุจจาระของแมวที่ป่วยทดสอบกับชุดตรวจ Rapid test สำหรับการตรวจหาเชื้อไวรัส การตรวจหาเชื้อด้วยวิธี PCR และการตรวจแยกเชื้อไวรัสในห้องปฏิบัติการ (viral isolation) เป็นต้น

รคนี้สามารถรักษาได้ไหม

โรคนี้สามารถรักษาได้แต่ในรายที่ติดเชื้อรุนแรงหรือในแมวอายุน้อยก็มีโอกาสเสียชีวิตสูง การรักษาอาจเป็นการรักษาตามอาการ และประคับประครองอาการ เนื่องจากเป็นการติดเชื้อไวรัสซึ่งไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรง จึงต้องรอให้ร่างกายของแมวสร้างภูมิต้านทานต่อโรคขึ้นมาเอง

หากแมวมีอาการที่ต้องสงสัย ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์ทันทีเนื่องจากเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ในแมวบางตัวที่มีอาการไม่กินอาหาร มีอาเจียน ท้องเสีย จะทำให้ร่างกายอ่อนแรง ขาดน้ำ เสียสมดุลของเกลือแร่อิเล็กโทรไลท์ในร่างกาย แมวอาจอยู่ในสภาวะช็อกได้

อาการไข้หัดแมว, โรคไข้หัดแมว, โรคติดเชื้อในแมว, ไขัหัดแมว, แมวป่วย, อาการเป็นอย่างไร, เกิดจากอะไร
ภาพถ่าย Alexander Andrews

โดยสัตวแพทย์จะรักษาโดยให้สารน้ำเข้าทางหลอดเลือด (Fluid therapy) ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน นอกจากนี้อาจมีการให้ยาระงับการอาเจียน และยาลดอาการปวดร่วมด้วย

สำหรับการป้องกันโรค แนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หัดแมวเป็นประจำทุกปี ซึ่งสามารถรับวัคซีนได้ตามคลินิกและโรงพยาบาลสัตว์ทั่วไป การทำลายเชื้อที่ปนเปื้อนจากแมวป่วยที่มากับสิ่งแวดล้อม ชามน้ำ ชามอาหาร พื้น ที่นอน กรง ควรทำความสะอาดด้วยน้ำยาฟอกขาวเจือจางกับน้ำในอัตราส่วน 1:32 และแนะนำเลี้ยงแมวระบบปิดเพื่อลดโอกาสการสัมผัสเชื้อไวรัส

เรื่อง สพ.ญ. ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์ สัตวแพทย์ โรงพยาบาลแมว PURRfect Cat Hospital


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ