ปัจจุบัน การเลี้ยงสัตว์ เป็นเสมือนหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว เป็นสิ่งที่พบเห็นได้โดยทั่วไป สะท้อนให้เห็นถึงผู้บริโภคบางกลุ่มให้ความสำคัญกับการเลี้ยงสัตว์อย่างมีความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ในสื่อสังคมออนไลน์ทั่วโลก Influencer ที่เป็นสัตว์เลี้ยง สามารถสร้างกระแสจนเกิดการพูดถึง และสร้างผู้ติดตามได้หลักแสนหลักล้านบัญชี ยิ่งตอกย้ำว่า กระแส การเลี้ยงสัตว์ แบบ Pet Humanization เป็นแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก
Pet Parent คือการนิยามใหม่ของเจ้าของสัตว์เลี้ยง ซึ่งเมื่อก่อนเราทั้งหลายคุ้นชินกับคำว่า Pet Owner แต่ในปัจจุบัน เจ้าของสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่เรียกสัตว์เลี้ยงของตัวเองว่า ลูก และแทนตัวเองว่า พ่อแม่
ดังนั้น การดูแลสัตว์เลี้ยง หรือรูปแบบวิถีชีวิตของคนกับสัตว์เลี้ยงในปัจจุบัน จึงแตกต่างออกไปจากเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ทุกวันนี้ เหล่าบรรดา Pet Parents ปฏิบัติกับสัตว์เลี้ยงให้เป็นเสมือน “บุคคล” หนึ่งภายในบ้าน
พฤติกรรมการเลี้ยงสัตว์ของคนในยุคปัจจุบัน ไม่เพียงเปลี่ยนมุมมองการเลี้ยงสัตว์ แต่ยังส่งผลให้ตลาดสัตว์เลี้ยง และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเติบโตอย่างมาก เช่น ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ธุรกิจเกี่ยวสุขภาพสัตว์เลี้ยง ธุรกิจของเล่นและของใช้สำหรับสัตว์เลี้ยง และธุรกิจที่สร้างประสบการณ์ร่วมกันระหว่างเจ้าของและสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผ่านเครื่องมือ DXT360 เพื่อสำรวจการพูดถึงสัตว์เลี้ยงในสังคมออนไลน์ (Social Listening) ในช่วงวันที่ 1 ตุลาคม – 25 พฤศจิกายน 2567 และได้นำมาวิเคราะห์หา insight ที่เผยให้เห็นเทรนด์ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง โดยพบว่าบนสื่อสังคมออนไลน์ได้พูดถึงประเด็นเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง (Mention) 185,126 ครั้ง และผู้ใช้มีปฏิสัมพันธ์กับโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง รวม 33,419,814 ครั้ง
อาหารสัตว์เลี้ยง และโรงพยาบาลสัตว์ ถูกกล่าวถึงบนสื่อสังคมออนไลน์ มากที่สุด
พฤติกรรมการเลี้ยงสัตว์มีอิทธิพลต่อการเติบโตของธุรกิจสัตว์เลี้ยงอย่างชัดเจน โดยผลสำรวจของดาต้าเซ็ต พบว่า ธุรกิจอาหารและขนมสัตว์เลี้ยง เป็นธุรกิจที่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์พูดถึงมากที่สุด ร้อยละ 49 รองลงมาคือ ธุรกิจโรงพยาบาลสัตว์ร้อยละ 36
นอกจากนี้ ธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงก็ได้รับการกล่าวถึงบนสื่อสังคมออนไลน์เช่นกัน ทั้งธุรกิจดูแลสุขภาพ (ร้อยละ 7) ธุรกิจอุปกรณ์เสริมสำหรับสัตว์เลี้ยง (ร้อยละ 5) และธุรกิจฟาร์มสัตว์เลี้ยง (ร้อยละ 2)
ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า เจ้าของสัตว์เลี้ยงในปัจจุบันได้หันมาใส่ใจเรื่องการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยง และมีความเข้าใจเรื่องการเลี้ยงสัตว์มากขึ้น นอกจากนี้ ยังเริ่มเห็นธุรกิจรูปแบบใหม่ที่นำสัตว์เลี้ยงมาผสมผสานกับไลฟ์สไตล์มากขึ้นอย่าง Puppy Yoga ที่กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มคนรักสัตว์ ซึ่งอาจหมายถึงว่า ผู้คนกำลังมองหากิจกรรมที่สามารถทำร่วมกับสัตว์เลี้ยงได้ในชีวิตประจำวัน
ปัจจัยที่ทำให้ผู้คนหันมาสนใจ การเลี้ยงสัตว์ กันมากขึ้น
การสำรวจความคิดเห็นของเจ้าของสัตว์เลี้ยง ดาต้าเซ็ตพบว่า เจ้าของสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่ ร้อยละ 44 คิดว่า การเลี้ยงสัตว์สามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้อย่างยืดหยุ่น และคุมงบประมาณได้ ทั้งค่าอาหาร ค่าดูแล และค่ารักษา โดยไม่ต้องวางแผนระยะยาวเรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง
ในขณะเดียวกันเจ้าของสัตว์เลี้ยงประมาณร้อยละ 27 ต้องการอิสระ หรือไลฟ์สไตล์ที่คล่องตัว สามารถทำงาน ท่องเที่ยว หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้โดยมีทางเลือกในการฝากสัตว์เลี้ยงไว้กับโรงพยาบาลสัตว์ หรือสถานที่รับเลี้ยงได้โดยไม่ต้องกังวล
นอกจากนี้ เจ้าของสัตว์เลี้ยงบางส่วน ร้อยละ 15 ยังกังวลต่อสภาพสังคมปัจจุบันและอนาคต ความท้าทายในสังคมยุคใหม่ คุณภาพชีวิต การแข่งขันที่สูงขึ้น ความกดดันทางสังคม จึงเลือกวิถีชีวิตที่เหมาะกับตนเอง
รวมไปถึงเจ้าของสัตว์เลี้ยงราวร้อยละ 14 ยังความคำนึงถึงความพร้อมของตนเองก่อนเลี้ยงสัตว์ สะท้อนความรับผิดชอบของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการประเมินความพร้อมของตนเอง และเลือกรูปแบบการสร้างครอบครัวที่สอดคล้องกับศักยภาพ
ผลสำรวจดังกล่าวสอดคล้องกับการรายงานก่อนหน้านี้ที่พบว่า ข้อมูลการขึ้นทะเบียนสุนัขและแมวในปัจจุบันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี แต่ในทางกลับกัน อัตราการเกิดของเด็กในประเทศไทยกลับลดลงอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่ปี 2560 สะท้อนให้เห็นถึงผู้คนส่วนหนึ่งนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพื่อเข้ามาเติมเต็มครอบครัว
ปัจจุบัน ธุรกิจหลากหลายแบรนด์จึงเลือกที่จะทำการตลาดสัตว์เลี้ยง หรือ “Pet Marketing” มากขึ้น เพื่อสื่อสารแบรนด์ถึงกลุ่มคนเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นผลมาจากไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้ที่นิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงแทนลูก และการที่ผู้บริโภคเห็นภาพโฆษณาที่มีทั้งสัตว์และสินค้าอยู่ในโฆษณาสินค้าใดๆ ก็ตาม ก็จะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้านั้น ๆ มากถึงร้อยละ 43.82
เทรนด์สัตว์เลี้ยงทางเลือก หรือ Exotic ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
จากการรวบรวมโพสต์ และความคิดเห็นบนสื่อออนไลน์ ดาต้าเซ็ตพบว่า แมว คือสัตว์เลี้ยงที่ผู้คนกล่าวถึงมากที่สุด ร้อยละ 44 รองลงมาคือ สุนัข ร้อยละ 28 อาจเป็นไปได้ว่า ไลฟ์สไตล์ของคนเมืองในประเทศไทย อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ค่อนข้างจำกัด การเลี้ยงแมวจึงตอบโจทย์ต่อการใช้ชีวิตมากกว่า ในขณะที่ สุนัขต้องการพื้นที่กว้าง เพื่อทำกิจกรรมร่วมกับเจ้าของ
ที่น่าสนใจคือ การพูดถึงสัตว์เลี้ยงทางเลือก หรือ Exotic Pet มีสัดส่วนถึงร้อยละ 18 ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระแส Pet Parent ที่มีความคิดเห็นว่า สัตว์เลี้ยงเท่ากับลูก กำลังขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจสัตว์เลี้ยงอย่างก้าวกระโดด
โดยเฉพาะธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง และโรงพยาบาลสัตว์ที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับสุขภาพและคุณภาพชีวิตของสัตว์เลี้ยงมากขึ้น และในอนาคตคาดว่าจะเห็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่มาช่วยยกระดับการดูแลสัตว์เลี้ยง ทั้งบริการสัตวแพทย์ออนไลน์ และการใช้ AI วิเคราะห์พฤติกรรมของสัตว์เลี้ยง เพื่อให้การดูแลทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.prachachat.net/ict/news-1704987
https://www.pptvhd36.com/wealth/trick-trend/237872
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – กทม. เร่งสร้างแรงจูงใจจดทะเบียนสัตว์เลี้ยง ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ