ลูกแมวแรกเกิด เป็นช่วงวัยที่เปราะบาง และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าช่วงวัยอื่น การทำความเข้าใจในเรื่องสาเหตุการเสียชีวิตของลูกแมวแรกเกิด จะช่วยให้เราเตรียมพร้อมการดูแลทั้งแม่และลูกแมวในช่วงเวลาที่แสนเปราะบางนี้ได้
เจ้าของแมวบางท่าน ทั้งที่ตั้งใจเป็นเจ้าของ และเป็นเจ้าของโดยบังเอิญ อาจเคยประสบปัญหา ที่ต้องดูแล ลูกแมวแรกเกิด ซึ่งบางท่านอาจเคยพบว่า ลูกแมวเสียชีวิตตั้งแต่คลอดออกมา หรือเสียชีวิตภายหลังไม่นานหลังจากคลอดแล้ว
การสูญเสียลูกแมวตั้งแต่วัยแรกเกิดย่อมนำมาซึ่งความเสียใจของเจ้าของแมวทุกท่าน ในธรรมชาติของแมว เมื่อแมวตัวเมียตั้งท้องหนึ่งครั้ง จะให้กำเนิดลูกแมวครอกละ 2 – 5 ตัว และเมื่อลูกแมวคลอดออกมาแล้ว ในช่วง 4 สัปดาห์แรก เป็นช่วงเวลาสำคัญของลูกแมวที่ต้องได้รับการดูแลจากแม่แมวอย่างใกล้ชิด เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงที่ลูกแมวมีโอกาสเสียชีวิตค่อนข้างสูงถึงร้อยละ 90

ในทางสัตวแพทย์ กลุ่มอาการที่ลูกแมวเสียชีวิตในช่วงแรกเกิด มีชื่อเรียกว่า Fading kitten syndrome โดยสาเหตุการเสียชีวิตในลูกแมวแรกเกิด แบ่งได้เป็น 2 กรณีใหญ่ ๆ คือ
1. สาเหตุที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ (Non infectious cause)
- ความผิดปกติทางพันธุกรรม ซึ่งมักเกิดกับลูกแมวที่ได้รับยีนส์ด้อย (Recessive gene) จากพ่อแม่แมว ส่งผลให้ร่างกายทำงานผิดปกติ เช่น ขาดการสร้างเอนไซม์ที่สำคัญในร่างกาย ระบบเผาผลาญพลังงานผิดปกติ เป็นต้น ลูกแมวมีอวัยวะที่ไม่สมบูรณ์ตั้งแต่เกิด เช่น ปากแหว่ง เพดานโหว่ หรือมีไส้เลื่อนหน้าท้อง มีกระดูกผิดรูป และในลูกแมวที่เกิดจากการผสมแบบเลือดชิด (inbreeding) มักจะมีแนวโน้มพบความผิดปกได้มากขึ้น
- ความผิดปกติที่เกิดจากการคลอดและแม่แมว เช่น แม่แมวที่มีภาวะคลอดยาก ลูกแมวจะมีโอกาสเสียชีวิตได้ในช่วงหลังคลอดออกมา ซึ่งเกิดจากการที่ลูกแมวขาดออกซิเจน หรือเกิดการบาดเจ็บ ตัวแม่แมวเองก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกแมวเสียชีวิตได้ เช่น แม่แมวท้องแรกที่ไม่เลี้ยงลูก แม่แมวไม่มีน้ำนม แม่แมวนอนทับลูก หรือแม่แมวอาจเกิดความเครียดจนกินลูกตัวแมว เป็นต้น
- ภาวะภูมิคุ้มกันจากแม่ทำลายเม็ดเลือดแดงของลูกแมว หรือ Neonatal isoerythrolysis (NI) เป็นภาวะที่เกิดจากการเข้ากันไม่ได้ของกรุ๊ปเลือดแม่แมวและลูกแมว ทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตก และเกิดภาวะโลหิตจางรุนแรงในลูกแมว
- สิ่งแวดล้อม และการจัดการ ไม่เหมาะสม เช่น อุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมบริเวณที่ลูกแมวอยู่เย็น หรือร้อนจนเกินไป ความชื้น และการถ่ายเทอากาศไม่เหมาะสม มีความหนาแน่นของสิ่งมีชีวิตมากจนเกินไป รวมถึงความสะอาดของพื้นที่ที่ลูกแมวอยู่อาศัย
- การได้รับสารอาหารที่ไม่เหมาะสม ไม่มีคุณค่าทางอาหารที่เพียงพอสำหรับลูกแมว
- ลูกแมวมีน้ำหนักน้อยกว่ามาตรฐาน มีโอกาสเกิดภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำ ภาวะแห้งน้ำ ระบบการหายใจล้มเหลว และมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย โดยส่วนใหญ่ มักเกิดขึ้นกับลูกแมว ที่แม่ไม่ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอในช่วงตังท้อง จึงทำให้ลูกแมวมีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งน้ำหนักลูกแมวแรกคลอดที่เหมาะสมจะอยู่ที่ประมาณ 90-100 กรัมต่อตัว และในลูกแมวที่มีน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่า 75 กรัม จะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้สูง

2. สาเหตุที่เกิดจากการติดเชื้อ (Infectious cause)
การเสียชีวิตของลูกแมวแรกคลอด ที่เกิดจากการติดเชื้อ มีโอกาสน้อยกว่า สาเหตุที่ไม่ติดเชื้อ โดยส่วนใหญ่ลูกแมวจะได้รับเชื้อก่อโรคผ่านทางรก น้ำนมแมว หรือติดเชื้อโดยตรงจากสิ่งแวดล้อม
- การติดเชื้อแบคทีเรีย และโปรโตซัว โดยเฉพาะการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร เช่น เชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Escherichia coli, Salmonella spp. ทำให้เกิดลำไส้อักเสบในลูกแมว และเสียชีวิตได้ และการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ
- การติดเชื้อไวรัส เช่น โรคไข้หัดแมว โรคหวัดแมว โรคเอดส์แมว และโรคลิวคีเมีย ซึ่งลูกแมวอาจเกิดการติดต่อจากแม่แมวได้
- การติดเชื้อปรสิตภายในและภายนอก เช่น พยาธิไส้เดือนในทางเดินอาหาร ซึ่งสามารถติดผ่านทางน้ำนมแม่ได้ ทำให้ลูกแมวเกิดอาการถ่ายเหลว ผอมแคระแกร็น และเสียชีวิตได้
การเสียชีวิตของลูกแมว เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น การดูแลแม่แมว และลูกแมวอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ช่วงที่แม่แมวตั้งท้องก็จะช่วยให้อัตราการเสียชีวิตของลูกแมวแรกคลอดลดลง
โดยเจ้าของควรใส่ใจดูแลตั้งแต่เรื่องโภชนการอย่างเหมาะสม และครบถ้วน สำหรับแม่แมว ตรวจสุขภาพ และรับวัคซีน เป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ เจ้าควรจัดสภาพแวดล้อมของบริเวณที่แม่แมวใช้เลี้ยงลูกแมวให้ปลอดภัย และสะอาด อยู่เสมอ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อในสิ่งแวดล้อม
บทความโดย
สพ.ญ.ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์
สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลแมว PURRfect Cat Hospital
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – แมวบ้าน ในสหรัฐฯ ติดไข้หวัดนกผ่านอาหารดิบ
