คุณเคยสงสัยว่า การมองเห็นในสุนัขและแมว เห็นภาพต่าง ๆ เหมือนกับที่มนุษย์เรามองเห็นหรือไม่ มองเห็นเจ้าของที่เขารักใส่เสื้อสีสันสดใสหรือไม่ หรือเพราะเหตุใดพวกเขาจึงชอบวิ่งไล่สัตว์ตัวเล็ก ๆ รอบบ้านในช่วงเวลากลางคืน
มาไขข้อสงสัยและหาคำตอบ เรื่อง การมองเห็นในสุนัขและแมว ไปพร้อม ๆ กับคุณหมอ บ้านและสวน Pets กันค่ะ
คำถาม: สุนัขและแมวมีโครงสร้างดวงตาเหมือนหรือแตกต่างจากมนุษย์หรือไม่ อย่างไร
คำตอบ: โครงสร้างดวงตาของมนุษย์และสัตว์มีความคล้ายคลึงกัน จะแตกต่างกันเล็กน้อยในรายละเอียดของสัตว์แต่ละชนิด จอประสาทตา หรือ retina เป็นอวัยวะที่มีลักษณะเป็นแผ่นโปร่งแสงอยู่ที่ด้านหลังสุดของดวงตา มีเซลจอตา (photoreceptors) ทำหน้าที่รับและรวมแสงส่งไปยังสมอง เพื่อแปลผลกลับมาเป็นภาพให้เรามองเห็น เซลจอประสาทตาแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ เซลจอตารูปแท่ง (rod photoreceptors) ทำงานได้ดีในสภาวะแสงน้อยหรือในที่มืด และเซลจอตารูปกรวย (cone photoreceptors) ทำงานได้ดีในสภาวะที่มีแสงสว่างหรือช่วงเวลากลางวัน แมวมีจำนวนเซลจอตารูปแท่งมากกว่ามนุษย์ 6-8 เท่า ในขณะที่สุนัขมีจำนวนมากกว่ามนุษย์ 4 เท่า สุนัขและแมวจึงต้องการแสงสว่างสำหรับการมองเห็นในปริมาณน้อยกว่าที่มนุษย์ต้องการ ปริมาณเซลจอตารูปแท่งจำนวนมากนี้ยังส่งผลให้สุนัขและแมวมีความไวต่อวัตถุหรือสิ่งเคลื่อนไหวในสภาวะที่แสงน้อย ดังพฤติกรรมของสุนัขและแมวที่ชอบวิ่งล่าหนูหรือสัตว์ตัวเล็กกว่าในเวลากลางคืน
คำถาม: การที่สุนัขและแมวรับรู้สิ่งที่เคลื่อนไหวได้ดีในที่มืดนั้น พวกเขาเห็นรายละเอียดภาพของสิ่งที่เคลื่อนไหวได้ดีมากน้อยเพียงไร
คำตอบ: แม้สุนัขและแมวจะมองเห็นวัตถุเคลื่อนไหวได้ดีแต่การรับรู้ในรายละเอียดและความคมชัดของภาพนั้น ทำได้ไม่ดีเท่ามนุษย์ หรือคิดเป็นร้อยละ 20-40 เมื่อเทียบกับมนุษย์ มนุษย์มองเห็นชัดได้ไกลถึง 100-200 ฟุต แมวมองเห็นได้ชัดในระยะเพียง 6-18 ฟุต เมื่อวัตถุนั้นเคลื่อนเข้ามาใกล้แมวมากขึ้น การมองเห็นของแมวจะลดลงอย่างต่อเนื่อง และเมื่อวัตถุอยู่ใกล้เกินกว่า 6 นิ้ว แมวจะมองไม่เห็น นั่นเป็นเพราะเลนส์หรือแก้วตาของแมวมีความสามารถในการปรับรูปร่างให้มองภาพชัดได้ดีไม่เท่ากับเลนส์ของมนุษย์
คำถาม: บ่อยครั้งที่เราเห็นตาของสุนัขและแมวมีลักษณะวาวแสงในเวลากลางคืน เกิดจากสาเหตุใด
คำตอบ: การที่เรามองเห็นสุนัขและแมวตาวาวในตอนกลางคืนนั้น เกิดจากเซล tapetum lucidum ที่เรียงตัวอยู่ในชั้นถัดออกไปจากจอประสาทตา ทำหน้าที่เหมือนกระจกสะท้อนคลื่นแสงที่เลยผ่านจากจอประสาทตาให้กลับไปที่จอประสาทตาอีกครั้ง ช่วยทำให้สุนัขและแมวมองเห็นได้ดีในเวลากลางคืนหรือในสภาวะมีแสงสว่างน้อย รูม่านตาของแมวที่ขยายได้กว้างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะแสงน้อยนั้น ยังช่วยเพิ่มปริมาณแสงเข้าสู่จอประสาทตาทำให้สุนัขและแมวมองเห็นได้ดียิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็ทำให้เราสังเกตเห็นการวาวแสงของเซล tapetum lucidum ได้ชัดเจนขึ้นผ่านรูม่านตาที่กว้างนั้นด้วย อย่างไรก็ตามแม้เซล tapetum lucidum จะช่วยเพิ่มปริมาณแสงให้สุนัขและแมวมองเห็นได้ดียิ่งขึ้นในที่มืด แต่เซลมีส่วนทำให้เกิดการกระเจิงของแสง ภาพที่สุนัขและแมวมองเห็นจึงมีความคมชัดน้อยลง
แมวขนสีขาวตาสีฟ้ามักหูหนวกจริงไหม?
คำถาม: การที่สุนัขและแมวมีดวงตาอยู่ในตำแหน่งทางด้านข้างของศีรษะนั้น มีผลให้การมองเห็นต่างกับในมนุษย์หรือไม่
คำตอบ: โดยทั่วไปแล้วการมองเห็นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ ความกว้างของการมองเห็นหรือลานสายตา (visual field), การรับรู้ความลึก (depth perception) ความชัดเจนของการมองเห็น (visual acuity) ความสามารถในการปรับภาพให้เห็นชัดเจน (focus) การรับรู้การเคลื่อนไหว (perception of motion) การแยกแยะสี (color differentiation) ลักษณะทางกายวิภาคของดวงตา (ocular anatomy) เป็นต้น ตำแหน่งของดวงตาในกะโหลกศีรษะจึงมีผลต่อการมองเห็นที่ต่างกันระหว่างมนุษย์และสัตว์แต่ละชนิด สุนัขและแมวในอดีตมีดวงตาทั้งคู่อยู่ทางด้านหน้าคล้ายมนุษย์ ใช้การมองเห็นทางด้านหน้าตามวิสัยผู้ล่าที่ต้องมีสายตาคมชัดฉับไวเหมาะสำหรับการล่าเหยื่อ จึงต้องมีการมองเห็นที่เรียกว่า ภาพเดียวด้วยสองตา (binocular vision) ที่ดี แต่ด้วยเหตุที่สุนัขและแมวมีวิวัฒนาการจากสัตว์ป่าจนกลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงอย่างเช่นในปัจจุบัน มีพฤติกรรมการล่าเหยื่อน้อยลง มีตำแหน่งของดวงตาออกไปทางด้านข้างของกะโหลกศีรษะมากขึ้น ประกอบกับสุนัขและแมวหลายสายพันธุ์มีขนาดลูกตาที่ยื่นออกมานอกเบ้าตามากกว่าสมัยก่อน ทำให้มีมุมของการมองเห็นที่กว้างขึ้นในขณะที่การมองภาพเดียวด้วยสองตาซึ่งหมายถึงความสามารถในการตัดสินระยะนั้นลดลง
คำถาม: การมองเห็นในสุนัขและแมว เห็นสีสันได้เหมือนมนุษย์หรือไม่ หรือมองเห็นเพียงสีโทนขาวดำเท่านั้น
คำตอบ: การที่มนุษย์เรามองเห็นสีนั้น เกิดจากการทำงานของเซลจอตารูปกรวยที่แบ่งประเภทตามความสามารถในการดูดกลืนความยาวคลื่นของแสงของเซลเม็ดสี 3 ชนิด ได้แก่ สีแดง สีฟ้า และสีเขียว สุนัขและแมวมีเซลเม็ดสีเซลจอตารูปกรวยเพียง 2 ชนิด จึงทำให้มองเห็นภาพต่างๆเป็นโทนสีฟ้า เทา และเหลือง ซึ่งเปรียบเทียบคล้ายกับในมนุษย์ที่ตาบอดสีแดงเขียว อย่างไรก็ตามเนื่องจากสุนัขกับแมวดำรงชีวิตโดยอาศัยการดมกลิ่นและการได้ยินเสียงเป็นหลัก ร่วมกับมีความสนใจในสิ่งที่เคลื่อนไหว และสามารถแยกโทนสีเทาได้ดีซึ่งเหมาะกับความสามารถในการมองเห็นในสภาวะแวดล้อมที่แสงสว่างน้อย ดังนั้นสุนัขและแมวจึงสามารถดำรงชีวิตได้สอดคล้องกับลักษณะทางกายวิภาคของดวงตา
บทความโดย
ผศ.สพญ. ดร นลินี ตันติวนิช
Asst. Prof. Nalinee Tuntivanich DVM, PhD, DTBVS, DipAiCVO
ภาควิชาศัลยศาสตร์ หน่วยจักษุ โรงพยาบาลสัตว์เล็กเพื่อการเรียนการสอน คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Department of Veterinary Surgery, Ophthalmology Clinic, Small Animal Teaching Hospital, Faculty of Veterinary Science, Chulalongkorn University