โรคขี้เรื้อนแห้ง และขี้เรื้อนเปียกในสุนัข

โรคผิวหนังในสุนัขที่ทุกคนมักจะรู้จักกัน คงหนีไม่พ้นโรคขี้เรื้อน ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปโดยเฉพาะสุนัขจรจัดตามถนน เพราะ โรคขี้เรื้อนนี้เกิดจากปรสิตภายนอกที่สามารถติดต่อกันได้ในสุนัข

โรคเรื้อนในสุนัข มีด้วยกัน 2 ประเภทได้แก่ โรคขี้เรื้อน แห้ง และขี้เรื้อนเปียก โดยเกิดจากปรสิตต่างชนิดกันดังนี้

โรคขี้เรื้อนแห้ง (Canine scabies)

โรคขี้เรื้อนแห้งเกิดจาก Sarcoptes scabiei เป็นตัวไรขี้เรื้อนที่ทำเกิดอาการเกาคันอย่างรุนแรง เจ้าตัวไรขี้เรื้อนชนิดนี้ ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า อาศัยอยู่บนผิวหนังชั้นหนังกำพร้า โดยเจ้าไรที่ว่านี้สามารถสืบพันธุ์ออกไข่ ออกลูกหลานได้อีกมากมายเรียกว่าอาศัยอยู่บนผิวหนังสุนัขเป็นชุมชนกันเลยทีเดียวค่ะ

บริเวณที่พบได้บ่อยคือขอบใบหู ใต้ท้อง ข้อศอกและข้อเท้าของขาหลังด้านนอก สุนัขจะคันมากและเกาจนผิวหนังอักเสบ คันจนไม่สามารถใช้ชีวิต หรือทำกิจกรรมในแต่ละวันได้อย่างปกติ ทำให้เกิดความเครียด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด บางตัวขนร่วง มีตุ่มแดง สะเก็ดรังแค (scale) เกิดคราบสะเก็ดแห้งกรัง (crust) หรือเกิดลักษณะผิวแห้งหนา (lichenification) ร่วมด้วย

ในกรณีที่เลี้ยงสุนัขไว้หลายตัว ต้องพาสัตว์เลี้ยงที่มีอาการ โรคขี้เรื้อน ทุกตัวมารักษาด้วย เนื่องจากเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่าย ติดต่อกันได้ไวมาก มิเช่นนั้นจะทำให้เกิดปัญหาการป่วยวนเวียนอยู่ในฝูงสุนัขได้เรื่อย ๆ ที่สำคัญอาจจะมีอาการคันเกิดขึ้นได้กับเจ้าของเช่นกันนะคะ

การวินิจฉัย

สังเกตจากลักษณะผิวหนัง และเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาไรขี้เรื้อน โดยขูดเก็บตัวอย่างจากผิวหนัง ด้วยวิธี superficial skin scraping คือการขูดแบบตื้นๆมาส่องกล้องจุลทรรศน์ดู ซึ่งเจ้าตัวไรขี้เรื้อนซาร์คอพเตส (Sarcoptes spp.) นี้ ค่อนข้างตรวจพบยากมาก ส่วนใหญ่มักขูดตรวจไม่พบ แต่แม้ว่าจะขูดไม่พบเราก็ไม่สามารถตัดประเด็นโรคนี้ไปได้ อาจต้องวินิจฉัยจากอาการ และดูการตอบสนองต่อยาฆ่าตัวไรขี้เรื้อนแทน

การรักษา

การรักษามีหลายวิธีค่ะ ขึ้นอยู่กับตัวสัตว์และงบประมาณของเจ้าของ โดยเลือกใช้วิธีการรักษาอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1. ฉีดยา ivermectin ทุก ๆ 1-2 สัปดาห์ ต่อเนื่องกัน 2-3 ครั้ง แต่วิธีนี้ห้ามใช้ในสุนัขบางพันธุ์ เช่น Collie, Old English sheepdog,
Shetland sheepdog, Australian Shepherds ฯลฯ และพันธุ์ลูกผสมของพันธุ์ดังกล่าว เพราะเป็นพันธุ์ที่มีความไวต่อยาสูง อาจเสี่ยงแพ้ยาได้ง่าย วิธีนี้ราคารักษาค่อนข้างถูกกว่าวิธีอื่น ๆ แต่จัดเป็นยานอกทะเบียนในสุนัข (extra-label use) ต้องใช้ตามคำแนะนำของคุณหมอเท่านั้น
2. ใช้วิธีหยดหลังด้วยยา selamectin ทุก 2 สัปดาห์ ติดต่อกัน 3 ครั้ง สามารถใช้ได้ในสุนัขพันธุ์เสี่ยงดังกล่าวได้
3. ใช้ยา moxidectin+imidaclopid หยดหลังติดต่อกัน 2 ครั้ง ห่างกัน 4 สัปดาห์ สามารถใช้ได้ในสุนัขพันธุ์เสี่ยงดังกล่าวได้เช่นกัน
4. ใช้วิธีการป้อนยา afoxolaner หรือ afoxolaner plus milbemycin oxime chewable tablets เดือนละ 1 ครั้งต่อเนื่องกัน 2 เดือน
วิธีนี้ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงกว่าวิธีอื่น ๆ เล็กน้อย แต่สามารถใช้ในสุนัขพันธุ์เสี่ยงได้

นอกจากนี้ ให้อาบน้ำ หรือฟอกบริเวณที่เป็นด้วยแชมพูที่มีส่วนผสมของ benzoyl peroxide หรือ chlorhexidine โดยผสมแชมพูรวมกับน้ำ แล้วฟอกที่บริเวณรอยโรคทิ้งไว้ 10 นาทีแล้วล้างออก ทำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เจ้าของอาจต้องโกนขนหรือตัดขนบริเวณรอยโรคให้สั้น เพื่อให้ตัวยาในแชมพูสัมผัสกับรอยโรคได้ดี

ในรายที่มีอาการคัน แนะนำให้ยาลดอาการคัน ซึ่งมีอยู่หลายชนิดด้วยกันเช่น Chlorpheniramine, Hydroxyzine และ Oclacitinib maleate (Apoquel) เป็นต้น โดยให้ตามอาการคัน หรือตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ หลังจากรักษาทางยากินและยาใช้ภายนอก อาการคันจะลดลงใน 1-2 สัปดาห์ วิการจะดีขึ้นใน 2-3 สัปดาห์ โดยระยะการรักษาจนหายดีใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน

โรคขี้เรื้อนเปียก (Canine demodicosis) 

โรคขี้เรื้อน เปียก หรือโรคขี้เรื้อนขุมขน เกิดจากตัวไรขี้เรื้อน Demodex canis, Demodex injai หรือ Demodex cornei เป็นไร 8 ขาที่มีขนาดเล็กมาก รูปร่างยาวรี โดยตามธรรมชาติแล้ว พบได้ทั่วไปในสุนัขทุกตัว และมักไม่ก่อให้เกิดโรคผิวหนังตราบใดที่มันยังมีจำนวนน้อย และสัตว์มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงปกติดี ไรตัวนี้จะอาศัยอยู่ในรูขุมขน บริเวณใบหน้า หัว รอบตา ลำตัว ขา ฝ่าเท้า และอุ้งเท้า คอยอาศัยส่วนของเยื่อบุของ follicle ตรงรูขุมขนเป็นอาหาร ทำให้น้องเกิดอาการขนร่วง มีเม็ดตุ่ม มีตุ่มหนอง ผิวหนังเยิ้มแฉะ มีแผลหลุม มีแผลโพรงทะลุ มีกลิ่นตัว (กลิ่นคาวปลาเค็ม) เกิดรูขุมขนอักเสบ (Folliculitis) ตามมาได้

บางรายอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียหรือยีสต์แทรกซ้อน ทำให้เกิดอาการคันและเกา อาจพบอาการทางระบบ (systemic) ตามมาได้ เช่น เบื่ออาหาร ซึม น้ำหนักลด และมีไข้ หากเป็นเรื้อรังจะพบเป็นสะเก็ดแห้งกรัง (crust) มีหนองหรือเลือดออกทั่วร่างกาย รวมทั้งอาจมีต่อมน้ำเหลืองโตทั่วร่างกาย (Polylymphadenopathy) อีกด้วย

ถ้าจะแบ่งประเภทของโรคไรขี้เรื้อนเปียก เราสามารถแบ่งแยกออกได้อีกเป็น 2 แบบ คือ

1. แบบเฉพาะที่ มักพบรอยวิการเกิดเป็นหย่อม ๆ ที่บริเวณใบหน้า หัว รอบตา แก้ม เหนือคิ้ว ขาหน้า จำนวนของรอยโรคจะไม่เกิน 3-5 ตำแหน่ง โดยสุนัขจะมีขนร่วง ผิวหนังแดง คันและเกา มีแผลอักเสบ เป็นตุ่มแดง ๆ เล็ก ๆ โดยปกติแล้วรอยโรคจะเกิดขึ้นเองและจะหายไปเองได้ภายใน 3-8 สัปดาห์ แต่ทั้งนี้ถ้ามีอาการอักเสบมีตุ่มหนองด้วยต้องรีบพาสุนัขไปหาสัตวแพทย์นะคะ เพราะจะลุกลามเป็นแบบกระจายได้ มักพบในลูกสุนัข อายุ 3-6 เดือน หากเป็นประเภทนี้การพยากรณ์โรคจะดี บางรายอาจหายได้เอง แต่บางรายอาจพัฒนากลายเป็นแบบกระจายทั่วตัวได้

2. แบบกระจายทั่วตัว มักพบรอยวิการที่บริเวณใบหน้า หัว รอบตา ลำตัว ขา ฝ่าเท้า และอุ้งเท้า กระจายเป็นบริเวณกว้าง สามารถพบได้ในสุนัขที่มีอายุระหว่าง 3-18 เดือน และสามารถพบได้ในสุนัขที่โตเต็มที่แล้ว

การวินิจฉัย

สังเกตจากลักษณะผิวหนัง และเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาไรขี้เรื้อน โดยขูดเก็บตัวอย่างจากผิวหนัง ด้วยวิธี deep skin scraping
คือการขูดแบบชั้นลึกมาส่องกล้องจุลทรรศน์ดู วิธีนี้อาจทำให้น้องหมามีเลือดไหลซิบ ๆ ออกมาบ้างนะคะไม่ต้องตกใจ เนื่องจากเจ้าตัวไรขี้เรื้อนดีโมเด็กซ์ (Demodex spp.) นี้ชอบอาศัยอยู่ในรูขุมขน บางครั้งคุณหมออาจจะใช้วิธีการดึงเส้นขนมาตรวจ (Trichogram) ในตำแหน่งที่ขูดตรวจยาก เช่น รอยตา ฝ่าเท้า ง่ามนิ้ว ฯลฯ หรือทำการเก็บชิ้นเนื้อ (Biopsy) มาตรวจในบางเคสค่ะ

การรักษา

การรักษามีหลายวิธีค่ะ ขึ้นอยู่กับงบประมาณของเจ้าของและตัวสัตว์เอง โดยเลือกใช้วิธีการรักษาอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1. ฉีดยา ivermectin ตามพิจารณาของสัตวแพทย์ โดยรักษาต่อเนื่อง 1-2 เดือน จนกว่าจะตรวจไม่เจอ 2 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 1 สัปดาห์ จึงสามารถหยุดการรักษาได้ สำหรับยา ivermectin ให้ระวังในสุนัขพันธุ์เสี่ยงด้วยค่ะ
2. ใช้วิธีการป้อนยา afoxolaner หรือ afoxolaner plus milbemycin oxime chewable tablets เดือนละ 1 ครั้งต่อเนื่องกัน 2 เดือน
วิธีนี้ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงกว่าวิธีอื่น ๆ เล็กน้อย แต่สามารถใช้ในสุนัขพันธุ์เสี่ยงได้
3. ใช้การหยอดหลังด้วยยา moxidectin+imidaclopid ทุก ๆ 4 สัปดาห์ เป็นเวลา 2-4 เดือน
4. ใช้การพ่นหรือทายา amitraz บนตัวน้องหมาทุก ๆ สัปดาห์ โดยแนะนำให้ตัดขนให้สั้นก่อน เพื่อให้ยาสัมผัสกับรอบโรคได้ดียิ่งขึ้น
และควรสวมปลอกคอกันเลีย เพื่อป้องกันน้องหมาเลียรับเอาสารพิษจากยาเข้าสู่ร่างกายทางปากด้วย

นอกจากนี้ ให้อาบน้ำ หรือฟอกบริเวณที่เป็นด้วยแชมพูที่มีส่วนผสมของ benzoyl peroxide หรือ chlorhexidine โดยผสมแชมพูรวมกับน้ำ แล้วฟอกที่บริเวณรอยโรคทิ้งไว้ 10 นาทีแล้วล้างออก ทำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เจ้าของอาจต้องโกนขนหรือตัดขนบริเวณรอยโรคให้สั้น เพื่อให้ตัวยาในแชมพูสัมผัสกับรอยโรคได้ดี

ในรายที่มีอาการคัน แนะนำให้ยาลดอาการคัน ซึ่งมีอยู่หลายชนิดด้วยกันเช่น Chlorpheniramine, Hydroxyzine และ Oclacitinib maleate (Apoquel) เป็นต้น โดยให้ตามอาการคัน หรือตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ หลังจากรักษาทางยากินและยาใช้ภายนอก อาการคันจะลดลงใน 1-2 สัปดาห์ วิการจะดีขึ้นใน 2-3 สัปดาห์ โดยระยะการรักษาจนหายดีใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน

ยาแต่ละตัวที่ได้กล่าวไปนี้ มีผลข้างเคียงและข้อคำนึงในการใช้ไม่เหมือนกัน ควรต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของคุณหมอเท่านั้น ห้ามซื้อมาใช้เองเป็นอันขาด และในการรักษา เราอาจต้องพาน้องหมามาขูดตรวจซ้ำเป็นประจำทุก ๆ เดือน หากขูดตรวจไม่พบตัวไรแล้ว ให้ทำการรักษาต่อไปอีก 4 สัปดาห์ แล้วขูดตรวจซ้ำเป็นครั้งที่สอง หากไม่พบอีกจึงค่อยหยุดการรักษาค่ะ

บทความโดย

สพ.ญ. เณศรา ชมวิวัฒน์
Nessara Chomwiwat, DVM
โรงพยาบาลสัตว์จัสโก้ รัชดา
Jusco Ratchada Animal Hospital

ติดตามข้อมูลจาก บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่