สิวใต้คางแมว และ โคนหางเหนียว ๆ เป็นปัญหาผิวหนังที่พบได้บ่อยในน้องแมว ซึ่งเกิดจากการทำงานมากไปของต่อมไขมัน ทำให้ที่บริเวณนั้นมีคราบมันเยิ้ม หรือมีเศษสีดำเยิ้มออกมา
สิวใต้คางแมว จะทำให้บริเวณคางของแมวมีคราบมันเยิ้ม หรืออาจจะเป็นเศษสีดำเยิ้ม ๆ ซึ่งจะมักจะถูกเรียกว่าสิวใต้คาง (Chin acne) ส่วนบริเวณโคนหางนั้น ก็เกิดจากการทำงานมากไปของต่อมไขมันบริเวณหางเช่นกัน จึงเกิดเป็นคราบเยิ้ม ๆ สีน้ำตาล ไปจนถึงสีดำ มีชื่อเรียกว่า Stud tail (หางสตั๊ด หรือ หางเหนียว)
ในแมวเพศผู้ที่ยังไม่ได้ทำหมัน จะพบปัญหานี้ค่อนข้างมาก เนื่องจากการผลิตสารของต่อมไขมัน มีความสัมพันธ์กับอิทธิพลของฮอร์โมนเทสโทสเตอร์โรนในแมวเพศผู้ แต่ในส่วนของแมวเพศผู้ที่ทำหมันแล้ว และแมวเพศเมียก็สามารถพบ Stud tail ได้เช่นกัน
ข้อดีและข้อเสียของ การทำหมันสุนัขและแมว
มาทำความรู้จักกับต่อมไขมันในผิวหนังของแมว (Sebaceous glands)
ในชั้นผิวหนังของแมว จะมีต่อมอยู่ 2 ชนิด คือ ต่อมไขมัน และ ต่อมเหงื่อ ต่อมไขมันมีความเกี่ยวข้องกับบริเวณรูขุมขน จะผลิตสารคัดหลั่งที่สำคัญ คือ ซีบัม (Sebum) ซึ่งช่วยกันน้ำให้กับเส้นขน และ รักษาความอ่อนนุ่มของผิวหนัง นอกจากบริเวณผิวหนังแล้ว ยังพบต่อมไขมันขนาดใหญ่ ที่บริเวณคาง ริมฝีปาก บริเวณผิวหนังด้านบนของโคนหาง ขอบตา หนังหุ้มอวัยวะเพศ และ ถุงอัณฑะ เป็นต้น
การหลั่งน้ำมันของต่อมไขมันขนาดใหญ่เหล่านี้ มีส่วนสำคัญในการสร้างการสื่อสารทางกลิ่นของแมว โดยแมวจะนำคาง ริมฝีปาก ขมับ โคนหางไปถูกับวัตถุต่าง ๆ โดยเมื่อแมวถูซ้ำไปซ้ำมากับวัตถุนั้นนาน ๆ เราอาจจะเห็นคราบสีน้ำตาลดำบนวัตถุนั้น ๆ เช่น ผนัง โซฟา เป็นต้น หรือ แม้กระทั่งเวลาเรากลับเข้าบ้าน แมวก็จะมาใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเหล่านี้มาถูไถ เพื่อสร้างการจดจำ และ ทำเครื่องหมายของการสื่อสารเช่นกัน
สาเหตุของเกิดการสิวใต้คาง และ โคนหางเหนียวในแมว
การทำงานมากเกินไปของต่อมไขมัน ทำให้เกิดสิว รูขุมขนจะผลิตสารที่เป็นไขมันมากเกินไป รวมถึงการผลิตสารกลุ่มเคราตินมากเกินไปด้วย (เคราตินเป็นโปรตีนหลักในผิวหนัง และ รูขุมขน) ดังนั้น รูขุมขนบริเวณใต้คาง และ โคนหาง จึงถูกอุดด้วยสารไขมันสีดำ ซึ่งก่อตัวเป็นสิวอุดตัน (Comedones) และ มักจะพบการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ซึ่งนำไปสู่การอักเสบของรูขุมขน และ กลายเป็นตุ่มแดง หรือ ตุ่มหนองขึ้น และ ในบางรายที่อาการรุนแรง อาจจะเกิดการบวมแดงติดเชื้อบริเวณผิวหนังรอบ ๆ บริเวณใต้คางร่วมด้วย
การรักษา
การรักษาสิวใต้คาง และ โคนหางเหนียว จะเป็นการขจัดซีบัมส่วนเกิน และ ป้องกันการเกิดสิวอุดตัน (Comedones) และ การติดเชื้อแทรกซ้อน โดยการใช้กลุ่มยาทาภายนอกต้านแบคทีเรีย เช่น Chlorhexidine เช็ด และ ทำความสะอาดบริเวณผิวหนังวันละ 2-3 ครั้ง , ยา Mupirocin ทาต้านแบคทีเรีย
สำหรับในรายที่มีอาการรุนแรง เช่น มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน จนเกิดการอักเสบของรูขุมขน จะให้ยาปฏิชีวนะชนิดกิน ระยะเวลา 2-6 สัปดาห์ รวมถึง การให้ยาลดอักเสบกลุ่มสเตียรอยด์ระยะสั้น ๆ ร่วมกับการรักษา ในแมวที่มีขนยาว จะแนะนำให้มีการไถขนบริเวณใต้คาง และ โคนหางให้สั้น เพื่อง่ายต่อการเช็ดทำความสะอาดในทุก ๆ วันร่วมกันด้วย
บทความโดย
สพ.ญ. ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์
Piyawun Phurahong , DVM
สัตวแพทย์ประจำคลินิกโรคแมว โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ
ติดตามบทความดี ๆ จากพวกเราได้ที่
Facebook : บ้านและสวน Pets