โรคหลอดลมตีบ ในสัตว์เลี้ยง

โรคหลอดลมตีบ (Tracheal Collapse) สามารถพบได้ทั้งในสุนัข และ แมว โดยพบในสุนัขได้มากกว่า เป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากหลอดลม (Trachea) เสื่อมประสิทธิภาพลง

โรคหลอดลมตีบ ในสัตว์เลี้ยง เกิดจากหลอดลมในระบบทางเดินหายใจยุบตัวลง โดยหลอดลมแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ หลอดลมส่วนคอและหลอดลมส่วนอก (ภายในช่องอก) ทั้งสองส่วนประกอบด้วยกระดูกอ่อนรูปตัวซี (C)

โรคหลอดลมตีบเกิดจากความผิดปกติของกระดูกอ่อนโดยตรง หรืออาจเกิดจากปัจจัยรบกวนภายนอก ทำให้เกิดการยุบตัว (เสื่อมสภาพ) ของหลอดลม โดยความรุนแรงมีตั้งแต่เล็กน้อยไปถึงรุนแรง ทำให้สัตว์เลี้ยงเกิดอาการไอเรื้อรัง

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วยคือ การหย่อนของผนังกล้ามเนื้อด้านบน ทำให้หลอดลมแคบลง และขัดขวางการไหลเวียนของอากาศ

การยุบตัวของหลอดลมแบ่งเป็นระดับ 1 ถึง 4 ตามความรุนแรงของการยุบตัว

  1. ท่อหลอดลมแคบลงเล็กน้อย แต่ไม่มีสัญญาณของอาการหายใจลำบาก
  2. ลักษณะหลอดลมตีบลงปานกลาง และอาจมีอาการหายใจลำบาก เช่น ไอแห้ง หรือหายใจถี่
  3. หลอดลมตีบอย่างรุนแรงและมีอาการหายใจลำบากชัดเจน เช่น ไอเสียงดัง หายใจมีเสียงหวีด หายใจถี่
  4. หลอดลมตีบสนิท และสัตว์เลี้ยงไม่สามารถหายใจได้ นี่เป็นเหตุฉุกเฉินที่อาจถึงแก่ชีวิตได้
โรคหลอดลมตีบ, ในสัตว์เลี้ยง, โรคในสุนัข, โรคระบบทางเดินหายใจ, โรคประจำสายพันธุ์, โรคสุนัข
ภาพถ่าย Susana Segovia Barbero

โรคหลอดลมตีบเป็นโรคที่พบได้บ่อยในสุนัข โดยมีความชุกของโรคประมาณร้อยละ 1-5 อายุของสุนัขที่เริ่มมีอาการของโรคเป็นในสุนัขพันธุ์เล็กวัยกลางสุนัขถึงสุนัขวัยชรา

พันธุ์พบบ่อยในสุนัขพันธุ์เล็ก เช่น ยอร์คเชียร์เทอร์เรียร์ (Yorkshire Terrier) ปอมเมอเรเนียน (Pomeranian) ชิวาวา (Chihuahua) พุดเดิ้ลทอย (Poodle Toy) บิชองฟรีส (Bichon Frise) บอสตันเทอร์เรียร์ (Boston Terrier) ไชนีสเครสเตด (Chinese Crested) อิตาเลียนเกรย์ฮาวด์ (Italian Greyhound) ลาซา แอปซอส (Lhasa Apso) มินิเจอร์พินเชอร์ (Miniature Pincher) ปั๊ก (Pug) ชิสุ (Shih Tzu) มอลทีส (Maltese) และปักกิ่ง (Pekingese)

โดยสาเหตุของการเกิดโรคนั้นไม่แน่ชัด แต่คาดว่าเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่น ความอ้วน รวมไปถึงการสูดดมสารระคายเคือง

การวินิจฉัยโรคหลอดลมตีบ

  • การตรวจร่างกาย: สุนัขมีอาการหายใจลำบากและอาการอื่น เช่น ไอ สำลัก หรือหอบ ไอแห้ง อาการไอในโรคนี้ มักถูกอธิบายว่าเป็น ” goose honking หรือเสียงห่านร้อง” หรือ “seal barking หรือเสียงเห่าของแมวน้ำ” นอกจากนี้อาจคลำพบการยุบตัวของหลอดลม สุนัขบางตัวจะมีลิ้นหรือเยื่อเมือกสีม่วงในกรณีที่หายใจได้ไม่ดี
  • การถ่ายภาพรังสีทรวงอก: ทำให้สัตวแพทย์ให้เห็นภาพหลอดลมยุบตัวได้ แต่ต้องถ่ายได้พอดีในขณะที่สัตว์ป่วยหายใจเข้า
  • การถ่ายภาพรังสีภาพเคลื่อนไหว (Fluoroscopy): ทำให้สัตวแพทย์ได้เห็นภาพหลอดลมยุบตัวได้ในลักษณะของกายหายใจแบบ real time
  • การส่องกล้องหลอดลม (Tracheal endoscopy): เป็นการสอดท่อพร้อมกล้องเข้าไปในหลอดลมเพื่อดูส่วนที่มีการยุบตัวของหลอดลม
  • ซีทีสแกน (CT scan): เพื่อดูภาพหลอดลมยุบตัวและช่วยวินิจฉัยโรคหรือภาวะที่เกิดร่วมต่างๆได้ดี
โรคหลอดลมตีบ, ในสัตว์เลี้ยง, โรคในสุนัข, โรคระบบทางเดินหายใจ, โรคประจำสายพันธุ์, โรคสุนัข
Anya Prygunova

การรักษาโรคหลอดลมตีบ

การรักษาด้วยยา: มียาหลายชนิดที่สามารถช่วยบรรเทาอาการได้ เช่น ยาขยายหลอดลม สเตียรอยด์ และยาต้านการอักเสบ เป็นต้น ยาเหล่านี้สามารถช่วยลดการอักเสบ และลดการหดเกร็งของทางเดินหายใจขนาดเล็กทำให้สุนัขของหายใจได้ง่ายขึ้น ยาจะออกฤทธิ์เฉพาะบริเวณท่อทางเดินหายใจขนาดเล็ก ไม่ใช่ในท่อทางเดินหายใจขนาดใหญ่ อย่างหลอดลม

การรักษาทางยามักจะใช้กับโรคหลอดลมตีบที่ไม่รุนแรง สุนัขบางตัวที่มีอาการรุนแรงต้องได้รับออกซิเจน และ/หรือ ยาซึมร่วมด้วย เพื่อให้สุนัขได้พักผ่อน

การผ่าตัด: ใช้ในกรณีที่สัตว์ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาทางยา การผ่าตัดแบ่งเป็น 2 แบบ คือ

1. เทคนิค Extraluminal ring เป็นการวางวงแหวนเทียมรอบด้านนอกของส่วนหลอดลมที่ยุบตัว ในขั้นตอนนี้ จะมีวงแหวนหลายวงวางอยู่รอบๆ ด้านนอกของหลอดลมเพื่อช่วยเปิดไว้ วงแหวนทำจากวัสดุหลายชนิด รวมทั้งโพลีโพรพีลีน ซิลิโคน และโลหะ

สัตวแพทย์จะทำการผ่าที่คอของสุนัขแล้วใส่วงแหวนรอบหลอดลม จากนั้นจึงเย็บวงแหวนเข้าที่ ขั้นตอนนี้ใช้เพื่อรักษาการยุบตัวของหลอดลมนอกทรวงอก แต่กรณีการยุบตัวของหลอดลมส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากภายในช่องอกด้านหน้าหัวใจ

  • อัตราความสำเร็จในการติดวงแหวนภายนอกในสุนัขมีตั้งแต่ร้อยละ 60 ถึงร้อยละ 90 ขึ้นอยู่กับการศึกษาและประเภทของวงแหวนที่ใช้ การเลือกสัตว์ป่วยที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี
  • ภาวะแทรกซ้อนและการเสียชีวิต ร้อยละ 8 ของสุนัขไม่รอดชีวิตจากโรงพยาบาลสัตว์ ในขณะที่ไม่มีสุนัขตัวใดเสียชีวิตจากขั้นตอนการใส่ขดลวดถ่างหลอดลมจากภายใน (intraluminal stent) สุนัข 14 ตัว (ร้อยละ 65) ไม่ต้องทำการรักษาทางยาหลังการผ่าตัด สุนัข 4 ตัว (ร้อยละ 17) ได้รับการวินิจฉัยว่ากล่องเสียงเป็นอัมพาตหลังการผ่าตัด แต่มีเพียงร้อยละ 9 เท่านั้นที่ได้รับการวินิจฉัยภายใน 48 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด
  • การศึกษาอื่นรายงานว่ามีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นมากถึงร้อยละ 42 ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้แก่ การอุดกั้นทางเดินหายใจ การติดเชื้อ แหวนล้มเหลวและการเคลื่อนตัว การก่อตัวของเนื้อเยื่อแผลเป็น และภาวะแทรกซ้อนจากยาสลบ
โรคหลอดลมตีบ, ในสัตว์เลี้ยง, โรคในสุนัข, โรคระบบทางเดินหายใจ, โรคประจำสายพันธุ์, โรคสุนัข
ภาพถ่าย Arseny Togulev

2. การใส่ขดลวดถ่างหลอดลมจากภายใน (intraluminal stent) เป็นวิธีการรักษาที่สัตวแพทย์เลือกใช้บ่อยที่สุด เพราะสามารถใช้ได้กับหลอดลมภายในช่องอก ใช้เวลาในการทำไม่นาน โดยมีการใส่ขดลวดไนตินอล (นิกเกิล-ไททาเนียม) เพื่อถ่างท่อทางเดินหายใจและป้องกันไม่ให้ยุบตัว

  • การใส่ขดลวดถ่างหลอดลมจากภายในทำภายใต้การดมยาสลบ หลอดลมสามารถมองเห็นได้โดยใช้กล้องส่องและ/หรือถ่ายภาพรังสีเคลื่อนไหว จากนั้นใส่ขดลวดเข้าไปในหลอดลมและขยายให้พอดีกับเส้นผ่านศูนย์กลางของหลอดลม การใส่ขดลวดจะยึดเข้าที่โดยแรงดันของผนังหลอดลมกับขดลวด
  • อัตราความสำเร็จในการใส่ขดลวดขดลวดถ่างหลอดลมในสุนัขมีตั้งแต่ร้อยละ 50 ถึงร้อยละ 90 ขึ้นอยู่กับการศึกษา สุนัขที่เหมาะจะใส่ขดลวดคือสุนัขที่มีภาวะโรคหลอดลมตีบเล็กน้อยถึงปานกลางซึ่งไม่มีอาการหายใจลำบากรุนแรงหรือมีอาการป่วยอื่นๆ ร่วมด้วย
  • จากการศึกษาพบว่า ร้อยละ 88.9 ของเจ้าของสุนัขรายงานว่า ผลการผ่าตัดอยู่ในระดับดีปานกลางถึงดีเยี่ยมในเวลาเฉลี่ย 270 วันหลังผ่าตัด อย่างไรก็ตาม มีรายงานอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 11.1 ภายใน 60 วันหลังจากใส่ขดลวด
  • การศึกษาอื่นพบว่าร้อยละ 75-90 ของลูกค้าพอใจกับผลลัพธ์ของการใส่ขดลวด และสุนัขส่วนใหญ่แสดงอาการทางคลินิกที่ดีขึ้น สัตว์ป่วยที่มีเสียงหายใจแหบแห้งจะตอบสนองต่อการใส่ขดลวดถ่างหลอดลมได้ดีที่สุด ในขณะที่ผลลัพธ์ของสุนัขที่มีอาการไอเป็นอาการหลักนั้นยากต่อการคาดเดา หลังการใส่ขดลวดแล้วสุนัขมีแนวโน้มที่จะมีอาการไอลดลง แต่จะมีอาการไออย่างต่อเนื่องโดยสัตวแพทย์จะให้ยาแก้ไอเพื่อควบคุมอาการ
  • งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าระยะเวลารอดชีวิตเฉลี่ย (median survival time) ในสุนัขที่รักษาภาวะโรคหลอดลมตีบโดยใช้ขดลวดถ่างหลอดลมหรือวงแหวนขยายหลอดลมโดยมีหลอดลมหลักตีบร่วมด้วยนั้นสั้นกว่าสุนัขที่ได้รับการรักษาภาวะโรคหลอดลมตีบแต่ไม่มีหลอดลมหลักตีบร่วมด้วย (325 วัน เทียบกับ 1,600 วัน)

ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยโดยมีอัตราภาวะแทรกซ้อนตั้งแต่ร้อยละ 33.3-66.7 ขึ้นอยู่กับการศึกษา มีรายงานร้อยละของภาวะแทรกซ้อนต่อไปนี้ในการศึกษาบางส่วน:

  • การเคลื่อนของขดลวดหรือผิดตำแหน่ง: ร้อลยะ 5 ถึง 20
  • การใส่ขดลวดแตกหักหรือยุบ: ร้อยละ 5 ถึง 20
  • ความเสียหายต่อเยื่อเมือกในหลอดลม: ร้อยละ 5 ถึง 20
  • การตีบหรือการตีบตัน: ร้อยละ 5 ถึง 10
  • การติดเชื้อ: ร้อยละ 5 ถึง 10
  • เลือดออก: น้อยกว่าร้อยละ 5
ในสัตว์เลี้ยง, โรคในสุนัข, โรคระบบทางเดินหายใจ, โรคประจำสายพันธุ์, โรคสุนัข
ภาพถ่าย Jairo Alzate

การลดน้ำหนักและการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต

การมีโรคทางเดินหายใจตีบแคบร่วมกับการมีเนื้อในคอที่มากจากความอ้วน ทำให้การลดน้ำหนักเป็นสิ่งสำคัญมากในสุนัขที่มีโรคนี้ การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตหลายอย่างสามารถทำได้เพื่อช่วยสุนัข เช่น การหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนัก ให้สุนัขอยู่ในบริเวณที่อากาศเย็นสบาย และใช้สายรัดตัวแทนปลอกคอ การลดน้ำหนักและการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตต้องทำร่วมกับการรักษาด้วยวิธีอื่น

ขั้นตอนการดูแลและติดตามผลหลังการผ่าตัด

การเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน: หลังจากทำหัตถการแล้ว สัตวแพทย์มักจะให้สุนัขพักสังเกตอาการที่โรงพยาบาลอย่างน้อย 1-2 คืน และเมื่ออกจากโรงพยาบาลแล้ว ให้เจ้าของดูแลสุนัขของคุณอย่างใกล้ชิดเพื่อหาภาวะแทรกซ้อน เช่น ไอรุนแรง หายใจลำบากมากขึ้น มีไข้ หรือมีเลือดออกมาก ติดต่อสัตวแพทย์ทันทีหากคุณสังเกตเห็นอาการผิดปกติเหล่านี้

ให้ยาตามที่สัตวแพทย์สั่ง: ยาที่สัตวแพทย์มักจะจ่ายใช้ได้แก่ ยาปฏิชีวนะ ยาต้านการอักเสบ หรือยาขยายหลอดลม ยาแก้ไอ เป็นต้น ไม่ว่าจะทำการรักษาด้วยวิธีไหน สุนัขอาจจะไอต่อไปตลอดชีวิตดังนั้นสุนัขบางตัวจะได้ต้องกินยาตลอดชีวิต

จำกัดกิจกรรม: สุนัขจะต้องพักผ่อนและจำกัดกิจกรรมเพื่อป้องกันความเสียหายต่อขดลวดและหลอดลม จำกัดการกระโดด วิ่ง และกิจกรรมที่ออกแรงเยอะเป็นเวลาอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์

การนัดหมายติดตามผล: สัตวแพทย์จะทำการถ่ายภาพรังสีเป็นระยะๆ ร่วมกับการส่องกล้องหลอดลมเพื่อให้แน่ใจว่าขดลวดหรือวงแหวนที่ใส่ไปยังอยู่ในตำแหน่งถูกต้อง ไม่มีการอุดตันใด ๆ

เรียบเรียงโดย

อ.น.สพ. วรรณสิทธิ์ จันทรวงศ์ (อว. สพ. ศัลยศาสตร์)
Wannasit Chantornvong, DVM, MS, BVSc, DTBVS
โรงพยาบาลสัตว์ปาริชาต สุวินทวงศ์
Parichart Suwinthawong Animal Hospital

น.สพ. วิจิตร สุทธิประภา (อว. สพ. ศัลยศาสตร์)
Wijit Sutthiprapa, DVM, MS, DTBVS
หน่วยศัลยกรรม โรงพยาบาลสัตว์โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
Surgery Unit, Kasetsart Veterinary Teaching Hospital, Bangkhen


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : โรคสะบ้าเคลื่อนในสุนัข