ตำแยแมว ต่างจาก กัญชาแมว อย่างไร

ตำแยแมว และกัญชาแมว พืชที่มีผลออกฤทธิ์ต่อแมว ทำให้แมวเคลิบเคลิ้ม มีความสุข และพบว่ายังช่วยลดความเครียดของแมวได้ด้วย

ตำแยแมว, กัญชาแมว

ตำแยแมว VS. กัญชาแมว

ตำแยแมว (Acalypha indica L. ) เป็นพืชที่พบได้ในเขตร้อน และร้อนชื้น โดยพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ตามพื้นที่รกร้างว่างเปล่า สองข้างทาง บริเวณแปลงเกษตร และตามสวนหย่อมต่าง ๆ

ต้นตำแยแมวเป็นพืชล้มลุก สูงไม่เกิน 1 เมตร เป็นต้นไม้ที่มีสองเพศในต้นเดียว แยกดอกตัวผู้และตัวเมีย ลักษณะใบมีขนนุ่มตามแผ่นใบด้านหลัง ขอบใบหยัก ช่อดอกเป็นช่อกระจุกสั้น ๆ ออกตามซอกใบ 1 – 2 ช่อ ยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ไม่มีกลีบดอก

ดอกตัวผู้อยู่ช่วงบนของช่อดอก เป็นกระจุกประมาณ 6 – 10 ดอก ก้านดอกสั้น มีเกสรตัวผู้ 7 – 9 อัน ส่วนดอกตัวเมียออกเป็นกระจุก 1 – 4 ดอก มีเกสรตัวเมีย 3 อัน ยอดเกสรแฉกลึกเป็นรูปเส้นด้าย ผลแห้งแตก จัก 3 พู รูปกลม ๆ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 มม. มีขนสั้นนุ่มและขนต่อม แต่ละซีกมีเมล็ดเดียว

ตำแยแมว, กัญชาแมว

สรรพคุณการออกฤทธิ์ในแมว

การศึกษาบางฉบับรายงานว่า ต้นตำแยแมวทั้งต้นเป็นยาถอนพิษในแมว โดยเฉพาะในแมวที่กำลังเป็นไข้ ต้นตำแยแมวจะช่วยลดอาการไข้ของแมวแมวได้ ในขณะเดียวกัน ถ้าแมวเผลอกินสารเคมีที่มีพิษเข้าไป ต้นตำแยแมวก็ช่วยให้แมวอาเจียน หรือสำรอกพิษ ออกมาได้

ต้นตำแยแมวโดยเฉพาะในส่วนรากและลำต้น มีสารเคมีที่ช่วยดึงดูดแมว เรียกว่า Nepetalactone ทำให้แมวรู้สึกหลงใหลและเคลิบเคลิ้ม อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจที่ผ่านมา พบว่า แมวบางตัวไม่ได้รู้สึกเคลิบเคลิ้มกับต้นตำแยแมว โดยบางตัวเพียงเดินเข้ามาดมสังเกต และไม่แสดงความสนใจอีกต่อไป

ตำแยแมว, กัญชาแมว

กัญชาแมว หรือแคทนิป (Nepeta cataria) เป็นพืชตระกูลมิ้นท์ ที่สามารถพบได้ในบางพื้นที่ของทวีปเอเชีย และยุโรป ก่อนจะกระจายไปแทบทุกมุมโลกในปัจจุบัน บางพื้นที่อาจพบเห็นต้นกัญชาแมวขึ้นอยู่ตามถนนในชนบท และเป็นพืชที่ปลูกไว้ในสวน

กัญชาแมวเป็นพืชล้มลุก สูงประมาณ 50–100 เซนติเมตร ช่อดอกเริ่มบานตั้งแต่ปลายฤดูใบไม้ผลิถึงฤดูใบไม้ร่วง ดอกขนาดเล็กมีกลิ่นหอม มีสีชมพู หรือสีขาวและมีจุดสีม่วงอ่อน ลักษณะใบสีน้ำตาลสีเขียวรูปสามเหลี่ยมถึงรูปไข่มีความยาวได้ถึง 3 นิ้ว มีฟันหยาบตามขอบ และมีก้านรูปสี่เหลี่ยมที่มีลักษณะเฉพาะของตระกูลพืชตระกูลมินต์ ผิวใบทั้งด้านบนและด้านล่างมีขนสั้นละเอียด

สรรพคุณการออกฤทธิ์ในแมว

บริเวณใบและก้านของต้นกัญชาแมวจะมีสารชื่อว่า Nepetalactone เช่นเดียวกับตำแยแมว ทำให้แมวรู้สึกเคลิบเคลิ้ม มีความสุข บางทีก็ตื่นเต้นจนแสดงท่าทางแปลก ๆ จึงไม่แปลกที่เรากัญชาแมวไม่ได้มีผลแค่เฉพาะในแมวบ้านเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อสัตว์ตระกูลแมวชนิดอื่น ๆ ด้วย เช่น เสือ สิงโต และแมวป่า เป็นต้น

เมื่อบดขยี้ลำต้น หรือใบของกัญชาแมว สารออกฤทธิ์จะถูกปลดปล่อยออกมา และจับกับประสาทรับกลิ่นของแมว มีผลต่อการทำงานองระบบประสาท กระตุ้นให้เกิดความเคลิบเคลิ้ม โดยจะออกฤทธิ์ประมาณ 5-15 นาที (หรืออาจนานกว่านี้ ขึ้นอยู่กับร่างกายของน้องแมวแต่ละตัว) อย่างไรก็ตาม พบว่ากัญชาแมวไม่ได้ส่งผลต่อแมวทุกตัว โดย 1 ใน 3 ของน้องแมวอาจไม่ตอบสนองต่อกัญชาแมวเลยก็ได้

ข้อควรระวังในการใช้ตำแยแมว และกัญชาแมว

สัตวแพทย์แนะนำว่า เจ้าของควรใช้ตำแยแมว และกัญชาแมว ประมาณ 2 – 3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยควรจัดให้แมวสัมผัสกับตำแยแมว และกัญชาแมว ในพื้นที่ที่ปลอดภัย เป็นการป้องกันอันตราย หากแมวเกิดพฤติกรรมที่ควบคุมไม่ได้จากสารออกฤทธิ์

จากการศึกษาวิจัยที่ผ่านมา การใช้ตำแยแมว และกัญชาแมว ไม่มีผลทำให้แมวเสพติด เนื่องจาก เป็นการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และสารสื่อประสาทชั่วคราว เท่านั้น ในทางกลับกัน พืชทั้งสองชนิดนี้ช่วยลดความเครียดของแมว และสร้างความพึงพอใจให้กับแมว

ข้อมูลอ้างอิง

DisThai – ตำแยแมว ประโยชน์ดีๆ สรรพรคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล – กัญชาแมวคืออะไร ปลอดภัยกับแมวจริงหรือ


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : สารพัดต้นไม้ที่เหล่าทาสแมวควรมีไว้ติดบ้าน