พาสุนัขออกไปเดินเล่นอย่างไร ให้มีความสุข

การเดินเล่นกับสุนัข เป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่ช่วยให้ทั้งเจ้าของและสุนัขได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพ

การเดินเล่นกับสุนัข ถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญกิจกรรมหนึ่งที่จะช่วยให้สุนัขได้ออกกำลังกาย และเป็นการกระตุ้นโสตประสาทต่าง ๆ ของสุนัข

อย่างไรก็ตาม การพาสุนัขไปเดินเล่นไม่ใช่แค่การพาสุนัขออกจากบ้านไปเดินเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีสิ่งต่าง ๆ ที่เราจำเป็นจะต้องคำนึงถึงในระหว่างการเดิน เพื่อให้สุนัขของเรารู้สึกสนุก และได้ประโยชน์จากการเดินเล่นมากที่สุด

การเดินเล่นกับสุนัข, พาหมาไปเดินเล่น, พาหมาไปเดินออกกำลังกาย,

เทคนิคการเดินกับสุนัขด้วยสายจูง

การเดินเล่นกับสุนัขด้วยสายจูงที่เหมาะสมสำหรับสุนัขนั้น เป็นการเดินที่เราเรียกว่า Loose leash walking หรือ เดินโดยใช้สายจูงหย่อน กล่าวคือ เราควรจะใช้สายจูงที่มีความยาวพอประมาณ

โดยมีหลักการง่าย ๆ ว่า เมื่อติดสายจูงบนตัวสุนัขแล้ว ตัวสายจูงจะโค้งลงสู่พื้น และวกกลับขึ้นมาหาปลายอีกข้างหนึ่งที่เราถืออยู่ คล้ายกับรูปตัว J โดยที่ส่วนที่โค้งลงสู่พื้นไม่ควรยาวจนติดพื้น

โดยทั่วไปแล้ว ไม่มีความจำเป็นเลยที่เราจะต้องจับสายจูงให้สั้น ๆ หรือบังคับให้สุนัขต้องเดินตัวชิดกับเจ้าของตลอดเวลา (ยกเว้นแต่ในกรณีที่เดินผ่านพื้นที่แคบ ๆ หรือพื้นที่ที่จำกัดที่มีความอันตราย)

สุนัขไม่จำเป็นจะต้องเดินหน้าเชิด ตัวชิดติดเราตลอด แต่เราควรจะให้ทางเลือกในการเดินแก่สุนัข ผ่านความยาวของสายจูงที่เรากำหนด ให้สุนัขสามารถเลือกที่จะเดินในตำแหน่งที่ต้องการ สามารถที่จะหยุดดม หยุดพัก หรือเลือกทิศทางที่ต้องการได้ (หากทิศทางที่สุนัขเลือกเดินไปไม่เป็นอันตรายต่อตัวสุนัข หรือเจ้าของ)

การเดินเล่นกับสุนัข, พาหมาไปเดินเล่น, พาหมาไปเดินออกกำลังกาย,

อย่าลืมว่าการพาสุนัขออกมาเดินนอกบ้านนั้น เราต้องการให้เกิดประโยชน์กับตัวสุนัข และเป็นการเดินเพื่อสุนัขของเรา สุนัขจึงควรจะต้องมีอิสระในการเลือกว่า จะเดินตรงไหนก็ได้ ดังนั้น ในบริเวณที่มีความปลอดภัย เจ้าของสามารถปล่อยสายจูงให้ยาวมากขึ้น เพื่อเพิ่มอิสรภาพและทางเลือกให้กับสุนัขในการเลือกที่จะเดิน และดมสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ตามที่ต้องการ

แต่เมื่อเดินเข้าสู่บริเวณที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายหากปล่อยสายจูงยาว เราสามารถจับสายจูงให้สั้นลง เพื่อลดทางเลือกในการเลือกของสุนัขลง ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของตัวสุนัขเอง

เทคนิคการฝึกให้สุนัขไม่ลากสายจูงจนตึง

สิ่งสำคัญสำหรับการเดินกับสุนัขด้วยสายจูงคือ สุนัขไม่ควรดึงสายจูงเพื่อลากเราไปในทิศทางหรือบริเวณที่ต้องการ หากสุนัขของเรามีพฤติกรรมดังกล่าว เราควรสอนให้สุนัขรู้ว่า การดึงสายจูง ไม่ได้เป็นวิธีการที่จะทำให้พวกเขาได้ไปในที่ที่อยากไป แต่ในทางตรงกันข้าม การเดินไปกับเราโดยสายจูงไม่ตึงต่างหาก ที่จะทำให้พวกเขาเดินไปยังบริเวณที่ต้องการได้

การเดินเล่นกับสุนัข, พาหมาไปเดินเล่น, พาหมาไปเดินออกกำลังกาย,

ในทางปฏิบัติ เจ้าของสามารถฝึกได้โดย “หยุดเดินเมื่อสุนัขดึงสายจูงจนตึง” เราไม่จำเป็นต้องกระตุกสายจูงกลับแต่อย่างใด แค่ยืนนิ่ง ๆ ไม่ให้สุนัขลากเราไปได้ และเมื่อใดก็ตามที่สุนัขหยุดดึงสายจูง หรือหยุดความสนในที่จะไปในทิศทางดังกล่าว เจ้าของจึงค่อยเดินไปในทิศทางดังกล่าว หากสุนัขดึงสายจูงอีก ก็หยุดอีก ทำซ้ำ ๆ เพื่อให้สุนัขเรียนรู้ว่า การดึงสายจูงเพื่อลากเจ้าของไปนั้น เป็นวิธีการที่ไม่ได้ผล แต่การที่ไม่ดึงสายจูงและเดินไปกับเจ้าของโดยที่สายจูงไม่ตึง จะเป็นวิธีที่ทำให้สุนัขได้ไปในทิศทางที่ต้องการ

การป้องกันอันตรายระหว่าง การเดินเล่นกับสุนัข

นอกจากนี้ ในหลาย ๆ ครั้งที่สุนัข เข้าไปสนใจสิ่งของหรือวัตถุที่อาจก็ให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของตัวสัตว์เอง เช่น เข้าไปดมอุจจาระของสุนัขตัวอื่น เข้าไปดมกองขยะ หรือพยายามเข้าหาสิ่งที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแต่ตัวสัตว์เองได้

เจ้าของสามารถป้องกันสถานการณ์ดังกล่าวได้ โดยในระหว่างการเดินกับสุนัข เจ้าของควรคอยหมั่นสังเกตสิ่งของ หรือวัตถุที่อยู่ในเส้นทางที่เรากำลังจะมุ่งหน้าไป เราควรจะต้องเป็นเหมือน Navigator หรือผู้นำทางให้กับสุนัข

หากเห็นว่าข้างหน้ามีกองขยะกองใหญ่อยู่ข้างถนน เราไม่ควรพาสุนัขเดินเข้าไปใกล้บริเวณดังกล่าวตั้งแต่แรก แต่ให้เปลี่ยนไปใช้เส้นทางอื่น หรือเบี่ยงออกไปเดินในบริเวณที่ห่างจากตัวกระตุ้นดังกล่าวให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การกระทำดังกล่าวจะเป็นการช่วยลดอันตรายต่อสุขภาพร่างกายของสุนัขในระหว่างการพาออกไปเดินเล่นได้

กล่าวโดยสรุปคือ การเดินเล่นกับสุนัข เจ้าของควรจะใช้สายจูงหย่อนพอเหมาะ และเปิดโอกาสให้สุนัขได้เลือกเส้นทาง หรือทิศทางที่จะเดิน ให้พวกเขาเลือกหยุดดม หรือเดินต่อได้ ขอเพียงว่าสิ่งที่สุนัขเลือกนั้น จะต้องไม่ทำให้พวกเขาเกิดอันตราย

หากสุนัขเลือกสิ่งที่ไม่เหมาะสม เจ้าของไม่ควรลงโทษสุนัข ไม่ว่าจะด้วยการกระตุกสายจูง การดุด่าว่าตี หรือด้วยวิธีใดก็ตาม แต่ควรใช้การสร้างแรงจูงใจให้น้องหมาเลือกทำในสิ่งที่เราต้องการแทน โดยให้ขนม หรือรางวัลอื่น ๆ หากผู้เลี้ยงมีปัญหาเรื่องการดึงสายจูงของสุนัข ควรปรึกษาสัตวแพทย์ด้านพฤติกรรมสัตว์ หรือครูฝึกที่ใช้วิธีการฝึกเชิงบวก เพื่อขอคำแนะนำในการแก้ไขปัญหาต่อไป

บทความโดย

อ.ดร.น.สพ.ปรารมภ์ ศรีภวัศราคม

Prarom Sriphavatsarakom, DVM (Hons), MScStud, PhD

Faculty of Veterinary Science Mahidol University

  • Animal Behaviour Clinic, Pasu-arthorn Animal Hospital, Mahidol University

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – 5 ขั้นตอนง่ายๆ กับ การฝึกใช้สายจูงให้น้องหมา