การเลือกใช้ “สายจูง” และ “ปลอกคอสุนัข”

เมื่อเราต้องการพาสุนัขออกจากบ้านไปในที่สาธารณะ หนึ่งในอุปกรณ์ที่จำเป็น และมีความสำคัญเป็นอย่างมากคือ “สายจูง” และ “ปลอกคอสุนัข”

ในปัจจุบัน สายจูง และ ปลอกคอสุนัข มีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นปลอกคอแบบปกติที่เราสามรถนำสายจูงมาเกี่ยวได้ ปลอกคอและสายจูงแบบ choke chain แบบ slip leash ปลอกคอไฟฟ้า ปลอกคอที่มีแท่งโลหะทิ่มเข้าบริเวณคอของสุนัข หรือสายรัดอก เป็นต้น

ปลอกคอและสายจูงแต่ละชนิดต่างก็มีข้อดี และข้อควรระวังเรื่องการใช้งาน ที่แตกต่างกันไป โดยเจ้าของควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการทำงาน และเลือกชนิดของอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับสุนัขของเรา

วันนี้เรามาทำความรู้จักสายจูงและปลอกคอสุนัขแต่ละชนิด ไปพร้อมกันนะครับ

ปลอกคอสุนัข, สายจูงสุนัข, สายรัดอก

ปลอกคอสุนัข แบบปกติ

ปลอกคอแบบปกติ ที่สามารถนำสายจูงมาเกี่ยวได้ เป็นปลอกคอที่สามารถใช้ได้ในสุนัขทั่วไป แต่อาจไม่เหมาะสำหรับสุนัขที่มีพฤติกรรมการดึงสายจูงมาก ๆ

เนื่องจาก เมื่อสุนัขพยายามดึงสายจูงปลอกคอ จะเกิดแรงรั้งที่บริเวณลำคอของสุนัข ซึ่งบริเวณดังกล่าว เป็นบริเวณที่ประกอบไปด้วยหลอดอาหาร หลอดลม เส้นเลือด และเส้นประสาท การดึงสายจูงของสุนัขที่ใช้ปลอกคอในลักษณะดังกล่าว จึงอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อโครงสร้างของร่างกาย ที่อยู่บริเวณลำคอได้

นอกจากนี้ ยังมีรายงานด้วยว่า แรงกดที่เกิดขึ้นบริเวณลำคอจากการดึงสายจูงของสุนัขที่ใส่ปลอกคอธรรมดา ส่งผลให้ความดันภายในลูกตา (Intraocular pressure) เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับการใส่สายรัดอก ซึ่งแรงดันภายในลูกตาที่สูงขึ้น สามารถส่งผลเสียต่อดวงตาของสุนัขได้ โดยเฉพาะในกลุ่มสุนัขที่มีปัญหาเกี่ยวกับดวงตาอยู่แล้ว อย่างสุนัขที่มีภาวะต้อหิน

ดังนั้น ในการใช้ปลอกคอปกติร่วมกับสายจูง เจ้าของควรระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในกรณีที่สุนัขมีพฤติกรรมการดึงสายจูงรุนแรง หรืออาจพิจารณาเปลี่ยนไปใช้สายจูงชนิดอื่น ที่มีความเหมาะสมกับสุนัขในกลุ่มที่แสดงพฤติกรรมการดึงสายจูงมาก ๆ

ปลอกคอสุนัข, สายจูงสุนัข, สายรัดอก

choke chain และ slip leash

choke chain และ slip leash มีหลักการทำงานในลักษณะเดียวกัน กล่าวคือ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกสุนัขแบบ aversive-based training method ซึ่งเป็นแนวทางการเรียนรู้ที่จะส่งผลในเชิงลบต่อคุณภาพชีวิตและสวัสดิภาพของสุนัข

ไม่เพียงเท่านั้น การใช้อุปกรณ์ดังกล่าวยังทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายสุนัขได้ ยกตัวอย่างเช่น เกิดการบาดเจ็บของสมอง นอกจากนี้ มีการศึกษาวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า การฝึกสุนัขด้วยอุปกรณ์หรือวิธีการลงโทษ จะมีประสิทธิภาพการฝึกด้อยกว่าการฝึกที่ใช้การให้รางวัล

ในขณะเดียวกัน สุนัขที่ถูกฝึกด้วยแนวทางการลงโทษ จะมีการแสดงพฤติกรรมที่สะท้อนถึงความเครียดสูงกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับสุนัขที่ได้รับการฝึกด้วยการได้รับรางวัล

การใช้ปลอกคอจำพวกปลอกคอหนาม (prong collar) หรือปลอกคอไฟฟ้า ก็มีรายงานว่า สามารถส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของสุนัข และให้ประสิทธิภาพของการฝึกด้อยกว่าการฝึกด้วยการสร้างแรงจูงใจเช่นกัน

ดังนั้นเราจึงควรหลีกเลี่ยงปลอกคอ หรือสายจูง ที่ทำงานโดยอาศัยหลักการของการลงโทษ และเลือกใช้สายจูงและปลอกคอที่ไม่ส่งผลเชิงลบต่อทั้งร่างกาย และจิตใจของสุนัข

ปลอกคอสุนัข, สายจูงสุนัข, สายรัดอก

สายรัดอก สำหรับสุนัข

หากเราศึกษาผลการวิจัยต่าง ๆ จะพบว่า สายรัดอก เป็นอุปกรณ์ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและใจของสุนัข “น้อยที่สุด” โดยมีวิจัยที่พบว่า สุนัขที่ใส่สายรัดอกจะดึงสายจูงมากกว่าสุนัขที่ใส่ปลอกคอ โดยเหตุผลหลักมาจากเรื่องของความความสบายตัวของสุนัขที่สวมสายรัดอก แล้วเกิดแรงดึง

ในทางกลับกัน ถ้าเป็นปลอกคอ หรืออุปกรณ์ที่สามารถส่งแรงกดไปที่บริเวณลำคอ สุนัขจะรู้สึกไม่สบายตัวมากกว่า จึงทำให้สุนัขเลี่ยงที่จะไม่ดึงสายจูง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทำให้ผู้เลี้ยง และครูฝึกส่วนหนึ่ง เลือกที่จะใช้ปลอกคอ หรือ choke chain หรือ slip leash มากกว่าสายรัดอก เนื่องจากไม่ต้องการให้สุนัขดึงสายจูง

อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้อุปกรณ์ดังกล่าว ถึงแม้จะสามารถหยุดการดึงสายจูงของสุนัขได้ แต่ไม่ได้เป็นการแก้พฤติกรรมการดึงสายจูงที่ต้นเหตุแต่อย่างใด หากเราพิจารณาถึงสาเหตุของการดึงสายจูง จะพบว่า แรงจูงใจที่ทำให้สุนัขดึงสายจูงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ มีสิ่งเร้าที่ทำให้สุนัขอยากเดินไปยังบริเวณดังกล่าว และสุนัขอาจจะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ดีเท่าที่ควร จึงต้องพยายามดึงสายจูง เพื่อให้สามารถไปในที่ที่พวกเขาอยากไปได้

ดังนั้น การใช้อุปกรณ์ที่ทำให้สุนัขเกิดความไม่สบายตัวเมื่อดึงสายจูง ไม่ได้เป็นการแก้ไขพฤติกรรมการดึงสายจูงที่ต้นเหตุ (ซึ่งก็คือแรงจูงใจที่อยากจะไปยังบริเวณใดบริเวณหนึ่ง) แต่อย่างใด เป็นเพียงแค่การทำให้กระบวนการดึงสายจูงนั้น เกิดความไม่สบายตัวกับสุนัข ทำให้สุนัขไม่ชอบ สุนัขจึงลดพฤติกรรมดังกล่าวลงเท่านั้น แต่สาเหตุและแรงจูงใจของการดึงสายจูงยังคงไม่ได้รับการแก้ไข

การเลือกใช้อุปกรณ์ดังกล่าวในการฝึกสุนัข จึงไม่ถือเป็นการแก้ไขพฤติกรรม แต่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเพียงการกดพฤติกรรมที่เราไม่ต้องการไว้เท่านั้น แนวทางการบำบัดการดึงสายจูงอย่างยั่งยืน และสอดคล้องกับหลักวิชาการ ควรใช้วิธีการทางจิตวิทยาที่จะช่วยปรับเปลี่ยนแรงจูงใจของสุนัข ให้ปัญหาการดึงสายจูง ได้รับการแก้ไขที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง

สิ่งสำคัญเกี่ยวกับการเลือกใช้ปลอกคอและสายจูง จึงไม่ใช่แค่เรื่องของผลลัพธ์ ไม่ใช่แค่เรื่องของประสิทธิภาพ และความสามารถในการควบคุมสุนัขของอุปกรณ์แต่ละชนิดเท่านั้น แต่เราในฐานะเจ้าของ ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับผลกระทบที่สายจูงและปลอกคอที่เราเลือกใช้ มีต่อคุณภาพชีวิตและจิตใจของสุนัข

กล่าวคือ อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เราเลือกใช้ ควรจะไม่ส่งผลเสียต่อทั้งร่างกายและจิตใจของสัตว์ และควรจะช่วยส่งเสริมความปลอดภัย ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี ตลอดจนส่งเสริมสวัสดิภาพ ให้สุนัขของเราสามารถใช้ชีวิตในแต่ละวันได้อย่างมีความสุขที่สุด

บทความโดย

อ.ดร.น.สพ.ปรารมภ์ ศรีภวัศราคม

Prarom Sriphavatsarakom, DVM (Hons), MScStud, PhD

Faculty of Veterinary Science Mahidol University

  • Animal Behaviour Clinic, Pasu-arthorn Animal Hospital, Mahidol University

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – สุนัขดุร้าย เพราะสายพันธุ์ จริงหรือ ?