สุนัขดุร้าย เพราะสายพันธุ์ จริงหรือ ?

ปัญหา สุนัขดุร้าย และความก้าวร้าว ถือเป็นปัญหาที่สามารถพบได้บ่อย และเรามักจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับสุนัขกัด หรือทำร้ายผู้คนอยู่อย่างต่อเนื่อง วันนี้ เราจามาคุยกันถึงเรื่องปัจจัยความดุร้ายในสุนัข และไขข้อสงสัยเรื่องนี้ ไปพร้อมกันครับ

ในเนื้อหาข่าวส่วนใหญ่ที่นำเสนอผ่านสื่อต่าง ๆ เรามักจะพบการเสนอคำว่า สุนัขดุร้าย โดยพุ่งเป้าไปยังสายพันธุ์ที่สังคมมีความเข้าใจว่าเป็นสุนัขดุร้าย เช่น ร็อตไวเลอร์ หรือสุนัขในกลุ่มพิทบูล ซึ่งรวมถึง อเมริกันพิทบูลเทอร์เรีย อเมริกันสแตฟฟอร์ดเชียร์เทอร์เรีย และอเมริกันบูลลี่ เป็นต้น

ในความเป็นจริงแล้ว สายพันธุ์ของสุนัขเป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความก้าวร้าวได้ แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่สามารถกระตุ้นให้สุนัขดุร้าย และแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมา โดยแบ่งปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมก้าวร้าวของสุนัข ได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

1. ปัจจัยทางชีววิทยาของสุนัข ซึ่งรวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มาจากตัวของสุนัขเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพันธุกรรม สายพันธุ์ พื้นอารมณ์ (temperament) บุคลิกภาพ ระดับของสารเคมีในสมอง ตลอดจนการทำงานของฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกาย เป็นต้น

2. ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม โดยสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัวสัตว์ ณ ช่วงเวลาใด เวลาหนึ่ง จะส่งผลต่อการแสดงออกของพฤติกรรม เช่น ในสิ่งแวดล้อมมีสิ่งเร้าที่สุนัขไม่ชอบ หรือมีสิ่งที่สุนัขกลัว ก็มีโอกาสเหนี่ยวนำให้สุนัขแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมา แต่หากสุนัขอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ก่อให้เกิดความเครียด หรือไม่สร้างอารมณ์เชิงลบให้กับสุนัข ความก้าวร้าวก็จะไม่แสดงออกมาให้เราเห็น เป็นต้น

3. ปัจจัยเกี่ยวกับประสบการณ์ และการเรียนรู้ของสุนัข หากสุนัขเคยเรียนรู้มาก่อนหน้านี้ว่า การใช้ความก้าวร้าวจะทำให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ หรือทำให้รอดพ้นจากสิ่งที่ไม่ต้องการ สุนัขตัวนั้นก็มีแนวโน้มที่จะใช้พฤติกรรมความก้าวร้าวในอนาคต เมื่อเจอกับสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน เป็นต้น

จากปัจจัยต่าง ๆ เราจะเห็นได้ว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการแสดงออกของพฤติกรรมสุนัขมีความหลากหลาย และไม่ได้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์เพียงอย่างเดียว รวมถึงความดุร้ายและก้าวร้าวก็เช่นกัน

โดยพฤติกรรมก้าวร้าวเป็นพฤติกรรมที่มีความซับซ้อน และมีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การใช้สายพันธุ์ของสุนัขเพียงอย่างเดียวในการตัดสินพฤติกรรมของสุนัข จึงเป็นสิ่งที่อาจจะไม่เหมาะสม และมีแนวโน้มทำให้เกิดความผิดพลาดได้

หมาดุ, สุนัขดุ, สายพันธุ์ดุร้าย, สุนัขดุร้ายที่สุด, สุนัขดุร้าย

นอกจากนี้ ปัจจัยต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไปในข้างต้น ยังส่งผลถึงกันและกัน กล่าวคือ ปัจจัยแต่ละปัจจัยสามารถส่งผลถึงการแสดงออกของปัจจัยอื่น ๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น

ถ้าเรากำหนดระดับของความก้าวร้าวเป็นคะแนนสมมุติ มีคะแนนเต็ม 100 คะแนน โดยสุนัขตัวใดได้คะแนนมาก หมายถึง ก้าวร้าวดุร้ายมาก ถ้าเราประเมินสุนัขตัวหนึ่ง เป็นสายพันธุ์ที่มีแนวโน้มจะก้าวร้าว สุนัขตัวดังกล่าว อาจจะมีคะแนนความก้าวร้าวที่กำหนดโดยสายพันธุ์อยู่ที่ 70 คะแนน

แต่ถ้าสุนัขตัวดังกล่าว ถูกเลี้ยงดูมาในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม มีการตอบสนองความต้องการต่าง ๆ ของสุนัขได้อย่างครบถ้วน สุนัขมีความเครียดน้อย และอารมณ์เชิงลบเกิดขึ้นในระดับต่ำ หรือมีประสบการณ์ชีวิตที่ดีมาตลอด ไม่เคยต้องแสดงความก้าวร้าวเพื่อให้หลุดพ้นจากสิ่งที่ไม่ต้องการ มีการเรียนรู้สิ่งเร้าต่าง ๆ ในสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม ไม่เกิดความกลัวต่อสิ่งที่ไม่รู้จักง่าย ๆ ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะสามารถส่งผลไปถึงความก้าวร้าวที่กำหนดโดยสายพันธุ์ จากเดิมที่มีแนวโน้มจะก้าวร้าวอยู่ที่ 70 คะแนน ก็อาจจะลดลงมาอยู่ที่ 30 คะแนน เป็นต้น

ในทางกลับกัน สุนัขอีกตัว เป็นสุนัขสายพันธุ์ที่มีแนวโน้มความก้าวร้าวต่ำกว่า โดยอาจมีคะแนนความก้าวร้าวที่กำหนดโดยสายพันธุ์อยู่ที่ 50 คะแนน แต่หากสุนัขดังกล่าวถูกเลี้ยงดูในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ไม่มีการตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานให้กับสุนัขอย่างเพียงพอ สุนัขเกิดความเครียด มีอารมณ์เชิงลบเกิดขึ้นอยู่ตลอด หรืออาจจะมีประสบการณ์ที่เลวร้ายมาก่อน และเคยใช้ความก้าวร้าวเพื่อให้หลุดพ้นจากสิ่งที่ไม่ชอบมาก่อน

สุนัขตัวดังกล่าว แม้ว่าโดยสายพันธุ์จะมีแนวโน้มก้าวร้าวต่ำ แต่ก็อาจจะมีคะแนนความก้าวร้าวพุ่งขึ้นไปได้ถึง 50 คะแนน หรือเกินกว่านั้น ถ้าเราเปรียบเทียบกันระหว่างสุนัขสองตัวนี้ สุนัขที่เป็นสายพันธุ์ที่มีแนวโน้มจะก้าวร้าวสูง กลับมีแนวโน้มที่จะดุร้ายน้อยกว่าสุนัขอีกตัว ที่เป็นสายพันธุ์ที่ไม่ได้มีแนวโน้มจะก้าวร้าวก็ได้

หมาดุ, สุนัขดุ, สายพันธุ์ดุร้าย, สุนัขดุร้ายที่สุด, สุนัขดุร้าย

ดังนั้น ในการพิจารณาถึงแนวโน้มการแสดงออกของความก้าวร้าว และความดุของสุนัข จะต้องพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ร่วมกัน ไม่ใช่แค่กาพิจารณาจากสายพันธุ์ของสุนัขเพียงอย่างเดียว แล้วตัดสินว่าจะเป็นสุนัขดุร้าย หรือไม่ ปัจจัยของสายพันธุ์จะสามารถบอกเราได้เพียงขอบเขตของพฤติกรรมที่สุนัขแต่ละตัวจะสามารถแสดงออกมาได้ แต่ไม่ได้เป็นตัวกำหนดชัดเจนว่า สุนัขแต่ละตัวจะต้องเป็นอย่างไร หรือต้องแสดงพฤติกรรมออกมาอย่างไร

เพราะฉะนั้น หากถามว่า สายพันธุ์มีผลต่อความก้าวร้าวหรือไม่ คำตอบคือ มี แต่ไม่ได้ถือเป็นปัจจัยหลัก ปัจจัยเดียวที่จะกำหนดว่าสุนัขแต่ละตัวจะก้าวร้าวหรือไม่ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายที่จะส่งผลต่อการแสดงออกซึ่งของก้าวร้าวของสุนัขได้เช่นกัน

บทความโดย

อ.ดร.น.สพ.ปรารมภ์ ศรีภวัศราคม

Prarom Sriphavatsarakom, DVM (Hons), MScStud, PhD

Faculty of Veterinary Science Mahidol University

  • Animal Behaviour Clinic, Pasu-arthorn Animal Hospital, Mahidol University

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – ความผูกพันระหว่างสุนัขและเจ้าของ มีรูปแบบใดบ้าง