แมวเป็นสัตว์นักล่าตามสัญชาตญาณ บวกกับความอยากรู้อยากเห็น ที่ชอบออกไปสำรวจสิ่งต่าง ๆ นอกบ้าน เจ้าของบางท่านจึง เลี้ยงแมวระบบเปิด เพราะคิดว่า แมวอาจรู้สึกเบื่อเมื่ออยู่ในบ้านตลอดเวลา
การ เลี้ยงแมวระบบเปิด หรือการยอมให้แมวออกไปเที่ยวเตร่นอกบ้านได้อย่างอิสระ เป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่เจ้าของแมวต้องแบกรับ เพราะจากการสำรวจพฤติกรรมแมวที่เลี้ยงระบบเปิด พบว่า แมวส่วนใหญ่มีโอกาสได้รับบาดเจ็บจากสัตว์เลี้ยงของผู้อื่น หรือสัตว์จรจัด อุบัติเหตุบนท้องถนน และการสัมผัสเชื้อโรค
ในประเทศไทย เราจะพบว่า แมวจรได้อาศัยอยู่ในแทบทุกชุมชนของมนุษย์ ซึ่งประชากรแมวจรเหล่านี้มักไม่ได้รับวัคซีน และการเลี้ยงดูอย่างถูกสุขอนามัย จึงมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเป็นพาหะของโรคระบาดในแมว ซึ่งถ้าแมวของเราไปสัมผัสสารคัดหลั่งของแมวที่มีโรค ก็อาจทำให้แมวของเราติดเชื้อโรคเหล่านั้นได้
นอกจากนี้ พฤติกรรมนักล่าของแมว ซึ่งชอบล่าเหยื่อที่มีขนาดเล็กกว่า เช่น นก หนู กิ้งก่า และสัตว์อื่น ๆ ก็เป็นความเสี่ยงที่แมวมีโอกาสจะสัมผัสเชื้อโรคจากสัตว์เหล่านั้นเช่นกัน โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่มีประชากรนกพิราบอยู่เป็นจำนวนมาก โดยในมูลของนกพิราบมีเชื้อราก่อโรค ที่เป็นอันตรายต่อแมว หากแมวไปสัมผัสก็อาจส่งผลต่อสุขภาพขั้นรุนแรงได้
เชื้อราตัวร้ายจากมูลนกพิราบ
เชื้อราก่อโรคในแมวที่พบในมูลนกพิราบ คือเชื้อราชนิด Cryptococcus neoformans และ Cryptococcus bacillisporus เป็นชนิดของเชื้อราที่พบได้ทั้งในพืช และสัตว์ที่อาศัยอยู่ในเขตร้อนชื้น และเป็นเชื้อรากลุ่มที่ทนความร้อนได้ดี ทำให้เกิดโรคคริปโตคอกโคซิส (Cryptococcosis) เชื้อราเหล่านี้นอกจากจะก่อโรคในแมวแล้ว ยังทำให้เกิดโรคในคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องด้วย
ความถี่ในการพบแมวที่ป่วยจากเชื้อรา และการติดต่อของโรค
โรคคริปโตคอกโคซิส เป็นโรคที่พบได้บ่อยในแมว โดยเฉพาะแมวที่เลี้ยงระบบเปิด ในทุกช่วงอายุ โดยแมวที่มีโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือโรคเอดส์แมว (FIV) จะมีโอกาสติดเชื้อโรคชนิดนี้สูงขึ้น
การติดเชื้อราก่อโรคเหล่านี้ เกิดขึ้นเมื่อแมวได้สูดดมสปอร์ของเชื้อราที่อยู่ในมูลนก หรือสปอร์ของเชื้อราก่อโรคที่ติดค้างอยู่ตามสิ่งแวดล้อม จากนั้นเชื้อราจะผ่านเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ เป็นทางหลัก และภายหลังเข้าสู่ร่างกายของแมวแล้ว เชื้อจะแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง ผิวหนัง ตา และระบบประสาท ส่วนการติดเชื้อผ่านทางผิวหนังพบได้ค่อนข้างน้อย
เราจะสังเกตได้อย่างไรว่า แมวติดเชื้อราก่อโรคชนิดนี้
1. อาการทางผิวหนัง โดยจะพบการติดเชื้อที่บริเวณผิวหนัง ซึ่งจะแสดงอาการบวมแดงเป็นก้อน และมีแผลหลุม รวมถึงมีเลือดออกบริเวณแผลหลุม เจ้าของสามารถสังเกตตำแหน่งที่พบบ่อย ๆ คือ บริเวณดั้งจมูก ใบหู และตามลำตัว
2. อาการระบบทางเดินหายใจ โดยการติดเชื้อราก่อโรคเหล่านี้ สามารถติดเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ และทำให้แมวมีน้ำมูก บางครั้งมีเลือดปะปนอยู่ด้วย หรือมีสิ่งคัดหลั่งจากจมูก แมวจะจาม และอาจมีอาการตาอักเสบร่วมด้วย
3. อาการทางระบบประสาท เชื้อราก่อโรคเหล่านี้มักก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบประสาทของแมว ทำให้แมวมีอาการซึม เดินเซ ทรงตัวไม่ได้ และเกิดอาการชัก
การตรวจวินิจฉัย
การวินิจฉัยคือการเก็บตัวอย่างสิ่งคัดหลั่ง หรือการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อ หรือชิ้นเนื้อจากก้อนที่ผิวหนัง หรือจากแผลหลุม ด้วยเทคนิคการตรวจทางเซลล์วิทยา และพยาธิวิทยา ซึ่งเทคนินคเหล่านี้จะทำให้พบเซลล์ที่ติดเชื้อ และแสดงลักษณะผิดไปจากเซลล์ปกติ
นอกจากนี้ยังสามารถใช้เทคนิคการเพาะเชื้อรา การเจาะตรวจเลือดเพื่อตรวจทางซีรั่มวิทยา ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคคริปโตคอกโคซิสได้ รวมไปถึงการวินิจฉัยด้วยรังสีวินิจฉัย เช่น CT scan และ MRI ในรายที่พบก้อนเนื้อตามตำแหน่งต่าง ๆ ของร่างกาย และการวินิจฉัยด้วยวิธี PCR เพื่อตรวจหาเชื้อจากของเหลวในร่างกาย เช่น น้ำไขสันหลัง เลือด และเนื้อเยื่อ เป็นต้น
การรักษา
เมื่อสัตวแพทย์วินิจฉัยว่าแมวป่วยเป็นโรคคริปโตคอกโคซิส จะดำเนินการวางแผนการรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อรา เช่น Itraconazole และ Fluconazole เพื่อควบคุมการติดเชื้อในร่างกาย โดยเจ้าของจำเป็นต้องให้ยากับแมวเป็นเวลาต่อเนื่องมากกว่า 3 – 6 เดือนขึ้นไป ร่วมกับการใช้ยาทาภายนอกเพื่อฆ่าเชื้อราที่อยู่บริเวณผิวหนัง
ถึงแม้ว่าโรคนี้จะเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็เป็นหนึ่งในโรคที่ต้องรักษาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ร่วมกับการพบสัตวแพทย์เป็นระยะเพื่อติดตามการรักษา ซึ่งอาจใช้เวลาร่วมปีหรือมากกว่านั้น จนกว่าจะไม่พบเชื้อราในร่างกายของแมว
ดังนั้น การป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา โดยการป้องกันที่ดีที่สุดคือ การเลี้ยงแมวระบบปิด สร้างบรรยากาศภายในบ้านให้เอื้อต่อกิจกรรมของแมว มีอาหาร น้ำ กระบะทราย ที่ถูกสุขอนามัย และมีอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ที่ช่วยให้แมวได้แสดงออกตามสัญชาตญาณ การจัดการสิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยให้แมวของเราอาศัยอยู่ในบ้านได้อย่างมีความสุข และห่างไกลจากโรคติดต่อ
บทความโดย
สพ.ญ.ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์
สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลแมว PURRfect Cat Hospital
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – แมวไอไม่หยุด อาจป่วยเป็นโรคเหล่านี้