แมวไอ หรือแสดงอาการไออย่างต่อเนื่อง ย่อมแสดงถึงความผิดปกติบางอย่าง ที่เราไม่ควรมองข้าม
แมวไอ เกิดจากสาเหตุอะไร
แมวไอเป็นอาการตอบสนองของร่างกายแมวต่อสิ่งกระตุ้น เช่น ฝุ่น สิ่งแปลกปลอมขนาดเล็ก สิ่งคัดหลั่ง หรือการติดเชื้อ ที่เข้าสู่ทางเดินหายใจ และทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ
จากนั้น ร่างกายจะตอบสนองด้วยกลไกลการกำจัดสิ่งกระตุ้นออกจากร่างกายด้วยการแสดงอาการไอ โดยถ้าเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวอาจจะไม่น่ากังวล ในทางกลับกัน ถ้าอาการไอเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นสัญญาณเตือนของความผิดปกติในร่างกายที่ต้องจัดการ สาเหตุของอาการไอในแมวที่พบได้บ่อยทางคลินิกมีดังนี้
1. โรคหอบหืดในแมว (Feline asthma) เป็นโรคการอักเสบเรื้อรังของระบบทางเดินหายใจส่วนล่างในแมว มีรายงานพบอัตราการการเกิดโรคประมาณร้อยละ 1-5 ของประชากรแมวทั้งหมด พบได้ตั้งแต่แมวอายุน้อยจนถึงแมววัยกลาง ค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ช่วงประมาณอายุ 4-5ปี และอาจพบในแมวสูงอายุได้เช่นกัน
แมวส่วนใหญ่ที่เป็นโรคหอบหืด เนื่องจากได้รับสารก่อภูมิแพ้ในอากาศแบบซ้ำ ๆ และเกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันมากกว่าปกติ ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง และแมวจะแสดงอาการไอ ไอเรื้อรัง ในบางรายอาจจะมีอาการหายใจลำบาก และหอบเหนื่อยง่าย เป็นต้น
2. โรคพยาธิหนอนหัวใจในแมว
โรคพยาธิหนอนหัวใจเกิดจากการติดเชื้อพยาธิหนอนหัวใจ ชนิด Dirofilaria immitis ซึ่งมียุงเป็นพาหะ โดยการติดเชื้อในแมวมักพบพยาธิตัวเต็มวัยจำนวนไม่มาก โดยพบตัวเต็มวัยเพียง 1-2 ตัว แต่สามารถก่อความรุนแรงในแมวได้มา
อีกประการหนึ่งคือ พยาธิหนอนหัวใจตัวอ่อน (immature heartworm) จะมีการเคลื่อนที่ไปยังปอด ทำให้เกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน และการอักเสบรุนแรงของปอด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของอาการเสียชีวิตแบบเฉียบพลันในแมวได้
อาการของแมวที่มีการติดเชื้อโรคพยาธิหนอนหัวใจในแมวอาจจะมีความคล้ายกับโรคหอบหืดคือ มีอาการไอ ไอเรื้อรัง หอบ หายใจลำบาก การรักษาในปัจจุบันมักเป็นการให้ยาเพื่อลดอาการปอดอักเสบ การให้ยาขยายหลอดลม การใช้ยาพ่นลดการอักเสบ และการให้ออกซิเจน โรคพยาธิหนอนหัวใจในแมวสามารถป้องกันได้ด้วยการใช้ยาหยดป้องกันพยาธิหนอนหัวใจเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง
3. การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ หรือโรคหวัดแมว มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส ได้แก่ Feline Herpesvirus (FHV) , Feline Calicivirus (FCV) นอกจากนี้ยังมีเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย เช่น Bordetella bronchiseptica, Chlamydia spp., Mycoplasma spp. เป็นต้น
โดยแมวจะมีอาการแสดงออกดังนี้ ไอแห้งหรือไอแบบมีเสมหะ มีน้ำมูก ซึม เบื่ออาหาร มีแผลในช่องปาก และมีอาการตาอักเสบ การติดเชื้อเกิดได้ทั้งในระบบทางเดินหายใจส่วนต้นและระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง หากมีการติดเชื้อเข้าสู่ปอด อาการไออาจจะรุนแรงมากขึ้น ร่วมกับมีการหายใจหอบ หรือหายใจลำบาก
4. อาการไอเพื่อขย้อนก้อนขน
แมวจะแสดงอาการไอแห้ง ๆ และพยายามจะขย้อนก้อนขนออกมา ซึ่งเกิดจากแมวเลียขนตัวเองเข้าไปในระบบทางเดินอาหาร และจับตัวกันเป็นก้อน ซึ่งปกติอาจจะมีการขับก้อนขนออกทางอุจจาระ หรือมีการขย้อนออกบ้าง
อย่างไรก็ตาม ถ้าแมวไอขย้อนก้อนขนเกิดขึ้นถี่ มีแนวโน้มที่จะเกิดความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งจะต้องตรวจสอบดูว่า มีสาเหตุอื่น ๆ ซ่อนอยู่หรือไม่ เช่น แมวมีปัญหาโรคผิวหนังทำให้เลียตัวบ่อยขึ้น หรือมีความผิดปกติทางพฤติกรรม หรืออาจจะมีความผิดปกติของการบีบตัวในระบบทางเดินอาหารเรื้อรังเป็นต้น
อาการไอเป็นสัญญาณที่ไม่ควรมองข้ามซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุในแมว การรักษาอาการไอจะแตกต่างกันออกไปตามสาเหตุของโรคที่ตรวจพบ ดังนั้น หากเริ่มพบอาการไออย่างผิดปกติจึงแนะนำไปพบสัตวแพทย์ เพื่อปรึกษาและตรวจวินิจหาสาเหตุของอาการและวางแผนการรักษาและจัดการต่อไป
บทความโดย
สพ.ญ.ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์ สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลแมว PURRfect Cat Hospital
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – แมวเลียขนตัวเอง มากกว่าปกติ เกิดจากสาเหตุอะไร