แมวขนสีขาวตาสีฟ้ามักหูหนวกจริงไหม?

การได้ยินเป็นกลไกที่สำคัญต่อชีวิตสัตว์ในการรับรู้ถึงสิ่งแวดล้อมภายนอก เพื่อป้องกันอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแมว ซึ่งมีการพัฒนาของระบบประสาทในการรับเสียงของหูชั้นในเป็นอย่างดี หากรับรู้ได้ว่ามีอันตราย จะสามารถหลบหลีกสิ่งนั้นได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นประสาทสัมผัสในการรับเสียงจึงถือว่ามีความสำคัญอย่างมากในการดำรงชีวิตของแมว

ลูกแมวแรกเกิดจะยังไม่ได้ยินเสียงเลยในทันที แต่พัฒนาการของการได้ยินจะดีขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ 1 ถึง 2 สัปดาห์แรก ซึ่ง การได้ยินของแมว จะดีกว่าทั้งในมนุษย์และสุนัข โดยเฉพาะช่วงคลื่นเสียงสู แมวสามารถได้ยินเสียงของเหยื่อ บางครั้งจึงพบว่าแมวแสดงปฏิกิริยาบางอย่างก่อนล่วงหน้า เนื่องจากได้ยินเสียงที่มนุษย์ไม่ได้ยิน คลื่นเสียงสูงที่สุดที่มนุษย์ได้ยินคือ 20,000 รอบ/วินาที ในสุนัข 40,000 รอบ/วินาที ขณะที่ในแมวสูงถึง 100,000 รอบ/วินาที ดังนั้นแมวจึงสามารถได้ยินเสียงในช่วงคลื่นอุลตร้าโซนิก ใบหูของแมวสามารถเคลื่อนไหวได้ดีทั้งไปข้างหน้า ด้านข้างและด้านหลัง ทำหน้าที่เป็นเสมือนกรวยที่ช่วยให้เสียงผ่านเข้ามาได้ดีขึ้น

 

บ่อยครั้งจะได้ยินว่าแมวตาสีฟ้ามักตาบอดหรือหูหนวก

ในทางวิทยาศาสตร์การศึกษาทางพันธุกรรมในปัจจุบันมีข้อพิสูจน์ถึงความเชื่อมโยงกันระหว่าง แมวขนสีขาวและตาสีฟ้า พบว่ามีภาวะหูหนวกหรือสูญเสียการได้ยินมากกว่าแมวขนสีอื่นๆ โดยเมื่อพูดถึงภาวะสูญเสียการได้ยินในแมวสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

  • การสูญเสียการได้ยินชนิดการนำเสียงบกพร่อง (conductive hearing loss) โดยการสูญเสียการได้ยินชนิดการนำเสียงบกพร่อง จะมีพยาธิสภาพอยู่ที่บริเวณหูชั้นนอก แก้วหูและหูชั้นกลาง ซึ่งจะเกิดความบกพร่องในการสั่นสะเทือน เพื่อส่งสัญญาณไปยังหูชั้นใน สาเหตุอาจเกิดจากการอุดตันของรูหูจากขี้หูหรือสิ่งแปลกปลอม  เยื่อแก้วหูทะลุ  ติดเชื้อหรือมีน้ำหรือของเหลวขังในหูชั้นกลาง ร่วมกับผลข้างเคียงจากการทำความสะอาดหูโดยใช้ยาปฏิชีวนะบริเวณที่ติดเชื้อของหูชั้นนอกและหูชั้นใน
  • การสูญเสียการได้ยินที่ระดับประสาทส่วนกลาง (sensory หรือ neuronal hearing loss)  จะมีพยาธิสภาพอยู่ที่บริเวณหูชั้นในและเส้นประสาทหู โดยจะเกิดความผิดปกติในการนำสัญญาณเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลางเนื่องจากสูญเสีย hair cells โดยจะทำให้สูญเสียระบบการได้ยินตลอดทั้งเส้นทาง สาเหตุอาจเกิดจากการติดเชื้อ เช่น ไวรัส แบคทีเรีย การได้ยินเสียงดังอย่างฉับพลัน หรือได้ยินเสียงดังมากกว่า 90 เดซิเบลเป็นเวลานาน การได้รับยาที่เป็นพิษต่อหูชั้นใน เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาขับปัสสาวะ ยาแก้ปวดและลดไข้ ยารักษาโรคมะเร็งบางชนิด

ซึ่งการสูญเสียการได้ยินประเภทนี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ภาวะหูหนวกตั้งแต่กำเนิด (congenital deafness)  และภาวะหูหนวกภายหลัง (acquired deafness)

การได้ยินของแมว
ขอบคุณภาพจาก https://hl4195.wordpress.com – http://www.vetstreet.com

ในส่วนของการเกิดหูหนวกใน แมวขนสีขาวพบว่าเชื่อมโยงกับภาวะหูหนวกตั้งแต่กำเนิด (congenital deafness) และ มีความเกี่ยวข้องกับยีนที่ทำให้เกิดขนสีขาว (autosomal dominant white gene หรือ W gene) โดยเฉพาะแมวขนสีขาวที่มีตาสีฟ้า ที่กล่าวแบบนี้ เพราะพบว่าในแมวขนสีขาวที่มีตาสีอื่น เช่น สีเขียว สีเหลือง พบภาวะหูหนวกน้อยกว่า แมวขนสีขาวตาสีเหลือง 2 ข้าง พบภาวะหูหนวกน้อยกว่าแมวขนสีขาวที่มีตาสีฟ้าทั้ง 2 ข้าง และ แมวที่มีตา 2 สี หรือ ที่เรียกว่า odd eye จะพบตาข้างหนึ่งสีเหลืองและตาอีกข้างเป็นสีฟ้า หูข้างที่ตาสีฟ้าก็พบภาวะหูหนวกมากกว่าเช่นกัน จริงๆ แล้วเรื่องแมวขนสีขาวหูหนวกไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ Charles Darwin ได้เขียนไว้ในหนังสือ The variation of animals and plants under domestication ตั้งแต่ปี 1868 ว่า “แมวที่มีขนสีขาวและมีตาสีฟ้ามักจะเกิดภาวะหูหนวก” แต่ทั้งนี้ภาวะหูหนวกไม่ได้เกิดกับแมวที่มีขนสีขาวและตาสีฟ้าทุกตัว ในทางกลับกันภาวะหูหนวกก็สามารถเกิดขึ้นได้กับแมวขนสีอื่นๆ เช่นกัน

การศึกษาทางพันธุกรรมทำให้ทราบว่าสาเหตุของการเกิดหูหนวกในแมวขนสีขาว เกิดจากในระยะแรกของการพัฒนาตัวอ่อน melanoblast หรือ เซลล์ผลิตเม็ดสีจะเคลื่อนที่จากเซลล์ที่เจริญในระบบประสาท เรียก neural crest ไปยังบริเวณที่พัฒนาไปเป็น ผิวหนัง ตา และ หูชั้นใน ในแมวขนสีขาวเกิดจากการเจริญของ melanoblast ที่ผิดปกติไป ดังนั้นตำแหน่งที่ melanoblast มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยจึงพบความผิดปกติไปด้วย เช่น หูชั้นกลางที่มีส่วนสำคัญต่อการได้ยิน แต่อย่าพึ่งตกใจว่าแมวขนสีขาวจะหูหนวกทุกตัว เพราะการเกิดขนสีขาวยังเกิดได้จากยีนอื่นอีกที่ไม่ใช่ W gene เช่น tyrosinase gene (TYR gene) ที่ทำให้เกิดแต้มขนสีเข้มบริเวณส่วนปลายของร่างกายที่พบในแมวไทยสายพันธุ์วิเชียรมาศ หรือ white spotting gene พบทำให้แมวมีลักษณะขนสีขาวสลับดำ คล้ายลายขาวดำในวัว พบว่าทั้ง 2 ยีนนี้ทำให้แมวเกิดขนสีขาวทั้งตัวได้เช่นกัน แม้ว่าจะพบเป็นส่วนน้อยก็ตาม

ดังนั้นแมวขนสีขาวที่เกิดจาก 2 ยีนนี้ไม่พบความสัมพันธ์ของยีนที่เป็นสาเหตุของการเกิดหูหนวก เนื่องจากแมวแต่ละสายพันธุ์มีความหลากหลายของสีขนและสีตาโดยเฉพาะสายพันธุ์แท้ แมวที่มีขนสีขาวจาก W gene พบได้ในแมวหลายสายพันธุ์ เช่น White, European, Foreign White, White Cornish Rex, White Devon Rex, White Manx, White Persian, White Scottish Fold, White Turkish Angora, White American Wirehair, White American Shorthair, White British Shorthair, White Exotic Shorthair และ White Oriental Shorthair เนื่องจากลักษณะขนสีขาวถูกควบคุมด้วยยีนเด่น ลักษณะนี้จึงสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แมวที่มีขนสีขาวที่มีจีโนไทป์เป็น homozygous (WW) สามารถถ่ายทอดยีนนี้ไปสู่ลูก 100 % และ heterozygous (Ww) สามารถถ่ายทอดยีนนี้ไปสู่ลูก 50 % ดังนั้นคำถามที่ตามมาคือ ในเมื่อเรารู้ว่า W gene มีผลให้เกิดภาวะหูหนวกหรือสูญเสียการได้ยินในแมว ดังนั้นการผสมพันธุ์แมวที่มีขนสีขาวยังควรทำต่อไปหรือไม่ ข้อโต้แย้งนี้ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุป ทั้งนี้เนื่องจากเหตุผลที่ว่าแมวขนสีขาวไม่ได้หูหนวกทุกตัว แม้แต่ตัวที่มีขนสีขาวและตาสีฟ้า รวมทั้งแมวที่มีขนสีอื่นๆ ก็สามารถเกิดภาวะหูหนวกได้เช่นกัน

การได้ยินของแมว
ขอบคุณภาพจาก https://www.findcatnames.com

ดังนั้นในแง่ของผู้เลี้ยงสามารถช่วยเฝ้าระวังได้ เช่น กรณีสงสัยว่าแมวของเรามีปัญหาการได้ยินหรือไม่ สามารถตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของการได้ยินในระดับก้านสมองด้วยวิธี Brainstem Auditory Evoked Response (BAERs) ซึ่งสามารถวินิจฉัยแยกได้ว่าแมวมีภาวะสูญเสียการได้ยินชนิดการนำเสียงบกพร่อง (conductive hearing loss) หรือการสูญเสียการได้ยินที่ระดับประสาทส่วนกลาง (sensory หรือ neuronal hearing loss) เพื่อวางแผนในการจัดการและเฝ้าระวังปัญหาที่จะเกิดได้ในอนาคต ในแมวขนขาวบางตัวอาจพบการสูญเสียการได้ยินบางส่วน ไม่ถึงกับหูหนวก ดังนั้นสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ สังเกตได้จากแมวที่ได้ยินเสียงไม่ชัดมักชอบร้องเสียงดังกว่าแมวปกติ อาจเนื่องจากไม่ได้ยินเสียงตัวเองชัดพอ ในแมวที่หูหนวกเจ้าของสามารถเฝ้าระวังภาวะที่จะเสี่ยงอันตรายได้ล่วงหน้า แมวส่วนใหญ่เมื่อคุ้นเคยกับที่อยู่อาศัยสามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติ ในแง่ของการเป็นสัตว์เลี้ยงเจ้าของสามารถใช้การสื่อสารอื่นนอกจากเสียงเพื่อสื่อสารกับแมว เช่น การสื่อสารผ่านทางลักษณะท่าทางของร่างกาย เพราะแมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่สามารถเรียนรู้และปรับตัวได้ดี บ้านและสวน Pets 

 

บทความโดย

ผศ. สพ.ญ. ดร. จันทร์จิรา ภวภูตานนท์ (อว. สพ. เวชศาสตร์ระบบสืบพันธุ์)

Asst. Prof Dr. Janjira Phavaphutanon, DVM, MS, PhD, DTBT

ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

Department of Companion Animal Clinical Science, Faculty of Veterinary Medicine, Kasetsart University


 

โรคเอดส์แมว (Feline Immunodeficiency Virus; FIV)

ข้อดีและข้อเสียของการเลี้ยงแมวในบ้านหรือระบบปิด